ชาติพันธุ์ในอาเซียน

อาเซียนเป็นดินแดนพหุสังคม (Plural society) เพราะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และศาสนา หากแบ่งกลุ่มประเทศตามศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือจะแบ่งได้ ดังนี้



- ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม คือ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย



- ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธ คือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย



- ส่วนในฟิลิปปินส์ประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์



นอกเหนือจากความแตกต่างทางศาสนาแล้ว ยังมีชนกลุ่มน้อยที่มีความแตกต่างทางความเชื่อ วิถีชีวิต ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทั้งในระดับปัจเจกรัฐและในระดับภูมิภาค อาทิ บรูไนมีชาวจีนและอีบัน, ดายัคและเคลาบิต ประมาณร้อยละ 14.6 จากประชากรทั้งประเทศ 357,800 คน



มาเลเซียมีชาวจีนและอินเดีย ประมาณร้อยละ 34 จากประชากรทั้งประเทศ 27 ล้านคน อินโดนีเซียมีชนกลุ่มน้อยมากกว่า 10 กลุ่มซึ่งกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ ซุนดานีสและมาเลย์มีประมาณร้อยละ 39 จากประชากรทั้งประเทศ 240 ล้านคน



ฟิลิปปินส์มีชาวมาเลย์มุสลิมและชาวจีน ประมาณร้อยละ 6 จากประชากรทั้งประเทศ 89 ล้านคน ไทยมีชาวจีนและชาวมาเลย์มุสลิม ประมาณร้อยละ 25 (ยังไม่รวมชาวเขาและที่ราบสูง) จากประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคน สิงคโปร์มีชาวมาเลย์มุสลิมและอินเดีย ประมาณร้อยละ 22 จากประชากรทั้งประเทศ 4.5 ล้านคน



เวียดนามมีชนกลุ่มน้อยมากกว่า 10 กลุ่มซึ่งกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ ไต (Tay) ไท (Thai) ม้ง (Muong) และเขมร (Khmer) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 7-8 จากประชากรทั้งประเทศ 84 ล้านคน ลาวมีชนกลุ่มน้อย 3-4 กลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 30 จากประชากรทั้งประเทศ 6 ล้านคน



กัมพูชามีชนกลุ่มน้อยมากกว่า 5 กลุ่ม รวมทั้งชนเผ่าต่างๆ คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 จากประชากร 14 ล้านคน และพม่ามีชนกลุ่มน้อยมากกว่า 10 กลุ่ม รวมทั้งชนเผ่าต่างๆ คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 จากประชากรทั้งประเทศ 48 ล้านคน



อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช จากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์



การถือกำเนิดของรัฐอธิปไตยสมัยใหม่ส่งผลให้เกิดการคาบเกี่ยวซ้อนทับระหว่างพรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์กับพรมแดนทางวัฒนธรรม จนก่อเกิดเป็นปัญหาหลากหลายประการ



ปัญหาต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่การขยายตัวของการแบ่งแยกดินแดน และการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการอพยพข้ามชาติ



ความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ อาเซียนจะจัดการความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่มีอยู่อย่างไร ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอาเซียน และนำอาเซียนไปสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์



หากอาเซียนก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้ การก่อรูปประชาคมอาเซียนที่เต็มไปด้วยความร่วมมือก็จะเกิดขึ้นและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ

 

20 ม.ค. 56 เวลา 16:05 17,225 2
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...