ย้ำสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ข้ามคำพิพากษา"ศาลโลก"

คดีปราสาทพระวิหารหวนกลับมาเป็นประเด็นการเมือง สร้างบรรยากาศร้อนๆ หนาวๆ ให้ชาวบ้านที่อยู่ชายแดนไทย-กัมพูชา รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับกัมพูชาที่อยู่ในฐานะสมาชิกอาเซียนอีกครั้ง

"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงผม เคยพูดคุยกับ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่าขอให้กัมพูชาถอนเรื่องนี้ออกจากศาลโลกได้หรือไม่ ซึ่งท่านบอกว่าคดีนี้ขึ้นศาลไปแล้ว ขอให้จบในชั้นศาลดีกว่า เพราะกัมพูชาต้องดูแลประชาชนและประเทศของเขา ถ้ารัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศไทยตั้งแต่แรก เรื่องก็คงไม่ถึงศาลโลก อีกทั้งต้องแยกแยะการเมืองกับเรื่องส่วนตัว" นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวสรุปถึงความคืบหน้าล่าสุดของคดี

ก่อนย้ำว่า สำหรับไทยอยู่ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร เราต้องเคารพคำสั่งศาลโลก ขอร้องคนไทยว่าอย่าใช้อารมณ์ เพราะอาจทำให้ไทยถูกคว่ำบาตรจากยูเอ็น หรือถ้าเกิดสู้รบกัน อาจเกิดปัญหาและยูเอ็นอาจส่งกำลังทหารเข้ามาเพื่อยุติการปะทะกัน

ส่วนที่พูดถึงผลลัพธ์สุดท้ายว่าไทย "มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง" นั้น รมว. ต่างประเทศกล่าวว่า ถูกนำไปตีความว่าจะยอมแพ้ให้กัมพูชา แล้วนำเรื่องนี้ไปแลกกับผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งตนยืนยันว่าไม่เคยมีการเจรจาเรื่องดังกล่าว

ด้านกัมพูชา หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ โดย นายโจ ฟรีแมน มีมุมมองว่าไทยกำลังตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จากคดีปราสาทพระวิหาร เพราะขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ แต่ผู้นำฝ่ายค้านกลับเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิเสธคำพิพากษาใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในศาลโลก

ฟรีแมนระบุว่า จากรายงานของสื่อไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์รับทราบแผนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่จะจัดประท้วงปลายเดือนนี้ และส.ส.ฝ่ายค้านที่ทวงถามถึงความชอบธรรมของศาลโลกที่จะตัดสินข้อพิพาทครั้งนี้ แต่ขอร้องว่า "กรุณาชุมนุมด้วยความสงบ และอย่าเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาล"

นายโจยังชี้ว่า มีปรากฏการณ์ดราม่าเกิดขึ้นในไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศประกาศจะเปิดโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารเพื่อขจัดความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ไทยแพ้ แต่ปฏิกิริยาตอบกลับรุนแรงจนรัฐมนตรีต่างประเทศประกาศว่าจะไปศาลโลกด้วยตัวเอง เพราะอยากไปมองหน้า นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา ให้เสียสมาธิ

ศาลโลกจะไต่สวนกรณีพระวิหารในเดือนเม.ย. นี้ เพื่ออธิบายการตัดสินใจยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา เมื่อปี 2505 ให้กระจ่างชัด และชี้แจงถึงอำนาจครอบครองของกัมพูชา ขณะที่เกิดการปะทะนองเลือดมาตลอด 5 ปี

นางเชีย วันนัธ นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชา กล่าวว่า กรณีพระวิหารเป็นเหมือนระเบิดเวลาสำหรับไทย แต่ไม่ได้เร้าอารมณ์ชาวกัมพูชา สักเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของมาตั้งแต่สิ้นสุดคำตัดสินปี 2505 นั่นแล้ว

"กัมพูชารู้สึกว่ามันไม่ใช่ประเด็นใหญ่โต แต่มันเป็นประเด็นทางการเมืองของไทยมากกว่า พรรครัฐบาลกัมพูชาทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับทุกคน ทำให้ไม่มีการประท้วง ไม่มีอะไรต้องกังวล" นางเชียกล่าว

ขณะที่หนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชาเดลี่รายงานว่า กระทรวงต่างประเทศของกัมพูชาแถลงว่าเตรียมเอกสารและหลักฐานไว้พร้อมแล้ว โดยจะยื่นต่อจากไทย ตามกำหนดคือวันที่ 15-19 เม.ย. ทั้งนี้ กัมพูชายื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลโลกเมื่อเดือนพ.ค. 2554 หลังจากไทยเข้ายึดครองพื้นที่ รอบปราสาทพระวิหารในปี 2551 ด้านศาลโลกสั่งให้กัมพูชาและไทยถอนกำลังทหารออกจากบริเวณปลอดทหารโดยรอบพื้นที่ ซึ่งทั้งสองประเทศต่างส่งกำลังตำรวจเข้าไปประจำการแทน

รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ต่อกรณีพิพาทคดีปราสาทพระวิหารว่า

"อันที่จริงทางกัมพูชาได้เริ่มแสดงท่าทีที่จะสานสัมพันธ์กับไทย ด้วยการลดโทษ นายวีระ สมความคิด และปล่อยตัว น.ส.ราตรี พิพัฒน ไพบูรย์ หลังต้องโทษจำคุกในกัมพูชาเพราะละเมิดกฎหมายของเขา จุดนี้แสดงให้เห็นว่ากัมพูชามีความพยายามที่จะปรับความเข้าใจกับไทย ขณะเดียวกันทางเรายังไม่มีท่าทีคืบหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับกรณีนี้ ไทยต้องตระหนักให้ได้ว่าอย่างไรแล้วเรากับกัมพูชาก็เป็นเพื่อนบ้าน ถ้ามีปัญหาอะไรก็ขอให้พูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกัน

รัฐบาลไทยจะต้องแสดงออกชัดเจนว่าเราเห็นความสำคัญของมิตรภาพระหว่างประเทศเป็นเรื่องหลัก

ส่วนคดีปราสาทพระวิหาร คงต้องติดตามการให้ปากคำด้วยวาจาครั้งสุดท้ายในเดือนเม.ย.นี้ ว่าทั้งสองฝ่ายจะกล่าวถึงกรณีพื้นที่เขตแดนที่มีปัญหาอย่างไรบ้าง ซึ่งนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญควรวิเคราะห์คำอ้างของแต่ละฝ่ายว่าสมเหตุผลทั้งในด้านกฎหมาย การต่างประเทศ การทูต และความเป็นจริงหรือไม่ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนไทย เพราะไม่ว่าผลสรุปของคดีนี้จะออกมาเป็นเช่นไร เราและกัมพูชายังต้องคบค้าไปมาหาสู่ติดต่อกัน

ทั้งผู้นำ รัฐบาล และประชาชนของทั้งสองประเทศจะต้องมีความสามัคคีในฐานะชาติสมาชิกอาเซียนที่อยู่ร่วมประชาคมเดียวกัน แม้บางครั้งจะมีความขัดแย้ง เราต้องแสดงตัวอย่างของผู้มีวุฒิภาวะ หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาโดยเพิ่มปัญหา แต่ให้หันหน้าปรึกษาหารือกันแทน

จากนี้ไปจนถึงปลายปีที่ศาลจะมีคำตัดสินออกมา เราต้องเร่งย้ำความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านกับกัมพูชา และไม่ว่าคดีจะสิ้นสุดอย่างไร ปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายลงด้วยดี"
 


 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...