เผยดัชนีกองทัพโปร่งใส กลุ่มอาเซียนคะแนนร่อแร่

ศึกสงครามเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่ดำรงสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลฉันใด อุตสาหกรรมอาวุธในรูปแบบต่างๆ ก็อยู่คู่มนุษยชาติมาตลอดฉันนั้น 



ในปัจจุบัน ธุรกิจอาวุธทั่วโลกสร้างเม็ดเงินมหาศาล ทั้งการผลิตและค้าขายข้ามชาติ ตั้งแต่อาวุธปืนเล็กยาวไปจนถึงเครื่องบินรบ รถถัง ขีปนาวุธ ฯลฯ 



เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ดัชนีความโปร่งใสในอุตสาหกรรมอาวุธ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้รัฐบาลต่างๆ กว่า 82 ชาติ โดยมี เกรด ต่างระดับกันไป คือ A B C D E และ F โดยประเทศที่มีระบบควบคุมการคอร์รัปชั่นที่ดี จะได้อันดับ A ส่วนประเทศที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ จะถูกตราหน้าด้วยอันดับ F 



ปรากฏว่า มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ได้อันดับ A หรือ ดีเยี่ยม ได้แก่ เยอรมนี และออสเตรเลีย ขณะที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียก็ได้อันดับรองลงมาเล็กน้อย สำหรับกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ และยุโรปตะวันออกนั้น ได้อันดับดีปานกลาง ซึ่งองค์กรความโปร่งใสสากลระบุในรายงานว่า ประเทศเหล่านี้มีกลไกราชการในการควบคุมธุรกิจอาวุธ และกระทรวงกลาโหมอย่างเข้มงวด การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ยาก 



ขณะเดียวกัน ข้อมูลระบุว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มประเทศที่ทางองค์กรสำรวจไว้นั้น ไม่ผ่านเกณฑ์ความโปร่งใสที่ตั้งไว้ นับว่าเป็นข้อมูลที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะรวมถึงกองทัพของชาติมหาอำนาจอย่าง จีน รัสเซีย และอินเดีย ไว้ด้วย



สำหรับประเทศจีน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากชี้ว่า ขาดความโปร่งใสเพราะจีนไม่มีระบบคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของทางการที่รายงานการคอร์รัปชั่น ทำให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องมักปกปิดพฤติกรรมคอร์รัปชั่นด้วยความกลัว ขณะที่กองทัพและหน่วยงานความมั่นคงมีความสำคัญอย่างมากในระบอบคอมมิว นิสต์ของจีน ผู้นำกองทัพมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล และบางคนอาจจะมีอำนาจมากกว่าบรรดาหน่วยงานฝ่ายบริหารเสียอีก



องค์กรความโปร่งใสสากล ระบุว่ากองทัพจีนมีประวัติเคยทำธุรกิจจำนวนมากกว่า 20,000 กรณีในอดีตด้วย เปรียบเสมือนว่าเป็น "จักรวรรดิทางการเงิน" ของกองทัพจีนโดยที่ไม่มีการควบคุมดูแลจากทางการจีน อย่างไรก็ตาม ทางการจีนก็ปฏิรูปกองทัพจีน เพื่อขจัดปัญหาตรงนี้ โดยเฉพาะในสมัยประธานาธิบดีของ เจียง เจ๋อหมิน แต่ก็ยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นและไร้การตรวจสอบตกทอดมาถึงปัจจุบัน



นอกจากนี้ ในบรรดาชาติที่สำรวจทั้งหมด มีเพียงร้อยละ 15 ที่รัฐบาลมีอำนาจทางการเมืองตรวจสอบกองทัพของตัวเองได้ ในขณะที่อีกร้อยละ 45 รัฐบาลมีอำนาจน้อยมาก หรือไม่มีอำนาจใดๆ เหนือกองทัพในประเทศเลย 



รายงานระบุว่า ประเทศที่สอบตก ได้คะแนน F มีอยู่ 9 ชาติด้วยกัน คือ แอลจีเรีย แองโกลา แคเมอรูน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอริเทีย ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไม่มีการควบคุมตรวจสอบกองทัพใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้มีการคอร์รัปชั่น อย่างแพร่หลาย 



น่าสังเกตว่า ลิเบีย และอียิปต์ ยังติดอันดับที่โหล่ในดัชนีนี้ ถึงแม้ประเทศทั้งสองจะผ่านการปฏิวัติ "อาหรับสปริง" ซึ่งหลายคนเคยคาดหวังไว้ว่า จะสร้างสถาบันการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น



สำหรับกลุ่มชาติอาเซียน ข้อมูลไม่สมบูรณ์มากนัก เพราะกัมพูชา พม่า เวียดนาม และลาว ไม่รวมอยู่ในการสำรวจของดัชนีดังกล่าว 



แต่สำหรับประเทศที่ได้รับการสำรวจก็ได้ผลไม่สู้ดีนัก ไทยและมาเลเซียได้อันดับ D อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้อันดับ E ซึ่งนับว่าน่ากังวลอย่างยิ่ง แสดงถึงความจำเป็น ของชาติเหล่านี้ที่จะต้องมีการปฏิรูปกองทัพให้มากขึ้นเพื่อลดการคอร์รัปชั่นและลักษณะไม่โปร่งใสต่างๆ 



เพราะประชาธิปไตยในสังคมหนึ่งๆ คงจะเกิดยาก หากอำนาจอธิปไตยของประชาชน ไม่สามารถควบคุมดูแลกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...