ถึงแม้บรรดาชาติอาเซียนจะขยับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไปทุกขณะเพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่ดูเหมือนเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามระบอบประชาธิปไตยของหลายชาติอาเซียนนั้น พัฒนาช้ากว่ามาก
ล่าสุดในสัปดาห์นี้ กรณี สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร "เสียงทักษิณ" หรือ "วอยซ์ ออฟ ทักษิณ" (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) ถูกตัดสินจำคุก 11 ปีด้วยข้อหาสองกระทง เป็นประเด็นที่เกี่ยวโยงถึงบรรยากาศด้านสิทธิเสรีภาพในประเทศไทย
หลังบทความ 2 ชิ้นที่นายสมยศไม่ได้เขียนเอง แต่ตีพิมพ์ขณะที่เป็นบ.ก.นิตยสารดังกล่าว มีข้อความหมิ่นเหม่
สื่อมวลชนระดับโลกต่างรายงานเรื่องนี้เป็นข่าวเด่น ไม่ว่าจะเป็น บีบีซี ซีเอ็นเอ็น นิวยอร์กไทมส์ เอพี ฯลฯ
ขณะที่มีปฏิกิริยาจากหลายหน่วยงานทั่วโลกอย่างฉับไว เช่น ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความไม่เห็นด้วยด้านสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ว่า บรรดาชาติสมาชิกรู้สึกกังวลใจต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยในไทยอย่างมาก
ตัวแทนองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์แนะนำให้ไทยทบทวนการใช้กฎหมาย อาญา มาตรา 112 ส่วนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (เอเอช อาร์ซี) กล่าวว่าการลงโทษผู้คนด้วยกฎหมายมาตรา 112 นั้น มีมาตรฐานคลุมเครือ และใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างได้ง่าย
ฟรีดอม เฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรติดตามเสรีภาพสื่อทั่วโลก ออกแถลงการณ์ว่ากรณีนายสมยศจะสร้างบรรยากาศความกลัวในประเทศไทย และเตือนว่าไทยควรเคารพสนธิสัญญาและกฎหมายนานาชาติทางด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ไทยมีพันธะร่วม
กายาทรี เวนไคต์สวารัน ตัวแทนพันธมิตรสื่อมวลชนอุษาคเนย์ (SEAPA) กล่าวว่าการลงโทษนายสมยศซึ่งมีบทบาทเป็นบ.ก. ไม่ได้เป็นผู้เขียนบทความโดยตรงนั้น "น่ากังวลอย่างยิ่ง"
ก่อนหน้านี้ กายาทรีเคยให้สัมภาษณ์ "ข่าวสด" ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการลงโทษหรือกดดันตัวกลางการสื่อสารอย่างบ.ก.หรือเว็บมาสเตอร์โดยรัฐในอาเซียนบางประเทศจำนวนมาก
นอกจากไทยแล้ว สถานการณ์ด้านเสรีภาพในการแสดงออกของอาเซียนยังถือได้ว่า น่าเป็นห่วง
เห็นได้จากการจัดอันดับเสรีภาพสื่อของฟรีดอม เฮาส์ ที่ชาติในอาเซียนสอบตกทั้งหมด เพราะไม่มีชาติใดได้อันดับสีเขียว (สื่อมีเสรีภาพเต็มที่) เลยมีแค่เหลือง (สื่อมีเสรีภาพบางส่วน) และแดง (สื่อไม่มีเสรีภาพ)
สำหรับไทยเมื่อก่อนอยู่ในเขตสีแดง แต่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นเหลือง เพราะมีการเลือกตั้งอย่างเสรีเมื่อปี 2554 ส่วนฟิลิปปินส์ถึงแม้จะได้สีเหลือง แต่ก็รั้งตำแหน่งประเทศที่มีนักข่าวถูกสังหารมากที่สุดในอาเซียน
ขณะเดียวกัน ลาว (ซึ่งอยู่ในโซนสีแดง) เพิ่งเกิดกรณี สมบัติ สมพล เอ็นจีโอ เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ ถูกอุ้มหายตัวไป ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าทางการลาวมีส่วนรู้เห็น นอกจากนี้ลาวยังเพิ่งขับไล่เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาจากสวิตเซอร์แลนด์ออกจากประเทศด้วย เพราะเกิดความขัดแย้งกับทางการลาว
ด้าน กัมพูชา ยังอยู่ในเขตสีแดงเพราะมีกฎหมายห้ามวิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐ ข้อมูลระบุว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์กัมพูชา 42 ฉบับถูกสั่งปิด และมีการข่มขู่นักข่าวในประเทศมาตลอด เมื่อปลายปี 2555 มีนักข่าวรายหนึ่งถูกลักพาตัวและฆาตกรรม ต่อมา หลังนักข่าวรายนี้เปิดโปงการลักลอบตัดไม้ป่าตลอดจนพฤติกรรมรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐ
ส่วนนักข่าวอีกคนหนึ่งถูกตัดสิน จำคุก 20 ปีในข้อหา "กบฏต่อรัฐ" เพราะคัดค้านการแย่งชิงที่ดินจากประชาชนตามชนบทโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่อีกหลายคนถูกข่มขู่สารพัด รูปแบบจากทางการ
เนื่องจากประชากรกัมพูชาจำนวนมากอ่านหนังสือไม่เป็น จึงต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารจากวิทยุและโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม สื่อช่องทางนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลกัมพูชา ประชาชนกัมพูชา โดยเฉพาะในชนบท จึงไม่ค่อยมีช่องทางเข้าถึงข่าวสารที่เป็นกลางและเป็นกลาง
สำหรับเวียดนาม ถูกประณามจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เพราะควบคุมสื่อต่างๆ อย่างเข้มงวด แถมยังจำคุกบล็อกเกอร์นับสิบปีเพราะเขียนข้อความวิจารณ์รัฐบาลในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ซีป้าได้แถลงเรียกร้องให้ เล ลุง มินห์ เลขาธิการอาเซียนคนใหม่จากเวียดนาม เร่งแก้ไขปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ ทั้งในเวียดนามและประเทศอื่น ก่อนอาเซียนจะ เข้าสู่เออีซีภายในปี 2557
ด้านองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระบุว่า นอกจากชาติอาเซียนจะมีระบอบการปกครองที่แตกต่าง ตั้งแต่ประชาธิปไตยรัฐสภาไปจนถึงเผด็จการคอมมิวนิสต์ สื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ประสบปัญหาต่างๆ กันไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ถูกรัฐควบคุมอย่างเด็ดขาด ถูกกลไกรัฐแทรกแซง และต้องปฏิบัติงานท่ามกลางอิทธิพลจากภาคธุรกิจและกลุ่มการเมือง
นอกจากนี้ สื่อมวลชนจำนวนมากในอาเซียนยังขาดแคลนการฝึกฝนในวิชาชีพนักข่าว ทำให้ขาดงานคุณภาพ และบางครั้งก็รายงานข่าวโดยละเมิดจรรยาบรรณสื่อสากล หรือขาดความเข้าใจต่อบทบาทของสื่อในฐานะกลไกสร้างประชาธิปไตย
ในยุคปัจจุบัน การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี (free flow of information) ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะในเชิงการสร้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศ หรือการเสริมสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บรรดาชาติอาเซียนจึงควรเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเร็ว