อ้างผู้ชายข้ามเพศยังแต่งได้ แต่ทำไมผู้หยิงข้ามเพศถึงทำไม่ได้
หนังสือพิมพ์กำแพงแดง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ปีที่ 18 ฉบับที่ 28 ประจำเดือนมกราคม 2556 ได้มีการรายงานข่าว นักศึกษาทอมสวนสุนันทา ได้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ หลังถูกอาจารย์ผู้สอนสั่งห้ามสวมกางเกงมาเรียน ว่าหญิงแต่งชายไม่เหมาะสม แต่หนุนนักศึกษากะเทยแต่งข้ามเพศชูสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า
เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ประชาคมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ถกเถียงกันเรื่องการแต่งกายข้ามเพศ โดยก่อนหน้านี้มีบางคณะวิชา ยอมให้นักศึกษา ‘กะเทย’ ซึ่งมีจิตใจและกิริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน สวมชุดนักศึกษาหญิงเข้าชั้นเรียนได้
ต่อมามีนักศึกษาหญิง ‘ทอมบอย’ (tomboy) ซึ่งมีนิสัยคล้ายผู้ชาย บางคนสวมชุดนักศึกษาชายมาเรียนบ้าง แต่กลับถูกอาจารย์สั่งห้ามเข้าชั้นเรียน อ้างว่าผิดระเบียบ ไม่เหมาะสม
ซึ่งผู้สื่อข่าว ‘กำแพงแดง’ ได้รับการบอกเล่าจากนักศึกษาทอมบอยว่าการสวมกระโปรงมาเรียนหนังสือเป็นความทุกข์ และยังเป็นความขัดแย้งที่อาจารย์เลือกปฏิบัติ ขัดต่อจิตใจ ขัดรัฐธรรมนูญ และสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ
นางสาวจินดา พิกุลแก้ว นักศึกษาทอมชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการอุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เปิดเผย ‘กำแพงแดง’ ว่า ไม่ชอบสวมกระโปรง เพราะรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง คาบเรียนใดที่อาจารย์ผู้สอนบังคับ ก็สวม เรียนเสร็จแล้วจึงกลับมาสวมกางเกงเหมือนเดิม “เห็นผู้ชายใส่กระโปรงได้ ก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม แต่เราก็เข้าใจว่าสังคมตอนนี้ ผู้ชายได้เปรียบกว่าผู้หญิง”
เช่นเดียวกับนางสาวกนกวรรณ วงศาโรจน์ นักศึกษาทอมชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ ที่รู้สึกไม่มั่นใจเวลาสวมกระโปรง เมื่ออาจารย์บางคนเคร่งครัด ต้องสวมกระโปรงเข้าเรียน
ทำให้รู้สึกว่าทำไมผู้หญิงกับผู้ชายทำได้ไม่เหมือนกัน “ตุ๊ดใส่ได้ ทำไมทอมใส่ไม่ได้ เคยถูกเชิญออกจากห้องเรียน เพราะใส่กางเกงมา บางทีก็มากไป ถึงเราจะใส่กางเกงมาเรียน แต่ก็ถูกระเบียบเหมือนผู้ชายแต่ง”
แต่ก็มีนักศึกษาทอมที่ ‘กำแพงแดง’ สอบถามไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ เพราะเกรงถูกตัดคะแนนจิตพิสัย ส่วนนักศึกษากะเทยตอบว่าแต่งกายเป็นหญิงมาเรียนเพราะเห็นว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ขณะที่ก็พบอาจารย์หญิงสวมกางเกงเหมือนอยู่กับบ้านหรือไปเที่ยว ที่ไม่ใช่ชุดสูทมาสอนหนังสือ
นายฐากูร ศรีโสภณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแต่งกายเป็นนักศึกษาหญิงมาเรียนทุกวัน เปิดเผย ‘กำแพงแดง’ ว่าตัวเองมีวุฒิภาวะและไม่ได้แต่งกายผิดระเบียบ
แต่มีบางรายวิชาที่อาจารย์ผู้สอนเคร่งครัดให้แต่งกายเป็นชายก็จะแก้ปัญหา ด้วยการนำกางเกงมาเปลี่ยน ส่วนนักศึกษาทอมจะแต่งกายข้ามเพศเช่นเดียวกับพวกตนก็สนับสนุน เพราะเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน
“เราไม่ได้แต่งแล้วไปเหยียบหลังคาบ้านใคร เราอยู่ในวุฒิภาวะที่โตแล้ว เราเข้าใจในกฎระเบียบ แต่เราได้ครี่งหนึ่ง ให้เขาครึ่งหนึ่ง คือเราแต่งชุดนักศึกษาหญิง ก็อยู่ในระเบียบ ไม่ได้แต่งโป๊ให้เสียชุดของเพศหญิง”
ด้าน ดร. นันทิดา โอฐกรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะวิทยาการจัดการ กล่าวกับ ‘กำแพงแดง’ ว่า เหตุที่ตนห้าม ‘ทอม’ สวมกางเกง เพราะนักศึกษาหญิงสวมกางเกงยังดูเป็นผู้หญิงอยู่ ไม่ได้เป็นผู้ชาย
แต่ ‘กะเทย’ ชัดเจนด้วยหน้าตาและทรงผม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัว “เป็นผู้ชายมาแต่งหญิง ถ้าเขาแต่งตัวถูกระเบียบ ไม่ทำร้ายคนอื่น แล้วเขามีความสุขกับการเรียน เราก็อนุญาตให้
แต่ถ้าทอมมาบอกว่าใส่กระโปรงแล้วไม่มีความสุขกับการเรียนก็ต้องเข้ามาคุยกันก่อน เราไม่อยากแบ่งว่าใครเป็นทอม เป็นตุ๊ด คือทุกคนเป็นนักศึกษาเท่าเทียมกันหมด แต่อาจารย์คิดว่าผู้บริหารคงหาทางออกที่ดีที่สุดแล้ว”
ทั้งนี้รายงานยังได้ระบุต่ออีกว่า กองพัฒนานักศึกษาเคยอนุโลมให้นักศึกษาชายที่มีใจเป็นหญิง สามารถแต่งเครื่องแบบนักศึกษาหญิงได้ เนื่องจากมีนักศึกษาทำเรื่องขออนุญาต แต่ในกรณีของนักศึกษาหญิงที่แต่งตัวเป็นชาย ไม่เคยมีการทำหนังสือไปขออนุญาต ส่วนการเรียนแต่ละคาบ ถือเป็นดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอน
ขณะที่แหล่งข่าวอาจารย์อาวุโสคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผย ‘กำแพงแดง’ ว่า คณะฯ จะให้แต่งกายตามเพศเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่วนนักศึกษาปี 2 ขึ้นไป หากแต่งกายตามใจตนเอง ต้องแต่งให้ถูกระเบียบและเรียบร้อย ทั้งหน้าตาและทรงผม
ส่วนใหญ่อาจารย์ผู้สอนภายในตึกไม่ได้เข้มงวดเรื่องการแต่งกายข้ามเพศ แต่มีการดูแลควบคุมไม่ให้เกินความพอดี ซึ่งนางสาวชญาภา แจ่มใส ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา เปิดเผย ‘กำแพงแดง’ ว่า ถ้าแต่งกายข้ามเพศแล้วเรียบร้อย ก็ไม่ถือว่าผิดระเบียบ ยกเว้นงานพิธีการ
ต้องแต่งตรงตามเพศ ส่วนการเรียน ขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนแต่ละท่าน “ตามระเบียบนักศึกษาให้แต่งตัวตามเพศ แต่ในข้อกำหนดของสิทธิมนุษยชน เราจะไปบังคับจิตเขาไม่ได้เพราะเขาเรียนและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่มีพิษมีภัย ก็แล้วแต่มุมมองมากกว่า”
จากการสืบค้นข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายนักศึกษา การใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยาฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2550 ไม่พบข้อห้าม และไม่ได้กำหนดการแต่งกายของนักศึกษาข้ามเพศไว้แต่ประการใด
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก sunandhanews และ เรื่องเล่าเช้านี้