โรงเรียนต้นแบบในสวีเดน ไม่มีห้องเรียน เน้นการเรียนรู้

 

 
 
 
 
 
 
 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก zillamag.com
 
          ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาครั้งใหญ่ ปรับลดการบ้าน ลดสอบ และหันไปเน้นการทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้มากขึ้น จนนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักตลอด 2 วันที่ผ่านมา วันนี้ขอพาไปชมรูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่น่าสนใจ ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าติด 1 ใน 10 ประเทศน่าอยู่และอาชญากรรมน้อยที่สุดในโลกอย่างสวีเดนกันบ้างดีกว่า เขาบอกว่ารูปแบบการศึกษาแบบใหม่นี้ ไม่มีห้องเรียน แต่แบ่งพื้นที่เป็นโซนต่าง ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระ ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์อย่างที่สุด
 
 
 
          โดยรูปแบบการเรียนการสอนแบบไม่มีห้องเรียนที่ว่านี้ เป็นความคิดริเริ่มของ Vittra องค์กรการศึกษาในสวีเดนที่มีโรงเรียนในเครือถึง 30 แห่ง ได้นำรูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าวมาใช้ในโรงเรียนเทเลโฟนแพลน (Telefonplan) ในกรุงสต็อกโฮล์มเป็นแห่งแรก เมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากเห็นว่า ห้องเรียนที่มีการจัดโต๊ะให้เด็ก ๆ นั่งเรียนเป็นแถว ๆ นั้นไม่ได้ช่วยให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์ และทำอะไรร่วมกันได้มากพอ 
 
 
 
          เมื่อตระหนักถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ เป็นที่หนึ่ง ทาง Vittra จึงได้มีการสร้างโรงเรียนเทเลโฟนแพลนให้มีบรรยากาศแปลกตาอย่างที่เห็น (ดูผิวเผินคล้ายกับสำนักงานกูเกิล หรือพิกซาร์ยังไงยังงั้น) ด้วยฝีมือการออกแบบของบริษัทโรซาน บอสช์ จากโคเปนฮาเกน ที่ได้ออกแบบและจัดวางเฟอร์นิเจอร์เป็นโซน ๆ ทั้งโซนสำหรับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โซนสำหรับการเรียนรู้เป็นกลุ่ม โดยแต่ละโซนจะไม่มีกำแพงกั้น เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ส่งเสริมการทำงานอย่างอิสระ และการทำงานเป็นกลุ่มได้เป็นอย่างดี
 
 
 
          ส่วนเรื่องกิจกรรมกีฬา หรือกิจกรรมที่เด็ก ๆ อาจส่งเสียงดังกันนั้น ทางโรงเรียนก็ได้มีการสร้างห้องแยกออกไป และเป็นห้องเก็บเสียงด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เสียงของเด็ก ๆ ที่กำลังเรียนกีฬา หรือกิจกรรมที่มีการใช้เสียง ไม่เล็ดลอดออกมารบกวนเด็กที่กำลังเรียนรู้อย่างเงียบ ๆ ภายนอก
 
 
          ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะไม่มีห้องเรียนที่จำกัดขอบเขตเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แล้ว โรงเรียนแห่งนี้ยังไม่มีการแบ่งชั้นเรียนของเด็ก ๆ ตามเกณฑ์อายุ ไม่มีการประเมินเกรด แต่จะแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นระดับสติปัญญา เพื่อให้สามารถเรียนรู้ร่วมกันตามความเหมาะสม
 
          ก็นับว่าเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจ และน่าจะทำให้เด็ก ๆ อยากไปโรงเรียน และรักการเรียนรู้มากขึ้นเยอะเลย
 
Credit: http://education.kapook.com/view55703.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...