วันนี้ 17 ม.ค. นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ส่งของกลาง 2,940 เม็ด มาให้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ทำการตรวจวิเคราะห์โดยยาดังกล่าว ด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์ และตัวเลข 028 อีกด้านมีตัวเลข 5 บรรจุในแผงพลาสติกใสสีแดงอะลูมิเนียม บนแผงมีข้อความตัวอักษรภาษาอังกฤษ Erimin 5 (อีริมิน 5 ) จากการตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบ ฟีนาซีแพม ซึ่งเป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ มีฤทธิ์แรงกว่า ไดอาซีแพม ถึง 10 เท่า
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า สารฟีนาซีแพมได้ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในประเทศรัสเซีย เมื่อปี พ.ศ.2517 และนำไปใช้ในทางการแพทย์ในประเทศรัสเซียและบางประเทศในยุโรปตะวันออก รักษาโรคระบบประสาท และโรคลมชัก โดยใช้ประมาณ 1- 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน สารฟีนาซีแพมออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า 60 ชั่วโมง ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวจะมีอาการง่วงซึม มึนงง สับสน สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียความทรงจำ หากหยุดยาทันทีหลังได้รับยาขนาดสูงหรือเป็นระยะเวลานานอาจเกิดอาการถอนยา และถ้าใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์หรือสารที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิเอตส์ หรือยานอนหลับอื่น ๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้
นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบการนำฟีนาซีแพมไปใช้ในทางที่ผิด โดยกลุ่มผู้เสพนิยมเรียกยานี้ว่า เฟนนี่ , พี , บอนไซ, บอนไซ ซุปเปอร์สลีพ และ 7 โบรโม-5 ส่วนการเสพมีหลายวิธี ได้แก่ การกิน การอมใต้ลิ้น การสูด และการฉีดเข้าเส้น นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบผู้เสพยาชนิดนี้เสียชีวิตจากการได้รับยาเกินขนาด ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างของกลางอีริมิน 5 ไม่พบ ไนเมตาซีแพม แต่ตรวจพบฟีนาซีแพม จึงสันนิษฐานว่าอาจมีการนำฟีนาซีแพมมาผลิตเป็นยาอีริมิน 5 ทดแทน ไนเมตาซีแพม เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากฟีนาซีแพมยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย รวมทั้งในอนุสัญญาสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ดังนั้นจะเฝ้าระวังและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสารนี้ต่อไป เพราะหากไม่บรรจุในแผงของกลางอีริมิน 5 แต่นำเข้ามาเป็นเม็ด หรือผงจะไม่สามารถเอาผิดได้เลย
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อีริมิน 5 เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท ซูมิโมโต ฟาร์มาซูติคอล (Sumimoto Pharmaceuticals) ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยตัวยาสำคัญชื่อ ไนเมตาซีแพม ขนาดยา 5 มก. เป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ มีการอนุญาตให้ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย โดยเป็นสารควบคุม สำหรับประเทศไทยตัวยาดังกล่าวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ยานี้ไม่มีการอนุมัติทะเบียนตำรับในประเทศไทย ซึ่งยาที่ถูกจับได้จึงเป็นยาที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศอื่น โดยพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งนิยมเรียกยานี้ในชื่อ ไฟว์-ไฟว์ (five-five ) หรือ แฮปปี้ 5 ( Happy 5 ) ดังนั้นยาดังกล่าวที่ตรวจพบสารสำคัญไม่ตรงตามที่ระบุไว้ จึงเข้าลักษณะของวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ซึ่งผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท ส่วนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าฯมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 15 ปี และปรับ ตั้งแต่ 100,000 - 300,000 บาท
“ อย.จะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในปลายเดือน ม.ค.นี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้ฟีนาซีแปมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 คาดว่าในเดือน ก.พ.ทุกอย่างคงเรียบร้อยและเสนอให้ รมว.สาธารณสุข ลงนามประกาศต่อไป” เลขาธิการ อย. กล่าว
นพ.บุญชัย กล่าวต่อว่า ผู้บริโภคที่จำเป็นต้องใช้วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาว่า ไม่ควรหาซื้อวัตถุออกฤทธิ์มาใช้เอง การใช้วัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภทต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายจากแพทย์ กรณีที่จำเป็นต้องซื้อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 เช่น ไดอะซีแปม โลราซีแปม และ คลอราซีเพท จากร้านขายยาต้องซื้อจากร้านที่ได้รับใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ซึ่งจะมีป้ายแสดงอย่างชัดเจนว่าเป็น “สถานที่ขายวัตถุออกฤทธิ์” พร้อมทั้งมีใบสั่งจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ฯ จากแพทย์ โดยมีเภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวตามคำสั่งของแพทย์ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้วัตถุออกฤทธิ์ที่ปลอดภัยตามหลักวิชาการตามสมควร
เลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า รมว.สาธารณสุขยังได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2555 ให้ อัลปราโซแลม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เนื่องจากมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีการนำไปมอมสาว หรือที่เรียกกันว่ายาเสียสาวก็ยาตัวนี้ที่เป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นการยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 น่าจะทำให้การเข้าถึงยาได้ยากขึ้นเพราะต้องให้แพทย์สั่ง
ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขยกระดับ อัลปราโซแลม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ดังนั้นต่อไปร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และ 4 จะไม่สามารถจำหน่ายได้อีกต่อไป ส่วนคลินิกที่ไม่ประสงค์ครอบครองสามารถทยอยส่งคืนยาต่อบริษัทยาได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“เดิมอัลปราโซแลมจะใช้รักษาอาการวิตกกังวล และช่วยให้นอนหลับ สาเหตุที่มีการควบคุมเพราะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น มอมสาว มอมเหยื่อ การใช้อัลปราโซแลมในปริมาณมากอาจทำให้ตายได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2554-2555 มีคดีเกี่ยวกับอัลปราโซแลม 400-500 คดี โดยมีการส่งของกลางมาเก็บไว้ที่ อย.จำนวนมาก ขณะเดียวกันก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นข่าวติดต่อกัน 3-4 รายอย่างกรณีฝรั่ง 2 คนเสียชีวิตที่พัทยาพบขวดอัลปราโซแลม และกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตจากการถูกมอมยา” ภก.ประพนธ์ กล่าว