โพลชี้ ต่างชาติพอใจเมื่อได้สัมผัสไทยมากถึงมากที่สุด การเมือง"สอบผ่าน"

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เจาะลึกประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 969 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 – 30 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา
 

 

เมื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาประเทศไทย ห้าอันดับแรกพบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 56.2 กลุ่มตัวอย่างระบุเดินทางเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว อันดับสองหรือร้อยละ 32.3 ระบุเดินทางเข้ามาเพื่อการทำธุรกิจ อันดับสามหรือร้อยละ 21.7 ระบุเดินทางเข้ามาลงทุน อันดับสี่หรือร้อยละ 17.2 ระบุมาเข้าร่วมการประชุมหรือนัดหมาย และอันดับห้าหรือร้อยละ 13.9 ระบุเดินทางมาเยี่ยมเพื่อนหรือญาติ ตามลำดับ
 

 

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างชาวต่างชาติถึงความพึงพอใจในด้านต่างๆ หลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย พบว่า ห้าอันดับแรกที่กลุ่มตัวอย่างพึงพอใจ ได้แก่ อันดับแรก กลุ่มตัวอย่างระบุพอใจความมีน้ำใจ ความเป็นมิตร ช่วยเหลือเกื้อกูลของคนไทย มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 7.11 คะแนน รองๆ ลงมา ได้แก่ วัฒนธรรมไทย 6.99 คะแนน สถานที่ท่องเที่ยว 6.89 คะแนน สิ่งแวดล้อม 6.76 คะแนน และการเข้าถึงแรงงาน 6.47 คะแนน ตามลำดับ สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ เมื่อสอบถามถึงประเด็นทางการเมืองพบว่ามีคะแนนอยู่เป็นสองอันดับท้าย ได้แก่ ความโปร่งใส 5.92 และสถานการณ์ทางการเมืองในภาพรวม 5.77 คะแนน
 

 

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า กลุ่มตัวอย่างชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.3 พอใจมากถึงมากที่สุด ในขณะที่เพียงร้อยละ 1.6 พอใจระดับปานกลาง และเพียงร้อยละ 3.1 พอใจน้อยถึงไม่พอใจเลย
เมื่อสอบถามต่อว่าจะเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกในอนาคตหรือไม่ พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 97.1 ระบุจะเดินทางกลับมาประเทศไทยอีก นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 96.7 ระบุจะแนะนำคนอื่นในประเทศของตนเองให้เดินทางมาประเทศไทยอีกด้วย
 

 

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยและแนวทางต่อการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมือง พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าหนึ่งในสามหรือร้อยละ 37.4 ระบุควรยึดมั่นและเคารพในหลักประชาธิปไตย รองลงมา ได้แก่ ร้อยละ 28.6 ระบุการสร้างความปรองดองและสามัคคีกันจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาการเมืองไทยได้ ร้อยละ 17.6 ระบุสร้างความโปร่งใสและลดการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 8.8 ระบุเปลี่ยนรัฐบาล และร้อยละ 7.6 ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามลำดับ
 

 

 ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีว่าชาวต่างชาติพอใจต่อประเทศไทยหลังจากได้มาสัมผัสเมืองไทยในระดับมากถึงมากที่สุดเกือบร้อยละร้อย โดยพอใจต่อความมีน้ำใจ ความเป็นมิตร ความช่วยเหลือเกื้อกูลของคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่ชาวต่างชาติได้เดินทางมาพบเห็นด้วยตัวของพวกเขาเอง จึงเป็นเอกลักษณ์ที่ดีที่คนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันรักษาไว้

 

 

อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยเห็นว่ายังไม่เพียงพอที่จะประกันความพึงพอใจเอาไว้ให้นานได้เพราะคนไทยส่วนใหญ่รู้ดีว่า สังคมไทยยังไม่มีระบบ (System) ที่ดีเพียงพอ มีปัญหาแอบซ่อนไว้จำนวนมากทั้งในเรื่อง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การสื่อสารภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน กับชาวต่างชาติยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และความไม่ใส่ใจต่อการเข้าขอความช่วยเหลือ ดังนั้นคำว่า “ระบบ” ที่ดีต้องเริ่มจากการแต่งตั้งคนดีและเก่งเข้าทำงาน และการมีระบบประเมินผลการทำงานที่ได้มาตรฐานสากลไม่ใช่ใช้พรรคพวกเส้นสายเข้าไปทำงานและประเมินกันเองภายใน
 

 

 

“นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ชาวต่างชาติให้ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยเป็นอันดับแรกที่ให้คนไทยยึดมั่นไว้ในการปกครองเพราะเป็นระบบที่ทำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐถูกตรวจสอบได้โดยประชาชนมากกว่าการปกครองแบบอื่น และผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีสัญญาณที่ดีอีกประการหนึ่งคือ ชาวต่างชาติมองว่า สถานการณ์การเมืองของประเทศอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจและถือว่า “สอบผ่าน” จากที่เคย “สอบตก” ในการสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมาทั้งจากประชาชนคนไทยเองและชาวต่างชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ในห้วงเวลาปัจจุบันนี้ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างมองเห็นตรงกันว่า การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ จึงขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองช่วยกันรักษาไว้ เนื่องจาก การเมืองเป็นเรื่อง “จำเป็น”ในระบอบประชาธิปไตยและการเมืองต้องทำหน้าที่ลดปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนไม่ใช่เป็นตัวสร้างปัญหาความขัดแย้งขึ้นเสียเอง” ดร.นพดล กล่าว
 

 

 

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.1 เป็นชาย ร้อยละ 46.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 19.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 57.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 41.2 ระบุเป็นชาวเอเชีย ร้อยละ32.2 ระบุเป็นชาวยุโรป ร้อยละ 7.5 ระบุเป็นชาวอเมริกัน ร้อยละ 19.1 ระบุสัญชาติอื่นๆเช่น เม็กซิกัน แคนาดา ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น
 

 


 

 

 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...