"ความมี" ตัวชี้วัดความเสื่อม

ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งฟังผู้อาวุโสท่านหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "ลุง" เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยรอบๆ ตัว ฟังแล้วเห็นภาพและก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ลุงท่านนี้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นคนกรุงเก่าเล่าว่า ในสมัยก่อนก่อนที่สังคมจะเจริญเหมือนเช่นในทุกวันนี้ ก่อนที่จะมี โรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาในหมู่บ้าน คนอยู่กันอย่างเรียบง่าย มีวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ พึ่งพาและถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่รู้จักสนิทสนมกัน ทุกคน เวลาพ่อแม่แนะนำวิธีการเลือกคู่ครองให้ลูกสาว ก็จะบอกในทำนองที่ว่า ถึงแม้ชายหนุ่มจะมีเพียงมีดพร้าด้ามเดียว แต่หากเป็นคนดี ขยันขันแข็ง คนคนนั้นก็เหมาะที่จะเป็นคู่ครองของลูกสาวตน พ่อแม่เต็มใจที่จะยกลูกสาวพร้อมที่นาให้ไปเป็นทุนทำมาหากิน

แต่มาใน ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวนี้เวลาพ่อแม่จะเลือกคู่ครองให้กับลูกสาว หากชายหนุ่มคนใดมีเพียงมีดพร้าด้ามเดียว ก็อย่าหวังว่าจะได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวดองด้วย เพราะชายหนุ่มคนที่จะเข้ามาใช้ชีวิตคู่กับลูกสาวนั้นจะต้อง มีความพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและชื่อเสียงหน้าตา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ลูกสาวของตนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่าง สุขสบาย ขยันหรือไม่ไม่สำคัญ แต่ต้อง พรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุ และมีหน้ามีตาเป็นที่ยอมรับในสังคม

ลุงท่าน นั้นสรุปสุดท้ายว่า เป็นเพราะสังคมในปัจจุบันไม่ได้วัดความเป็นคนกันที่ "ความดี" แต่วัดกันที่ "ความมี" ความ สงบสุขที่เคยสัมผัสได้ในชุมชน ก็เลย แปรเปลี่ยนเป็นความสับสนวุ่นวายของคน ที่อยู่ร่วมกันแทน

สิ่งที่ลุงเล่ามานั้น สั้น ง่าย แต่ทำให้เห็นภาพชัดเจน

ภาพ ที่เห็นกันบ่อยๆ ในสังคมทุกวันนี้ ไม่ใช่ภาพของคนไทยที่ยิ้มแย้ม มีอัธยาศัยไมตรี มีน้ำใจเอื้ออาทรกันเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่กลับกลายเป็นภาพของคนเห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงดีกัน อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ ใครเด่นใครดัง

คนโบกรถเลือก อำนวยความสะดวกให้คนขับรถหรูคันโต และไม่สนใจคนขับรถ รุ่นประหยัดคันเล็ก ทั้งๆ ที่คนขับรถหรู คันโตคนนั้นร่ำรวยมาจากการโกงกินหรือ ทำธุรกิจผิดกฎหมาย และกำลังเผาผลาญเชื้อเพลิงอย่างทิ้งขว้างสิ้นเปลือง

คน ดูแลลูกค้าใส่ใจกับความต้องการของคนที่แต่งตัวหรูหรา ใช้ของแพง และเมินหน้าหนีคนแต่งตัวเรียบง่าย ใช้ของไทยราคาถูก ทั้งๆ ที่คนแต่งตัวหรูหราคนนั้น สุรุ่ยสุร่าย ทำเงินไหลออกนอกประเทศ ส่งผลให้เราเป็นหนี้ต่างชาติ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกบริโภคนิยมเลือดเย็น

คน สอนหนังสือดูแลประคบประหงม ลูกเจ้าของกิจการใหญ่โต และไม่แยแสกับลูกพ่อค้าแม่ขาย ทั้งๆ ที่ลูกเจ้าของกิจการคนนั้นเกเรไม่สนใจเรียน ทำตัวเป็นขาใหญ่ เกะกะระรานคนอื่น และกำลังถูกสั่งสอน ให้กลายสภาพเป็นปัญหาของประเทศชาติในอนาคต

คนรักษาโรคเอาใจใส่ใกล้ ชิดคนมีหน้า มีตาในสังคม แต่รักษาพยาบาลแบบเสียไม่ได้กับคนเดินถนนที่ไม่มีใครรู้จัก ทั้งๆ ที่คนมีหน้ามีตาในสังคมคนนั้นทำตัวเหลวแหลก มั่วสุมอบายมุข เอาเปรียบ คนอื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

คนรักษากฎหมายพร้อมรับใช้ตอบสนองความ ต้องการของคนร่ำรวย และไม่เต็มใจช่วยเหลือคนจน ทั้งๆ ที่คนร่ำรวยคนนั้น เป็นฝ่ายผิด ผิดทั้งทางกฎหมาย และผิด ทั้ง หลักจริยธรรม

นี่คือภาพที่ผิดเพี้ยนของความเป็นไปในสังคมที่ใช้ "ความมี" นำ "ความดี"

คน ในสังคมมองเห็นและยอมรับกันที่เปลือกภายนอกที่ตกแต่งด้วยวัตถุ เด็กๆ ถูกปลูกฝังจากพ่อแม่ให้รู้จัก "ความมี" ตั้งแต่เด็ก จัดหาวัตถุอำนวยความสะดวกสบายให้ อยากได้อะไรมีให้พร้อม ไม่น้อยหน้าใคร

เมื่อ เติบโตขึ้นมาก็กลายเป็นวัยรุ่นที่หมกมุ่นอยู่กับการเสพสุขจากวัตถุ ทำตัวฟุ่มเฟือยหรูหรา ไม่ให้ความสนใจกับการทำความดี มีความขยันหรือความอดทน อวดอ้างความร่ำรวยของตระกูล เปรียบเทียบคุณค่าของคนกันที่ตัวเลขในบัญชีธนาคาร

และเมื่อแก่ตัวลง ก็เปลี่ยนสภาพเป็นผู้ใหญ่โสมมสิ้นคิด สะสมวัตถุเงินทอง ละทิ้งความดีความถูกต้อง สลัดทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นคน มีลมหายใจในแต่ละวัน เพื่อแสวงหาความสุข สนองตัณหา ไม่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม รังเกียจความจน กังวลเรื่องความตาย

นี่แหละคือความเสื่อมของคนในสังคม

สังคมใดให้ความสำคัญกับ "ความมี" มากขึ้นเท่าใด "ความเสื่อม" ของสังคมนั้น ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ

แล้ว ถ้าพูดถึงในระดับองค์กรล่ะ ให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ตัวชี้วัด "ความมี" หรือตัวชี้วัด "ความดี" วัดความสำเร็จกันเฉพาะที่จำนวนผลงาน หรือวัดกันที่จำนวนพฤติกรรมที่ดีด้วย ให้โบนัสกันที่ยอดขายอย่างเดียวหรือให้รางวัลกับบรรยากาศของการทำงาน ร่วมมือร่วมใจกัน

เพราะหากองค์กรสนใจกันแต่เฉพาะผลลัพธ์หรือ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น โดยไม่สนใจกับวิธีการได้มาซึ่งผลลัพธ์หรือผลประโยชน์เหล่านั้น ภาพที่เกิดขึ้นในองค์กรก็คงจะเป็นภาพของคนที่ตั้งหน้า ตั้งตาสร้างผลงานของตัวเอง แต่ไม่สนใจที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือใคร หรือหากจะช่วยก็คงต้องชั่งน้ำหนักดูว่าตนจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ หรือไม่

หรือไม่ก็เป็นภาพของคนทำงาน ที่เห็นแก่ตัว ไร้มนุษยธรรม ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ผลงาน ถึงแม้จะต้องกลั่นแกล้งหรือ ใส่ร้ายป้ายสีเพื่อนร่วมงาน ถึงแม้จะต้องโกหกหรือขโมยผลงานคนอื่นมาเป็นของตน หรือถึงแม้จะต้องเหยียบย่ำซ้ำเติมสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใครๆ ก็ตาม

หนัก เข้า คนทำงานเหล่านี้ก็จะกลายสภาพเป็นเครื่องจักรที่ไร้จิตใจ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการผลิตที่ไม่มีความเป็น "คน" เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเลือดเย็นในสังคม ที่เลือกสะสม "ความมี" ละทิ้ง "ความดี" องค์กรถดถอย สังคมตกต่ำ

เพราะแท้ที่จริงแล้ว "ความมี" คือตัวชี้วัดของ "ความเสื่อม" นั่นเอง

#ความมี
cesc_44444444
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
12 ก.พ. 53 เวลา 21:55 1,611 5 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...