พุงยื่น! สัญญาณอันตรายของชายหนุ่ม Belly Off !

 

ขึ้นชื่อว่า ‘อ้วน’ ก็ไม่ได้ส่งผลลบเสมอไป ช่วงนี้หลายคนที่น้ำหนักเพิ่มเพราะไม่ออกกำลังกาย หาความชอบธรรมด้วยการหยิบตัวอย่างรูปร่างของ PSY เจ้าของเพลงและท่าเต้นกังนัมสไตล์ ที่กวาดรายได้เข้ากระเป๋ากว่า 10 ล้านเหรียญ และมากขึ้นเรื่อยๆ มาอ้าง

 

ความอ้วนไม่มีปัญหาแน่ครับ ถ้ารูปร่างของเรายังสมส่วนอยู่ แต่ถ้าเป็น ‘อ้วนแบบลงพุง’ ก็คงต้องกลับมาพิจารณาตัวเองบ้างว่าถึงขั้นฉุกเฉินหรือยัง เพราะยิ่งพุงยื่นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงตายเท่านั้น ตามคำแนะนำของแพทย์หญิงชนันภรณ์ วิพุธศิริ อายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึ่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ

 

กติกา ‘อ้วนแบบลงพุง’

 

คนที่อ้วนลงพุงนั้นเกิดจากการมีไขมันสะสมในช่องท้องปริมาณมากกว่าคนปกติ ยิ่งมีเส้นรอบเอวมากเท่าไหร่ ไขมันยิ่งสะสมในช่องท้องมากเท่านั้น และไขมันที่สะสมนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดเป็น ‘ภาวะโรคอ้วนลงพุง’ ต้นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ปวดตามข้อ ไขมันเกาะตับ

 

โดยรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตรในชาย และรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตรในหญิงเอเชีย บวกกับอีก 2 ใน 4 ข้อต่อไปนี้เป็นสัญญาณที่ต้องระวังอย่างจริงจัง และจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง ควรจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร เพิ่มการออกกำลังกายและลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 7 จากน้ำหนักตัวเดิม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต เพื่อตัวคุณทั้งนั้น !

 

สาเหตุของการเป็นโรคอ้วน แพทย์หญิงชนันภรณ์บอกว่าเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ โรคอ้วนที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือยีนบางชนิดที่ผิดปกติ หรือจากพฤติกรรมการกิน เช่น การกินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีกากอาหารต่ำ ฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม และพฤติกรรมการออกกำลังกายที่น้อยลง  ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุก็มาจากโรค เช่น ไทรอยด์ทำงานต่ำ การรับยาสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของสารสเตียรอยด์บ่อยๆ โรคที่ฮอร์โมนการเจริญเติบโตทำงานต่ำ และโดยทั่วไปจะพบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงจะอ้วนง่ายกว่าผู้ชาย และอายุที่อ้วนมากที่สุดจะอยู่ในระหว่างช่วง 45–49 ปี

 

 

 

 

พนักงานออฟฟิศต้องระวัง

 

ผู้ที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศเป็นเวลานานๆ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือใช้พลังงานมากก็ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานต่ำ อ้วนลงพุงได้ง่าย มีไขมันสะสมมากกว่าคนปกติ นอกจากนี้การชี้วัดความอ้วนจะดูที่ดัชนีมวลกาย มาตรฐานของคนเอเชียที่มีน้ำหนักเกินจะมีดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และมากกว่าหรือเท่ากับ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับโรคอ้วน ในปัจจุบันยังสามารถใช้วิธีเจาะเลือดตรวจไขมัน และใช้เครื่องมือทันสมัยอย่างเครื่อง Bioelectrical Impedance Analysis เข้ามาช่วย

 

และที่บอกว่าเสี่ยงอันตรายถึงตาย เป็นเพราะหากคนเรามีไขมันสะสมในช่องท้องมากนั้นจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ตับมีการสร้างน้ำตาลกลูโคสเพิ่มมากขึ้น เบต้าเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย และระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา นำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดผลึกไขมัน นำไปสู่การเกิดหลอดเลือดอุดตัน เสี่ยงต่อโรคอัมพฤกษ์อัมพาต

6 ก.พ. 56 เวลา 16:40 3,136 2
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...