เปิด"หอดูดาว" แห่งแรกของไทย

ปลายปีที่แล้ว มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนหลายอย่าง ทั้งปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ที่มีประชาชนเดินทางไปเฝ้ารอชมตามสถานที่ต่างๆ 

โดยเฉพาะบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดชมดาวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง มีประชาชนพากันไปชมไม่ต่ำกว่า 200 คน และต่างก็ไม่ผิดหวัง เมื่อค่ำคืนวันนั้นปรากฏฝนดาวตกให้เห็นไม่ ต่ำกว่า 300 ดวงต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังมีกระแสฮือฮาเกี่ยวกับ "วันสิ้นโลก" วันที่ 21 ธ.ค.2012 ที่บางคนเชื่อว่า การพุ่งชนของอุกกาบาต คลื่นความร้อนจากพายุสุริยะ หรือแรงดึงดูดจากหลุมดำ จะทำ ให้โลกถึงกัลปาวสาน 

นักดาราศาสตร์ต้องออกมาชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีทางเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ เพราะมีหน่วยงานต่างๆ ในนานาประเทศศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อยู่ตลอดเวลา และไม่พบสัญญาณว่าจะมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น

การอธิบายปรากฏการณ์ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ล้วนต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้น 

ในต่างประเทศ เทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ก้าวไกล ถึงขั้นส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ หรือส่งยานอวกาศไปสำรวจความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นๆ แต่ในประเทศไทยเอง ความรู้ด้านนี้ดูเหมือนจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก 

หากนับวันที่ 18 ส.ค. ปีพ.ศ.2411 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจุดเริ่มต้นของดาราศาสตร์ไทย ก็เป็นเวลาถัดจากนั้นถึง 141 ปี เราจึงมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1 ม.ค.2552 

แม้จะเป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่ถึง 10 ปี "สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน)"หรือ"สดร." ก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์หลายอย่าง 

ทั้งบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศ การจัดกิจกรรมบริการวิชาการ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นต้นตามจังหวัดต่างๆ และการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นกลาง ณ ศูนย์บริการสารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ เป็นต้น
1.กันต์ธนากร น้อยเสนา สาธิตการควบคุมกล้องด้วยไอแพด

2.หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา

3.ตัวอาคารของหอดูดาวแห่งชาติ

4.ฝนดาวตกเจมินิดส์ ภาพโดยศุภฤกษ์ คฤหานนท์

5.อบรมดาราศาสตร์เบื้องต้นให้ผู้สนใจทั่วไป



แต่ไฮไลต์ที่จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของวงการดาราศาสตร์ไทย คือการจัดตั้ง "หอดูดาวแห่งชาติแห่งแรก" ภายใต้ชื่อ "หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา" ณ บริเวณสถานีทวนสัญญาณโทรศัพท์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก.ม.ที่ 44.4 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการในพระราชดำริ และจะเสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ วันที่ 22 ม.ค.2556 นี้

จากการเข้าเยี่ยมชมหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางการ แม้การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงภูมิทัศน์ภายนอกจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็พอมองออกว่า หากหอดูดาวแห่งนี้พร้อม 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ จะเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับการศึกษาและวิจัยด้านดาราศาสตร์ของไทย ให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล 

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผอ.สดร. กล่าวว่า หอดูดาวแห่งนี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของดาราศาสตร์ไทยก็ว่าได้ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีกล้องโทรทรรศน์ที่ทันสมัย สำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระดับลึกได้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ 

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักดารา ศาสตร์ไทยทำงานร่วมกับต่างชาติได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีการส่งนักศึกษาไทยไปเรียนต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกในต่างประเทศจำนวนหลายสิบคน บุคลากรเหล่านี้จะกลับมาเป็นกำลังหลัก และใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการศึกษาวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ 

"ความรู้ทางดาราศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์โดยรวม เพราะดาราศาสตร์ คือวิชาวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาความเป็นไปของเอกภพทั้งหมด โลกเราเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของเอกภพ ฉะนั้นความเข้าใจที่เรามีต่อเอกภพ และสิ่งต่างๆ นอกโลก จะทำให้เราเข้าใจโลกของเรามากยิ่งขึ้น" ดร.ศรัณย์อธิบายความสำคัญ


สำหรับการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เริ่มต้นเมื่อเดือนม.ค.2553 โดยบริษัท แคปปิตัล มาลีนไฟเบอร์กล๊าส จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทั้งอาคารหอดูดาว และอาคารควบคุม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นสำคัญ
1.ติดตั้งอุปกรณ์เสริม

2.กล้องโทรทรรศน์ ขนาด 2.4 เมตร

3.ห้องควบคุม

4.ให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์

5.ให้ความรู้แก่ประชาชนที่มาเยี่ยมชม

6.ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา 





















สาเหตุที่เลือกตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว เนื่อง จากดอยอินทนนท์เป็น ที่สูงมีระดับความสูง 2,478.5 เมตรจากระดับน้ำทะเล วัดค่าทัศนวิสัย (Seeing Monitor) ได้เฉลี่ย 0.9 ฟิลิปดา และวัดความสว่างของท้องฟ้า (Sky Brightness) โชติมาตรเท่ากับ 22 ใกล้เคียงกับค่าที่วัดได้จากหอดูดาวสำคัญๆ เช่น หอดูดาวบนยอดเขามัวนาคี (Mauna Kea Observatories) รัฐฮาวาย สหรัฐ อเมริกา ซึ่งถือว่าค่อนข้างมืดมาก เหมาะสำหรับการศึกษาดาราศาสตร์

อีกทั้งบริเวณดอยอินทนนท์ยังมีความเหมาะสมในแง่ที่อยู่เหนือจากระดับฟ้าหลัว หรือมลภาวะในอากาศ โอกาสที่จะได้รับผล กระทบจากฝนฟ้าคะนอง หรือละอองฝุ่นและแสงไฟจากบ้านเรือนจึงมีน้อย จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีโอกาสที่ฟ้าเปิดโล่ง เหมาะแก่การสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลวัตถุท้องฟ้ามากถึง 149 วันต่อปี

ด้าน นายกันต์ธนากร น้อยเสนา นักเทคนิคดาราศาสตร์ สดร.กล่าวแนะนำระหว่างพาชมส่วนต่างๆ ของหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ว่าประกอบด้วยอาคารสำคัญ 2 ส่วน คือ อาคารควบคุม ชั้นล่างมีห้องพักสำหรับเจ้าหน้าที่ ชั้นที่ 2 เป็นห้องควบคุม การทำงานของกล้องโทรทรรศน์ ที่ควบคุมผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เจ้าหน้าที่สามารถสั่งการได้ทั้งจากคอมพิวเตอร์สำนัก งานหรือจากที่ต่างๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนี้

ส่วนที่ 2 คือ อาคารหอดูดาว ลักษณะเป็นอาคารรูปโดม 3 ชั้น ชั้นแรกติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าควบคุมทั้งหมด ชั้นที่ 2 ติดตั้งมอเตอร์ควบคุมการหมุนของโดมและพื้นอาคารทั้ง 3 ชั้น ให้สัมพันธ์กับตำแหน่งของกล้องโทรทรรศน์ และชั้นที่ 3 ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร มีอุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ติดตั้งบนตัวกล้อง อาทิ กล้องซีซีดีสเป๊กโตกราฟ และกล้องถ่ายภาพความไวสูง เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น เนื่องจากหอดูดาวตั้งอยู่ท่ามกลางผืนป่า จึงต้องควบคุมความชื้นไม่ให้เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ และควบคุมอุณหภูมิภายในและภายนอกโดมให้เท่ากันในช่วงที่กำลังเก็บข้อมูล ส่วนช่วงที่ไม่ได้ใช้งานจะให้ในโดมมีอุณหภูมิต่ำกว่า เพื่อรักษาสภาพของกล้องโทรทรรศน์



สำหรับกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ซึ่งเป็นกล้องหลักของหอดูดาวนี้ ถือได้ว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และใหญ่เท่ากับกล้องโทรทรรศน์ในประเทศจีน 

ออกแบบและสร้างโดย บริษัท อีโอเอส เทคโนโลยี อินซ์ จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา กระจกหลักของกล้องโทรทรรศน์ เป็นกระจกโค้งไฮเปอร์โบลา ซึ่งต้องทำความสะอาดและเคลือบใหม่ทุก 1 ปี 

ที่ผ่านมา สดร.ให้ทุนสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ทำหม้อเคลือบกระจก (Coating Chamber) ขึ้นเอง ทำให้ประหยัดต้นทุนสั่งซื้อจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก

"กล้องโทรทรรศน์นี้ใช้ศึกษาวัตถุบนท้องฟ้าได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นที่สว่างมาก เช่น ดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นกาแล็กซี ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ หรือ เนบิวลา สามารถศึกษาได้หมด และยังมีความสามารถติดตามดาวที่แม่นยำมาก นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมากของวงการดารา ศาสตร์ไทย" ตัวแทน สดร.กล่าว

นอกจากหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งใช้สำหรับการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์ของชาติแล้ว สดร.ยังก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน จะเปิดที่แรกใน จ.นครราชสีมา อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และยังมีอีก 4 แห่งใน จ.ฉะเชิงเทรา จ.สงขลา จ.พิษณุโลก และ จ.ขอนแก่น ที่จะทยอยเปิดให้บริการในโอกาสต่อไป 

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนก่อสร้าง "อุทยานดาราศาสตร์" ตั้งอยู่ห่างจากสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ ประมาณ 5 ก.ม. ประกอบด้วยอาคารสำนักงานของ สดร. ท้องฟ้าจำลอง และหอดูดาวขนาดเล็ก คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในอีก 3 ปีข้างหน้า

ทั้งหมดนี้คือความพยายามที่จะทำให้ "ดาราศาสตร์" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป



 

16 ม.ค. 56 เวลา 16:25 2,280 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...