พบ!ทหารตกสำรวจเยียวยาไฟใต้ "พลทหาร" ถูกทิ้ง เยี่ยมตอนเจ็บ ถ่ายรูปแล้วกลับ

อาจารย์รอฮานิ เจาะอาแซ หัวหน้าคณะวิจัย  "ทหารและครอบครัวที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ตกสำรวจจากระบบเยียวยา"  เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 มกราคม  ว่า  กว่า 100  เดือน หรือราว 9 ปี  ของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชานแดนภาคใต้เริ่มปะทุมาตั้งแต่เดือน มกราคม  2547 เหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 11,000 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 16,000 ราย และพบว่า ราวหนึ่งในสามของผู้เคราะห์ร้ายประมาณ 5,400 คน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีครู ตำรวจ และทหาร และจำนวนมากเป็นคนต่างถิ่นต่างภูมิภาค ที่อาสามาทำงานในหน้าที่ของตนในพื้นที่เสี่ยงภัย และต้องกลับไปพักรักษาตัวยังภูมิลำเนาเดิมหลังจากได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

 

อาจารย์รอฮานิ   เปิดเผยว่าโครงการเยี่ยมเยียนเยียวยาเพื่อสร้างยุทธศาสตร์สมานฉันท์ เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ นักเยียวยา ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินท(มอ.) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และกรมแพทย์ทหารเรือ ได้เดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเยี่ยมเยียนทหาร พลทหาร และตำรวจ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อติดตามคุณภาพชีวิตภายหลังประสบเหตุจนพิการ และความต่อเนื่องของการช่วยเหลือเยียวยาของหน่วยงานรัฐ

 

"ผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประเมินติดตาม คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ภายหลังจากประสบเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานของภาครัฐ โดยจากการกำหนดเป้าหมายการเยี่ยมเยียนไว้ที่ 100 คน แต่สามารถเข้าถึงและเยี่ยมได้เพียง  21 ราย  เพราะขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของกลุ่มเป้าหมาย ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่งเปลี่ยนแปลงหมายเลขโทรศัพท์ สถานที่ติดต่อ และย้ายที่อยู่กลับไปอยู่ภูมิลำเนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาในจังหวัดนั้น ๆ ไม่ทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดระบบการส่งต่อ ดูแลติดตามที่ดี"


หัวหน้าคณะวิจัย  "ทหารและครอบครัวที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ตกสำรวจจากระบบเยียวยา"    ระบุต่อว่า    ทหารผู้พิการและบาดเจ็บจำนวนมากยอมรับว่า แม้ทันทีที่ได้รับบาดเจ็บและรักษาตัวจะมีหลายหน่วยงานมาเยียวเยียนถึงสถานพยาบาล ซึ่งส่วนมากมักมามอบเงินเยียวยาและถ่ายรูป แต่ก็จากไปในทันที นักวิชาการกลุ่มนี้จึงเป็นหน่วยงานแรกที่มาเยี่ยมเยียนตนเองถึงบ้าน หลังจากที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งไปเป็นเวลานาน ทหารผู้พิการและบาดเจ็บจำนวนมากจึงรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง

 

"ทหารบางคนบอกว่า มีบางหน่วยงานโทรมาหา ก็จะพูดแต่เรื่องเงินว่าเขาจะได้รับเงินเท่าไหร่จากไหน แต่ไม่ถามเรื่องสุขภาพ ไม่สนใจเรื่องการดูแลจิตใจ บางหน่วยงานก็มาเยี่ยมแล้วเอาป้ายมอบเงินมาถ่ายรูป แต่จนกระทั่งบัดนี้เงินจำนวนนั้นยังไม่โอนไปเลย"

 

อาจารย์รอฮานิเปิดเผยว่าทหารสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการติดตามเยียวยาที่แตกต่างระหว่างพลทหารและข้าราชการทหาร ทั้งในเรื่องจำนวนเงินและสิทธิ์การเยียวยา นอกจากนี้ ด้วยระบบการติดตามที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มุ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิต ผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุม ตั้งแต่เรื่องสุขภาพกาย ใจ สังคม และการสร้างอาชีพ  รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ

 

“สำหรับหน่วยงานด้านการเยียวยาในภูมิภาคอื่นไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเยียวยาอย่างครอบคลุม ทำให้ทหารที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจำนวนมากตกอยู่ในภาวะถูกทอดทิ้ง และขาดการเหลียวแลทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพลทหารที่ไม่ได้รับการรับรองหรือจดทะเบียนเป็นผู้พิการ ซึ่งเมื่อปลดประจำการแล้วก็จะมีสถานะเป็นพลเรือนเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ทำให้ไม่มีสิทธิในการขอรับการเยียวยาเช่นพลทหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการ หรือข้าราชการทหาร ตำรวจ”

 

อาจารย์รอฮานิ  เปิดเผยว่าการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทหารบาดเจ็บและพิการไม่ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่ควรได้รับ ถึงแม้ว่าจะมีการปฐมนิเทศเกี่ยวกับสิทธิที่พึงได้รับก่อนประจำการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การปฐมนิเทศนั้นกลับเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องไกลตัว และไม่มีใครใส่ใจมากนักเพราะไม่คิดว่าตนเองจะต้องเป็นผู้ประสบเหตุ เมื่อเกิดเหตุการณ์จึงไม่รู้จะติดต่อใคร ดำเนินการอย่างไร

 

“นักวิชาการให้ข้อเสนอแนะว่า ทหารผู้รักชาติและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจนร่างกายต้องบาดเจ็บและพิการ ควรได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง ต่อเนื่อง เท่าเทียม และยั่งยืน โดยควรได้รับการดูแลทั้งในเรื่องสุขภาพกาย ใจ ส่งเสริมให้พวกเขาได้ยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยการพึ่งพาตนเอง สามารถดูแลตนเองและประกอบอาชีพที่เหมาะสมได้ ควรกระตุ้นให้สังคมหรือชุมชนซึ่งทหารที่ได้รับผลกระทบพักรักษาตัวอยู่ เกิดความภูมิใจในเพื่อนบ้านของตนเอง จนสามารถดูแลให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้”


“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาควรมีระบบส่งต่อผู้ได้รับบาดเจ็บและพิการเพื่อให้ทหารได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง  เมื่อกลับไปยังภูมิลำเนาของตัวเอง”

                                     

 


 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...