เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกพ.มีมติเห็นชอบการประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ ประจำเดือน ม.ค. – เม.ย. 56 ขึ้น 4.04 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมกับเอฟทีเดิมเอฟทีงวดนี้จึงเท่ากับ 52.04 สต.ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประชาชนเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.72 บาทต่อหน่วยเป็น 3.76 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟทีที่ปรับขึ้นเกิดจากต้นทุนค้างจ่ายของประชาชนที่ กฟผ.แบกรับภาระไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่การลดค่าไฟฟ้าช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 -ต้นปี 55 โดยช่วงนั้น กฟผ.แบกรับภาระกว่า 10,000 ล้านบาท และทาง กกพ.พิจาณาเกลี่ยต้นทุนภาระดังกล่าวคืนแก่ กฟผ. จนทำให้งวดนี้เหลือเพียง 5,131 ล้านบาท และจะมีการเกลี่ยอย่างต่อเนื่องโดยงวดหน้าเหลืออีกประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท จะมีผลทำให้คาดว่าค่าไฟฟ้างวดต่อไปยังปรับเพิ่มขึ้น
“กกพ.ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาวะเศรษฐกิจ และไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จึงเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นในอัตราดังกล่าว จากเดิมที่หน่วยงานผลิตไฟฟ้าเสนอปรับขึ้นมาในอัตรา 13.57 สต.ต่อหน่วย โดยต้นทุนที่มีภาระในส่วนนี้ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมรับภาระแทนประชาชนเป็นการชั่วคราวไปก่อนวงเงิน 5,131 ล้านบาท”
นายดิเรก กล่าวว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังเกิดจากประเทศพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซชั่วคราวประมาณเดือน ก.พ. และเดือนเม.ย. นี้ ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าต้องมีการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติบางส่วน จึงทำให้ต้นทุนขยับสูงขึ้น ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ทรงตัวระดับสูง
ทางด้านนายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้น 4.04 สต.ต่อหน่วยนั้นไม่ถือว่าสูงมาก แต่ที่ภาคอุตสาหกรรมกังวลคือค่าเอฟทีปรับขึ้นมาตลอดทุกๆ 4 เดือน ส่งผลให้ค่าเอฟทีสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดไปอยู่ที่ 52 สต.ต่อหน่วยแล้ว หากเป็นแบบนี้ต่อไปก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องค่าไฟฟ้าบ้าง ไม่อย่างนั้นทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนแน่นอน