เด็กร้อยละ 50 รับรู้พฤติกรรมข่มเหง ด่า เผยความลับผ่านโลกไซเบอร์ น่าห่วงมองเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็ทำได้
10 สถาบันที่ศึกษาวิจัยด้านสังคม และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ของเยาวชนไทยเขตกรุงเทพมหานคร” ซึ่งสำรวจความคิดเห็นถึงรูปแบบและพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของวัยรุ่นผ่าน เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ประเภทโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต โดยการสัมภาษณ์เยาวชนที่กำลังศึกษาในสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนเขตกรุงเทพฯ จำนวน 2,000 ราย
อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 50 เคยเห็นรับรู้ พฤติกรรมการข่มเหงผ่านโลกไซเบอร์ ได้แก่ การส่งข้อความด่าทอผู้อื่น การส่งข้อความ/ข้อมูลที่เป็นความลับของบุคคลให้ผู้อื่น ผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ต และการคุกคามผู้อื่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 48 เคยตกเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำเอง ร้อยละ 30 มีการโต้ตอบกลับ ซึ่งที่น่าห่วงคือส่วนใหญ่มองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนก็ทำ และสามารถทำได้ตามอำเภอใจ ทั้งอยากเห็นการกระทำความรุนแรงมากขึ้น
กลุ่ม ตัวอย่างที่แสดงความรุนแรงผ่านโลกไซเบอร์มากที่สุดคือ กลุ่มเด็กอาชีวะ โดยร้อยละ 25 ของเด็กอาชีวะมาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ร้อยละ 48 แยกออกมาอยู่หอพักตามลำพัง อาชีพครอบครัวส่วนใหญ่รับจ้างและมีการศึกษาระดับประถมศึกษา ชี้ให้เห็นว่าความอบอุ่น ความแข็งแรงของครอบครัว รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจะส่งผลสำคัญให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดู และสั่งสอนเชิงคุณธรรมแก่บุตรหลาน
ทั้งยังพบว่าเด็กใช้เวลามากกว่า 5-12 ชั่วโมง/ครั้ง/วัน ในการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อการสนทนากับเพื่อน บันเทิง ไม่ใช่เพื่อการศึกษา นอกจากนี้ยังพบเยาวชนร้อยละ 97 เข้าถึงโทรศัพท์มือถือทุกคน และอายุต่ำสุดคือ12 ปี ทั้งยังพบด้วยว่าเยาวชนกว่าร้อยละ 60 มองเห็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ และร้อยละ 90 ใช้โทรศัพท์มือถือในทางที่ไร้สาระ ถึงขนาดนักศึกษาอาชีวะบางแห่งยังถูกรุ่นพี่บังคับให้ดาวน์โหลดโลโก้สถาบัน เพื่อแสดงบารมี ซึ่งเรื่องนี้หากไม่รีบแก้ไขจะเป็นการเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ