คอเบียร์-ไวน์ เตรียมหนาว! รัฐบาลเล็งเก็บภาษีเพิ่มอีกตามปริมาณลิตร คาดได้อีกหลายพันล้านโปะนโยบายประชานิยม
เมื่อวันที่ 18 มกราคม แหล่ง ข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ทางกรมมีแผนจะปรับเพิ่มการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเตรียมจะเสนอปรับเพดานสุราแช่ใน 2 รายการ คือ เบียร์ และไวน์ เป็นเพดานสูงสุดลิตรละ 400 บาท และเปลี่ยนจากการจัดเก็บตามดีกรีลิตรแอลกอฮอล์เป็นจัดเก็บตามหน่วยลิตรแทน โดยไวน์ นั้นจะจัดเก็บภาษีในอัตราลิตรละ 250-750 บาท ส่วนภาษีเบียร์จะจัดเก็บเป็น 4 ระดับ คือ เพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ แต่ถ้าเบียร์นั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ 0-0.99% ก็จะไม่เรียกเก็บ
แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต ยังอธิบายต่อว่า การ จัดเก็บภาษีเบียร์แบบใหม่นี้จะยกเลิกการจัดเก็บที่มีการกำหนดต้นทุนเพื่อ คำนวณภาษีเบียร์ 3 กลุ่ม คือ เบียร์อีโคโนมี (ช้าง, ลีโอ), เบียร์สแตนดาร์ด (สิงห์) และเบียร์พรีเมียม (ไฮเนเก้น, คาร์ลสเบอร์ก) เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนเข้ามาว่าการจัดเก็บเช่นนี้ทำให้ดู เหลื่อมล้ำ เพราะฐานภาษีเบียร์สแตนดาร์ดกับเบียร์พรีเมียมมีการอัตราที่ใกล้เคียงกัน
มีข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการปรับเพิ่มภาษีดังกล่าว เป็นเพราะรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการเดินหน้านโยบายประชานิยมหลายโครงการ และที่เลือกขยายเพดานสุราแช่ (เบียร์ และไวน์) นั้น เพราะเบียร์เป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าการขายมากกว่า 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนไวน์ก็เป็นเครื่องดื่มที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นจะช่วยเพิ่มฐานภาษีได้อีกหลายพันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เรื่องการขยายเพดานภาษีนั้นไม่ใช่ทำได้เลยต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.สุราฯ ก่อน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะออกเป็นประกาศวิธีการจัดเก็บได้ ทั้งนี้ หากออกเป็นพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. ก็จะทำให้กระบวนการเร็วขึ้น แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่เรื่องนี้จะถูกโยงไปเป็นประเด็นทางการเมืองได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง