ฟังนักศึกษา"รัฐศาสตร์"อธิบาย ทำไมเราจึงรังเกียจแมลงสาบ?

27 มกราคม ที่ผ่านมา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแม่งานในการจัดงานสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาระดับปริญญาตรี


ให้ชื่องานว่า "วัดสายตา"


จุดประสงค์ คือ ให้นักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในระดับปริญญาตรี จาก 8 สถาบันอุดมศึกษา ได้นำเสนอผลงานการศึกษา โดยมีคณาจารย์ให้คำวิจารณ์


งานศึกษาที่นำเสนอ มีหลากหลายตั้งแต่ เรื่อง ทรงเจ้าฟ้อนผี, คลับฟรายเดย์, กลุ่มชาติพันธ์, การสร้างจิตสาธารณะ, การเดินทางของกาแฟจากดอยสู่ถ้วยในมือ ไปจนถึง ชีวิตของนักมวย
 

มติชนออนไลน์ เก็บตกหนึ่งในงานที่น่าสนใจ ที่นำเสนอเป็นเรื่องสุดท้ายในงานสัมมนา


คือ เรื่อง "แมลงสาบในสังคมวัฒนธรรม: ทำไมเราจึงรังเกียจแมลงสาบ?"

งานศึกษาของ น.ส. ลีลา วรวุฒิสุนทร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เลือกเรียน สังคมวิทยา เป็นวิชาโท


"ลีลา" นำเสนอว่า แมลงสาบ ทั้งโลกที่มีอยู่ 5 พันถึงหมื่นสายพันธุ์

 

แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์รบกวน เพราะมีบางสายพันธุ์ที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น แมลงสาบมาดากัสการ์
 

แต่ข้อสันนิษฐานแรกของเธอ คือ คนส่วนใหญ่เกลียดแมลงสาบ


เบื้องต้น คือ เมื่อเข้าไปตามชั้นวางของในร้านค้า เราจะพบเห็น ยาฆ่าแมลง (รวมทั้งแมลงสาบ) ยาเบื่อหนู วางขายเป็นปกติ เธอตั้งคำถามว่า ทำไมยาฆ่าสัตว์อื่นๆ ถึงไม่มีการวางขายอย่างเป็นปกติ เช่น ยาเบื่อแมว


แปลว่า สังคมส่วนใหญ่ ก็ยอมรับว่า เกลียดสัตว์จำพวกแมลงสาบ ใช่ไหมจึงมีสินค้าเหล่านี้ออกมา


คำถามต่อมา คือ ทำไมจึงรังเกียจ?


 

พอล โรซิน (Paul Rozin) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านความรังเกียจ เคยทดลองโดยฆ่าเชื้อแมลงสาบ ก่อนจะหย่อนลงในน้ำส้ม ปรากฏว่า ไม่มีใครกล้าดื่มน้ำส้มแก้วนั้น


กลไกการเอาตัวรอด การระวังในการไม่กินอะไรที่แปลกปลอม กำลังทำหน้าที่


ถามต่อว่า ความรังเกียจเป็นเรื่องของสัญชาติญาณโดยธรรมชาติหรือเปล่า?


"ลีลา" อ้างอิงว่า การที่เด็กเล็กนั่งเล่นของเสียของตัวเอง หรือ เอาอะไรไม่เหมาะสมเข้าปากได้ แสดงให้เห็นว่า ความรังเกียจมาจากระบบวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่เฉพาะสัญชาติญาณโดยธรรมชาติ


ตัวอย่างเช่น บางคนรังเกียจการกินแมลงเพราะไม่ใช่อาหาร แต่ในบางวัฒนธรรมถือเป็นเรื่องปกติ วัฒนธรรมจึงเป็นตัวบอกว่า อะไรควรกิน ไม่ควรกิน


เธอกลับไปที่ "แมว" อีกครั้ง


แมวและแมลงสาบ ไม่จัดว่าเป็นอาหาร แต่การถูกตั้งข้อรังเกียจเป็นคนละแบบ คนกินแมวจะถูกประณาม เพราะ แมวเป็นสัตว์เลี้ยง ต่างไปจากกรณีของแมลงสาบ


 

 

***********************

 

ทำไมระบบวัฒนธรรมและสังคม ไม่ชอบแมลงสาบ?


สมมติฐาน คือ เพราะมันสร้างความวุ่นวาย


ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรีย โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 อธิบายว่า กฏเกณฑ์ของสังคมที่มีอารยธรรมจำเป็นต้องมี ความงาม ความมีระเบียบ และความสะอาด แต่แมลงสาบ เป็นสัตว์ที่อัปลักษณ์ ไร้ระเบียบและเป็นสัตว์ที่สกปรก


ภาพของแมลงสาบไต่กันยั้วเยี้ย และชอบบินเข้าหาคน


จึงไปกันไม่ได้ กับสังคมที่ มีระบบคิด มีองค์ความรู้เรื่องการแพทย์ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18
 

สังคมที่มีความสะอาด จึงไม่ชอบแมลงสาบ


และแมลงสาบ ถูกเชื่อมโยงกับความเสื่อมทราม ความตกต่ำ การบ่อนเซาะสังคม
 

"แมลงสาบ" จึงถูกนำไปใช้กับ สิ่งที่ไม่ชอบ หรือการดำเนินชีวิตที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานสังคม

 

 

****************************

 

ระบบวัฒนธรรมผลิตซ้ำ และเชื่อมโยงความรังเกียจเข้ากับแมลงสาบ


ตัวอย่างที่ "ลีลา" ยกมา คือ หนึ่ง ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และ สอง คือ พรรคประชาธิปัตย์

ในเรื่องของ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ดูได้จากงานของ ฟรานซ์ คาฟคา นักเขียนนามอุโฆษชาวยิวที่เกิดในกรุงปราก เจ้าของผลงานเรื่อง “The Metamorphosis” ที่ตัวเอก ร่วงหล่นจากความเป็นมนุษย์ กลายไปเป็นแมลง


เทียบเคียงกับ หนังโฆษณาประกันภัยในบ้านเรา ก็มีเซลล์แมนขายประกัน ที่กลายไปเป็น แมลงสาบ ในสายตาคนอื่น


ส่วนกรณีที่ 2 เธออธิบายว่า ในสังคมไทย เชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับ การใช้อำนาจในทางที่ผิด หรือ ผู้มีอำนาจที่หลงผิด เช่น นิทานพื้นบ้าน เรื่องแมลงเพชร ที่ถูกสาปให้กลายเป็น แมลงสาบ


กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยใช้ "แมลงสาบ" อธิบายถึงความอึดและอุดมการณ์ที่ไม่ตายของพรรค เหมือนกับแมลงสาบที่ทนทาน


แต่ระบบความคิดนี้ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย


"แมลงสาบ" จึงกลายไปเป็นคำที่ใช้ในการล้อเลียนและโจมตี


อย่างเช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง เคยอุปมาว่า แมลงสาบเกาะล้อรถถัง เข้ามาสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง
 

 

****************************

 

หลังการนำเสนอ เราพูดคุยที่มาที่ไปของงานนี้กับ "ลีลา" อีกครั้ง


เธอบอกว่า ความเกลียดกลัวแมลงสาบ เป็นทั้งปฏิกิริยาทางชีววิทยาและผลรวมของวัฒนธรรม จึงปรากฏกระจายในหลายวัฒนธรรม ทั้งสังคมตะวันตกและที่อื่นๆ เช่น ในประเทศรวันดา ตอนที่เกิดการสังหารหมู่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ฆ่าก็กล่าวประณามพวกตรงข้ามว่าเป็นแมลงสาบ

 

ในอเมริกา คนอาจจะเชื่อมโยงกับการเหยียดสีผิวหรือกลุ่มอุดมการณ์

 

ที่ญี่ปุ่น เชื่อมโยงกับ ความพ่ายแพ้ ความอับอายขายหน้าบางอย่าง เช่นการเรียนไม่จบ


การเข้ามาใช้กับสังคมไทย เชื่อมโยงกับหลายๆ อย่าง แต่มาโด่งดัง ตอนที่ผู้นำทางการเมืองเอาไปใช้ แต่อาจจะใช้อย่างไม่ถูกบริบท จึงออกมาเป็นปรากฏการณ์ในการโจมตีไป


จะบอกว่าฝ่ายตรงข้ามนำไปบิดความหมายก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะเรื่องของภาษากระจายในสังคมอยู่แล้ว ใครๆ ก็สามารถหยิบยกมาพูด มาสร้างพื้นที่ให้ตนเอง โจมตีฝ่ายตรงข้ามก็ได้

 

แต่ที่ถูกเชื่อมโยงแบบนี้ เพราะสังคมไทยช่วงนั้นมีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายนั่นเอง

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...