วันนี้ 4 ก.พ. นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก และสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล ได้กำหนดให้วันที่ 4 ก.พ.ของทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก สำหรับในปี 2556 จะเป็นการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Cancer - Did you know?” หรือ “คุณรู้จักมะเร็งดีแค่ไหน?” เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก
นพ.สมชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ 11 ภาคีดำเนินการศึกษาวิจัยเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือในประเทศไทยที่มีผลต่อการต้านมะเร็ง โดยผลการศึกษา พบว่าเห็ดหลินจือมีสารสำคัญเป็นสารกลุ่มโพลีแซ็กคาไรด์ มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยให้จิตสงบ เป็นยาระบายอ่อน ๆ และสารกลุ่มไทรเทอร์ปีน เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งพบมากในส่วนสปอร์ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดดอกเห็ดและสปอร์มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง
“สำหรับการศึกษาฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสารสกัดเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือในหลอดทดลองทำให้เซลล์มะเร็งตายได้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการวิจัยทางคลินิกถึงประสิทธิผลของเห็ดหลินจือ และสปอร์เห็ดหลินจือในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คาดว่าผลการวิจัยจะเสร็จสิ้น เร็ว ๆ นี้”นพ.สมชัย กล่าวและว่า นอกจากนี้มีรายงานการวิจัยในประเทศจีนพบว่า การศึกษาทางคลินิกของเห็ดหลินจือมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และผู้ป่วยมะเร็งขั้นลุกลาม มีความเป็นพิษต่ำมาก และมีความปลอดภัยในการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
นพ.สมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการใช้เห็ดหลินจือกับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย เน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพเป็นหลัก เช่น การใช้เห็ดหลินจือต้มดื่มแทนน้ำ ประชาชนสามารถทำได้เองดังนี้ วิธีต้มง่าย ๆ โดยใช้ดอกเห็ดหลินจือฝานบาง ๆประมาณ 2-3 ชิ้น ต้มในน้ำเดือดนาน 10-15 นาที ใช้ดื่มแทนน้ำได้ตลอดเวลา มีรสขมบ้างเล็กน้อย สรรพคุณช่วยให้สดชื่น เสริมภูมิต้านทาน ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือที่ผลิตภายในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงระบบขายตรง ดังนั้นในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือ ผู้บริโภคควรมีหลักการในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งการผลิตและการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน เช่น มีฉลากกำกับและบอกถึงส่วนประกอบและปริมาณของผลิตภัณฑ์ รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุสามารถกันความชื้นได้ดี ผ่านการรับรองและการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.).