ถูกไล่ออกจากงานเพราะเขียนอีเมล์ด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด

เหลือเชื่อ! พนักงานบัญชีในนิวซีแลนด์ถูกเจ้านายไล่ออกจากงาน เพราะเขียนอีเมล์ด้วยตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ระบุเป็นการไร้มารยาทต่อคนอ่าน แต่นักวิชาการชี้เป็นแค่ระเบียบปฏิบัติในยุคการพิมพ์ เชื่ออินเตอร์เน็ตทำให้การอ่านเขียนภาษาอังกฤษเปลี่ยนแปลงไป

สำนักข่าวบีบีซีรายงานเหตุการณ์สุดพิลึกพิลั่น เมื่อ "วิคกี้ วอล์คเกอร์" พนักงานบัญชีของหน่วยงานสนับสนุนด้านการดูแลรักษาสุขภาพในเมืองโอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ต้องถูกไล่ออกจากงาน เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าเธอเขียนอีเมล์ติดต่องานด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด

การไล่ออกด้วยเหตุผลสุดพิสดารดังกล่าวได้นำไปสู่เรื่องราวการฟ้องร้องต่อศาล โดยนายจ้างของพนักงานบัญชีสุดโชคร้ายรายนี้ ให้เหตุผลในการไล่เธอออกต่อศาลของนิวซีแลนด์ ว่า การเขียนอีเมล์ด้วยภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดเช่นนั้นก่อให้ความแตกแยกในการทำงาน นอกจากนี้นายจ้างยังเห็นว่าอีเมล์บางฉบับของวอล์คเกอร์ได้ยั่วยุเพื่อนร่วมงานให้เกิดโทสะ ด้วยข้อความที่ถูกเน้นย้ำผ่านการเพิ่มความหนาให้กับตัวอักษรหรือการเปลี่ยนตัวอักษรเป็นสีแดง

ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในโลกแห่งการอ่านเขียนภาษาอังกฤษ มักตระหนักกันได้ว่า การเขียนภาษาอังกฤษด้วยตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดติดกันเป็นพรืดนั้น ถือเป็นการทำให้ผู้อ่านรู้สึกขุ่นเคืองใจหรือถือเป็นการตะโกนใส่ผู้อ่านอย่างไร้ซึ่งมารยาทโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมการเขียนข้อความภาษาอังกฤษทั้งหมดด้วยตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่นั้นจึงกลายมาเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของผู้คนในสังคมได้?

พอล ลูน่า ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการติดต่อสื่อสารด้วยการพิมพ์และการเขียน มหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ แสดงความเห็นว่า จากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แล้ว ตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ถือเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นทางการ ความดีที่สุด หรือ ความยิ่งใหญ่ที่สุด ดังที่จักรพรรดิของอาณาจักรโรมันได้เขียนเอกสารทางการปกครองด้วยตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตัวอักษรตัวพิมพ์เล็กในภาษาละตินซึ่งได้รับการพัฒนามาเป็นภาษาอังกฤษในยุคปัจจุบัน กลับถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเขียนหนังสือได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น หากเปรียบเทียบกับการเขียนหนังสือด้วยตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่

ลูน่าอธิบายต่อว่า เมื่อตัวอักษรตัวพิมพ์เล็กมีบทบาทในโลกแห่งการอ่านเขียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ก็ถูกจำกัดบทบาทให้มีหน้าที่เพียงแค่การเป็นตัวอักษรสำหรับเริ่มต้นประโยคใหม่หรือเป็นตัวเริ่มต้นย่อหน้าสำคัญในหนังสือ และบางครั้งตัวพิมพ์ใหญ่ก็ถูกใช้เพื่อเน้นย้ำข้อความสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพิมพ์ก็ไม่ได้รู้สึกชื่นชอบที่จะใช้ตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ที่ทึบหนาและวางตัวเบียดเสียดกันหนาแน่นบนหน้ากระดาษสักเท่าใดนัก เพราะพวกเขามีความเห็นว่า ตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหลายจะทำให้หน้ากระดาษแลดูเป็นสีเทาหม่นไปเสียหมด

"ด้วยเหตุนี้ ในโลกแห่งการพิมพ์ เวลาเราต้องการเน้นย้ำข้อความใด เราจึงหันไปเพิ่มความหนาให้กับตัวอักษรหรือทำให้ตัวอักษรเอนเอียงแทน ส่วนตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ก็มักถูกนำไปใช้สำหรับการเขียนถึงคำนามที่มีความเหมาะสมหรือการเริ่มต้นประโยคใหม่เพียงเท่านั้น ทว่าการมาถึงของอินเตอร์เน็ตกลับทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการติดต่อสื่อสารด้วยการพิมพ์และการเขียน กล่าว

สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนาไปมากในยุคปัจจุบัน การเน้นย้ำข้อความสำคัญด้วยการเพิ่มความหนาหรือการใส่ความเอนให้กับตัวอักษรที่ปรากฏตามหน้าหนังสือ ก็สามารถทำให้ผู้อ่านสังเกตเห็นถึงข้อความสำคัญดังกล่าวได้อย่างน่าพอใจ แต่สำหรับจอภาพของคอมพิวเตอร์ที่ยังไม่มีคุณภาพสูงกันโดยถ้วนหน้า ผู้คนอาจต้องหันมาใช้ตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่เพื่อเน้นย้ำข้อความสำคัญที่ตนต้องการสื่อไปถึงบรรดาผู้อ่านแทน ลักษณะการเขียนเช่นนี้จึงถือเป็นการแหกกฎการอ่านเขียนภาษาอังกฤษแบบเดิมที่ถูกสถาปนาขึ้นมาในยุคแห่งการพิมพ์อย่างมีนัยยะสำคัญ

สอดคล้องกับความเห็นของมาร์ติน แมนเซอร์ นักเขียนที่สนใจศึกษาความแตกต่างระหว่างการเขียนในโลกของสื่อสิ่งพิมพ์กับโลกของสื่ออินเตอร์เน็ต และเจ้าของผลงานหนังสือชื่อ "เดอะ กู๊ด เวิร์ด ไกด์" ที่ชี้ว่า การเขียนอีเมล์นั้นไม่ได้มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แน่นอนตายตัวเป็นการเฉพาะ แต่ทุกอย่างจะเต็มไปด้วยความลื่นไหล ผิดกับการเขียนจดหมายด้วยการเขียนหรือการพิมพ์ในยุคก่อน ซึ่งจะมีระเบียบปฏิบัติอันแน่นอนที่คอยบ่งชี้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูกคอยกำกับควบคุมอยู่

ในโลกแห่งการสื่อสารออนไลน์อันรวดเร็ว ผู้เขียนอีเมล์ที่เกียจคร้านเป็นจำนวนมากจึงมักตัดสินใจพิมพ์ข้อความเป็นตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด เพราะเห็นว่าการทำเช่นนั้นเป็นวิธีการที่ง่ายดายและรวดเร็วที่สุดยิ่งกว่าวิธีการเน้นย้ำข้อความสำคัญในรูปแบบอื่น ๆ  ขณะที่ผู้อ่านอีเมล์จำนวนมากกลับรู้สึกว่าพวกเขาเหมือนกำลังถูกตะโกนใส่หน้าอย่างหยาบคาย ยามต้องนั่งอ่านจดหมายที่มีตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่เบียดเสียดกันเต็มพรืดหน้าจอคอมพิวเตอร์หลายคนมีความเห็นว่า การพิมพ์อีเมล์ด้วยตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดจะทำให้ผู้อ่านประสบกับปัญหาในการมองเห็น เนื่องจากความเชื่อที่ว่า คนเราจะอ่านงานเขียนต่าง ๆ โดยการสังเกตถึงรูปร่างของตัวอักษรที่มีลักษณะแตกต่างกัน และตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็กในแต่ละตัวก็จะมีรูปลักษณ์ที่ผิดแผกจากกันไปมากกว่าในกรณีของตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่

อย่างไรก็ตาม พอล ลูน่า ได้โต้แย้งสมมุติฐานดังกล่าวด้วยรายงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ค้นพบว่า ตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็กไม่ได้มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันมากขนาดนั้น นอกจากนี้ตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ยังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเหล่านักเขียนในยุคร่วมสมัยเสียด้วยซ้ำไป

แม้คดีความการไล่ "วิคกี้ วอล์คเกอร์" ออกจากงาน เพราะเธอเขียนอีเมล์ด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด จะยังอยู่ในการพิจารณาของศาลนิวซีแลนด์ และยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน แต่คดีความดังกล่าวก็คงท้าทายจุดยืนของศาลสถิตย์ยุติธรรมอยู่มิใช่น้อย ว่าสุดท้ายแล้ว คำพิพากษาหรือการวินิจฉัยของศาลจะอิงอยู่กับระเบียบปฏิบัติของการอ่านเขียนแบบเดิมที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาในยุคสมัยแห่งการพิมพ์ หรือจะสนองตอบต่อพลวัตความเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากรูปแบบการสื่อสารของโลกออนไลน์ในยุคสมัยแห่งอินเตอร์เน็ต

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...