ละเอียด อ่อนไหว ประเด็น เขาพระวิหาร ไทย กับ กัมพูชา

ถูกต้องแล้วที่การพบระหว่าง ผบ.เหล่าทัพ และผบ.ตร.กับนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้ตกผลึกออกมาเป็นความคิดที่จะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง

ทำงานเพื่อรับมือกับเรื่อง "เขาพระวิหาร" โดยเฉพาะ

ถูกต้องเพราะว่ากรณีเขาพระวิหารมากด้วยความละเอียดอ่อนต่อเนื่องจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชนถึงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

เป็นความละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์กับกัมพูชา

เป็นความละเอียดอ่อนอันมิได้สัมพันธ์กับรัฐบาลไม่ว่าโดยพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าโดยพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่สัมพันธ์กับกลไกอำนาจรัฐทางกองทัพอย่างเป็นพิเศษ

การเกาะเกี่ยวกับ "กองทัพ" เกาะเกี่ยวกับ "ทหาร" จึงมีความจำเป็น

ความห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่ส่งผ่านไปยัง ผบ.เหล่าทัพ และผบ.ตร.ในห้วงแห่งการอวยพรปีใหม่จึงเกิดขึ้นในจังหวัดอันเหมาะสมและถูกต้อง

เพราะในที่สุดแล้วรัฐบาลต้องอาศัยกลไกของกองทัพมาให้ความช่วยเหลือ

ที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ การตอบคำถามต่อสังคม ทั้งต่อภาคประชาชน และต่อแต่ละพลังทางการเมืองที่ให้ความสนใจในเรื่องละเอียดอ่อนนี้

จังหวะก้าว "เขาพระวิหาร" จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างสูง

ประเด็นแรกที่ "คณะทำงาน" อันประกอบส่วนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ จักต้องขบคิดและตีให้แตกคือ

รากฐาน หรือ มูลเชื้อ อันกลายเป็นปัญหา

หากไปสอบถามจากฝ่ายการเมือง คำตอบอันเป็นความเคยชินถ้ามาจากพรรคเพื่อไทยก็ต้องโทษพรรคประชาธิปัตย์ ถ้ามาจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องโทษพรรคเพื่อไทย

จากพรรคเพื่อไทยโยงไปยังพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย

แต่ความเป็นจริงที่หลายคนไม่น่าจะลืมก็คือ ต้องย้อนไปยังรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และอุบัติแห่งแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา อันเกี่ยวกับกัมพูชาจะนำเอาปราสาทพระวิหารไปจดทะเบียนเป็นมรดกโลก

ต้องถามตัวเองว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ หากสะสางรายละเอียดของเรื่องนี้ไม่กระจ่างก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะกระจ่างในคำตอบอันได้มา

ยอมรับหรือไม่ว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ยอมรับหรือไม่ว่ามีพื้นที่ทับซ้อนอันยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายในเวลาอันรวดเร็วและถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และในยุคแห่งโลกาภิวัตน์เช่นนี้จะบริหารจัดการอย่างไรกับพื้นที่ทับซ้อนนั้นๆ

ที่เป็นปัญหานับแต่เดือนมิถุนายน 2551 เป็นต้นมาก็จากความเห็น "ต่าง" ในเรื่องนี้

ความเห็น "ต่าง" นี้ได้ขยายและบานปลายออกไปเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2551

ลองย้อนกลับไปดูสถานการณ์ตลอดปี 2552 ดูว่าเป็นอย่างไร

การปะทะขัดแย้งทางความคิดขยายกลายเป็นปัญหาทางการเมือง และที่สุดนำไปสู่การสาดกระสุนเข้าใส่กัน

เรื่องพัฒนาจาก "ทวิภาคี" เป็น "พหุภาคี"

ไม่เพียงแต่มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หากมติของที่ประชุมยังมอบหมายให้องค์การอาเซียนเป็นเจ้าภาพในการคลี่คลายปัญหา

และเมื่อมิอาจยุติได้ในระดับทวิภาคีเรื่องก็เข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

เท่ากับย้อนกลับไปสู่เส้นทางเดิมเหมือนกับยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกครั้งหนึ่งนั่นก็คือ การทบทวนและตีความคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

ละเอียดอ่อนกระทั่งต้องมี "คณะทำงาน" เพื่อเตรียมรับมือโดยตรง

ไม่ว่ารัฐบาล ไม่ว่าหน่วยงานอันเกี่ยวกับความมั่นคง ไม่ว่าพรรคการเมือง ล้วนต้องมีการทบทวนและสรุปบทเรียนอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

หาสัจจะจากความจริงให้จงได้

จึงถูกต้องแล้วที่รัฐบาลและกองทัพเห็นตรงกันเรื่องการจะจัดตั้ง "คณะทำงาน" ต่อ เขาพระวิหาร

1 ศึกษาข้อมูลความเป็นจริงของปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างเป็นภววิสัย 1 ทำความเข้าใจและให้คำตอบกับประชาชนอย่างเป็นระบบและอย่างมีการตระเตรียม

อย่างน้อยก็เพื่อมิให้ทำความผิดพลาดซ้ำเป็นคำรบ 2
 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...