กระอัก! ขึ้นค่าแรง - ค่าไฟ ทำราคาสินค้าพุ่ง คาดอีก 4 เดือนเห็นผล

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

            ผู้ประกอบการเจอพิษต้นทุน หลังปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท และค่าไฟฟ้า ทำให้สินค้าต่าง ๆ ส่งสัญญาณขึ้นราคา คาดเห็นผลชัดในอีก 4 เดือน ขณะที่รัฐบาลเล็งออก 5 มาตรการช่วยเหลือ

            หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 และมีการประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) ตามมาติด ๆ อีก 4.04 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องเลิกกิจการและลดจำนวนพนักงานลง

            ทั้งนี้ ภาคเอกชนต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท และขึ้นราคาค่าไฟฟ้าดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรวมถึงจะทำให้ราคาสินค้าในตลาดแพงขึ้นเป็นโดมิโน ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มีโอกาสปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

            โดย นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความกังวลว่าต้นทุนที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการต่าง ๆ ทำให้ต้องมีการปรับราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า เนื่องจากขณะนี้บางบริษัทอาจจะยังมีสต็อกวัตถุดิบอยู่ ทางออกตอนนี้คือการลดต้นทุนให้ได้ 10 – 15%

            ด้าน นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (ATSME) กล่าวว่า ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น สมาชิกธุรกิจขนาดกลางจะแก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เน้นการไปออกงานแฟร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มากขึ้น และทางสมาคมจะมีการเพิ่มศักยภาพให้สมาชิกด้วยการจัดอบรมต่าง ๆ

            ส่วน นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ผู้ประกอบธุรกิจด้านการบริการ ให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมระดับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะมีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น 20 – 25% ส่วนอัตราค่าไฟที่ปรับขึ้นอาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากต้นทุนค่าไฟจะแปรผันตามอัตราการเข้าพัก

            ขณะที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนเองได้มีการประชุมร่วมกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 

โดยเตรียมเสนอ 5 มาตรการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 8 มกราคมนี้ ประกอบด้วย

             1. มาตรการลดค่าธรรมเนียมโรงแรมที่ต้องเสียให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 50% เป็นเวลา 3 ปี
             2. ตั้งคลินิกเคลื่อนที่พัฒนาฝีมือแรงงาน ณ สถานประกอบการและสถานศึกษา
             3. เพิ่มงบประมาณประชุมสัมมนาให้กับส่วนราชการ
             4. จัดคาราวานสินค้าราคาถูก ผ่านร้านธงฟ้าและร้านค้าถูกใจ
             5. ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากเดิม 3% เหลือ 2%

Credit: http://hilight.kapook.com/view/80467
7 ม.ค. 56 เวลา 22:40 905 5 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...