6 ก.พ. 56 : ภายหลังจากที่ นาย ฌอง-มาร์ค เอโรต์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้แสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา และได้ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ล่าสุดเป็นผลให้มีคำพิพากษาจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลาถึง 11 ปี ว่า
“การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยควรมีการสร้างกฎหมายขึ้นมาควบคุม โดยที่ไม่ริดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ในบางประเทศ มีการใช้กฎหมายริดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางอินเตอร์เน็ต ส่วนกฎหมายหมิ่นนั้น เป็นกฎหมายที่มีอยู่ในบางประเทศ ซึ่งฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายนี้”
ซึ่งในโลกโซเซียลเน็ตเวิร์คความเห็นข้างต้นของนายกฯ ฝรั่งเศสเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบอย่างร้อนแรงจากทั้ง น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. และ อาจารย์ วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดย “รสนา” ได้โพสข้อความลงในเฟสบุ๊คของตนว่า นายกฯ ฝรั่งเศสไม่ควรให้ความความเห็นในเรื่องที่ตนเองไม่รู้รายละเอียด ถ้าสมมุตินายกฯ ไทยไปเยือนฝรั่งเศสแล้วให้สัมภาษณ์ว่า ฝรั่งเศสไม่ควรกีดกันเสรีภาพของสตรีมุสลิมในการคลุมฮิญาบ เพราะเป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเสรีภาพสากลมี 4 เรื่อง คือ เสรีภาพในการพูด (Freedom of speech) เสรีภาพในการนับถือศาสนา (Freedom of Worship) อิสรภาพจากความอดอยาก (Freedom from Hunger) และอิสรภาพจากความกลัว (Freedom from Fear)
เรื่องฮิญาบเป็นเรื่องที่สภาฝรั่งเศสมีมติออกมาเหมือนกัน แล้วใครไปก้าวก่ายได้ไหมว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ฝรั่งเศสกลัวเรื่องก่อการร้าย จนสามารถละเมิดสิทธิในการนับถือศาสนาได้
นายกรัฐมนตรีไทยย่อมไม่ไปให้สัมภาษณ์ในเรื่องที่เป็นกระบวนการทางกฎหมายของประเทศอื่นฉันใด นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ควรรักษามารยาททางการเมืองที่จะไม่วิจารณ์เรื่องของกฎหมาย และกระบวนการทางตุลาการของประเทศอื่นฉันนั้น
"หากจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมใดๆ ก็เป็นเรื่องของการแก้ไขในรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของเราเอง”
โดยในเวลาต่อมาไม่นาน “วันรัก” สุวรรณวัฒนา ได้ออกมาโพสข้อความในเฟชบุ๊คตนตอบโต้รสนาว่า เรื่องฮีญาบ รสนาพูดโดยไม่มีข้อเท็จจริงทั้งหมด รัฐฝรั่งเศสไม่ได้ห้ามสัญลักษณ์ทางศาสนาเฉพาะของมุสลิมอย่างเดียวนะ ห้ามสัญลักษณ์ทางศาสนาทั้งหมด และเฉพาะในสถานที่ราชการ คุณจะใส่อยู่บ้าน เข้าบริษัท ฯลฯ ได้ เพราะรัฐฝรั่งเศสเป็นรัฐฆราวาส เคารพเสรีภาพทางศาสนาของทุกคน แต่เมื่อเข้าพื้นที่ราชการ ให้ความสำคัญกับคุณค่ารีพลับบลิกว่าด้วยการไม่แสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาในสถานที่สาธารณรัฐมากกว่า เพราะอาจนำมาซึ่งการพริวิเลชศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้ (เหมือนของไทย ที่เคารพทุกศาสนาในทางหลักการ แต่ในทางปฏิบัติ มีเพียงพุทธเท่านั้นที่ได้สิทธิพิเศษจากรัฐ และเหตุผลข้อนี้เพราะคนเคยฆ่ากันในฝรั่งเศสด้วยเหตุผลทางศาสนามาหลายศตวรรษ)
“รสนาพูดข้อเท็จจริง ผิดๆและเพียงเสี้ยวเดียว พูดอย่างนี้อาจส่งผลปลุกปั่นคนมุสลิมนอกฝรั่งเศสให้เข้าใจผิดว่าฝรั่งเศสไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนาของคนในประเทศซึ่งไม่จริงได้เลย” วันรักระบุ
ทั้งนี้ในเฟสบุ๊คของทั้ง ส.ว.รสนา และอาจารย์วันรักมีพลเมืองเน็ตจำนวนมากเข้าไปอ่านความเห็นและกดไลค์ แต่ที่น่าสนใจคือ ในหน้าเฟสบุ๊คของส.ว. รสนามีผู้ต่อว่าการให้ความเห็นดังกล่าวว่า “ให้ส่งกระจกดูเงาตัวเองเสียก่อน” ซึ่งประเด็นนี้ดูจะสร้างความร้อนแรงให้กับโลกสังคมออนไลน์ได้อย่างมาก และนี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดถึงระดับเสรีภาพในสังคมไทยว่ามีเปิดพื้นที่เปิดรับความเห็นแตกต่างได้มากเพียงใดซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่การใช้เหตุผลและความอดกลั้นต่อความเห็นต่างจะถูกนำมาใช้มากเพียงใด