ในรอบปี 2555 มีบุคคลที่โดดเด่นบนเวทีโลกมากมาย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้คัดเลือกบุคคลจากรอบโลก 10 คน
โดยประมวลจากผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ และอิทธิพลในตัวบุคคลที่ส่งผลต่อพลวัตการเมืองและสังคมโลก โดยแบ่งออกเป็นทั้งชายและหญิง ดังต่อไปนี้
ออง ซาน ซู จี
หญิงแกร่งแห่งเอเชียที่ยืนหยัดต่อสู้กับระบอบเผด็จการ นับตั้งแต่ปี 2532 หลังจากที่เธอมุ่งมั่นสานต่อเจตนารมณ์ของบิดาผู้ล่วงลับ เธอก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ขึ้น และเข้าลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับฝ่ายทหาร เมื่อปี 2533 ถึงแม้ว่าจะถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านก็ตาม แต่เธอก็ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากชาวเมียนมาร์ในขณะนั้นการต่อสู้โดยปราศจากความรุนแรงของเธอ ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2534
ต่อมาเมียนมาร์ได้มีการปฏิรูปการเมือง นำโดยพลเอกเต็ง เส่ง ซูจีได้รับอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ต้องถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านมาอย่างยาวนาน เธอกลับสู่สนามเลือกตั้งในเดือนเมษายนและคว้าชัยชนะ ปัจจุบันเธอรับบทผู้นำฝ่ายค้านและได้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ พร้อมกับโปรโมตเมียนมาร์ให้เป็นที่ยอมรับในสายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง
อังเกลา แมร์เคิล
กว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนีผู้นี้จะมายืนบนแท่นฝ่ายบริหาร เธอต้องเผชิญกับข้อครหาจากนักการเมืองชายต่าง ๆ นานา แต่เธอก็สามารถแสดงศักยภาพ โดยการเอาชนะนายแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อการเลือกตั้งในปี 2548 ตลอดจนคว้าชัยชนะอีกหนหนึ่ง เมื่อปี 2552
นอกจากหนทางการเมืองที่พิสูจน์ความสามารถของเธอแล้ว “วิกฤตหนี้ยูโรโซน” ยังเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหญิงเหล็กเมืองเบียร์คนนี้ ด้วยการทำงานที่หนัก ประกอบกับมาตรการรัดเข็มขัด ที่เยอรมนีเป็นตัวตั้งตัวตี ส่งผลให้สื่อหลายสำนักยกให้เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลลำดับต้น ๆ ของโลก แต่นอกเหนือจากวิกฤตการเงินแล้ว เธอยังมีงานหนักชิ้นใหญ่รออยู่ อย่างการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2556
โซเนีย คานธี
ในฐานะที่ “อินเดีย” เป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจแห่งเอเชีย บุคคลเบื้องหลังการเมืองอินเดียจึงน่าจับตามองไม่น้อย อย่าง “นางโซเนีย คานธี” ภรรยานายราจีฟ คานธี ผู้ล่วงลับ และเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของ “นางอินทิรา คานธี”
ลูกสาวนายชวาหระลาล เนห์รู อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย ซึ่งการก้าวขึ้นอำนาจของนายมันโมฮาน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบัน ก็เป็นการชงมาจากนางโซเนีย คานธี โดยหลังจากการเลือกตั้งในปี 2547 ที่
นางคานธีได้รับชัยชนะเหนือนายอะตัล พิหารี วัชปายี แต่เธอปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหาร เนื่องจากเกรงข้อครหาที่เธอไม่ใช่คนอินเดียแต่โดยกำเนิด แต่เป็นชาวอิตาเลียน นอกจากให้คำปรึกษานายซิงห์แล้ว เธอยังผลักดันนายราหุล คานธี ลูกชายของเธอ ให้เป็นทายาททางการเมือง ซึ่งอาจไต่ขึ้นสู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ในอนาคตอีกด้วย
คริสตีน ลาการ์ด
นางคริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คนปัจจุบัน ได้รับการแต่งตั้งหลังจากที่นายโดมินิก สเตราส์-คาห์น จำใจลาออกเพราะเรื่องอื้อฉาว โดยนางลาการ์ดนับได้ว่าเป็นสตรีคนแรกที่เข้ามากุมบังเหียนสถาบันแห่งนี้ ภูมิหลังของเธอเคยเป็นถึงรัฐมนตรีเศรษฐกิจในยุคนายฟรังซัวส์ ฟียง
นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกในกลุ่มจี-8 อีกด้วยในรอบปีที่ผ่านมา เธอได้เสนอแนะพร้อมทั้งติติงการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่มาโดยตลอด ผลการทำงานของเธอทำให้สื่อสำคัญ
หลายฉบับ อย่างนิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับให้นางลาการ์ดติดอยู่ในอันดับ 40 จาก 100 อันดับผู้ทรงอิทธิพลทั่วโลก
ดิลมา รุสเซฟฟ์
เธอก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีบราซิลในปี 2553 ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ทางการเมืองของเธอ ตลอดจนงานท้าทายต่าง ๆ ที่เป็นงานค้างคาจากรัฐบาลชุดก่อน อย่างการจัดฟุตบอลโลกในปี 2557 และมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2559 ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำและปัญหายาเสพติดที่มีอยู่มาก ทำให้นางรุสเซฟฟ์ถูกนักการเมืองในประเทศตั้งข้อสงสัยถึงความสามารถในการทำงานของเธอ แต่ท้ายที่สุดเธอก็แสดงให้หลายฝ่ายได้เห็น อย่างการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้โตอยู่ที่ 2.7% จากที่หลายฝ่ายมองว่าในปี 2553 บราซิลจะโตเพียงแค่ 1.5% เท่านั้น ทั้งยังทำให้ลดอัตราการว่างงานของประเทศลดลงจนต่ำที่สุดในประวัติการณ์
บารัก โอบามา
ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกแห่งสหรัฐ ที่เตรียมกลับสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่สอง หลังคว้าชัยชนะเหนือนายมิตต์ รอมนีย์
คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน พร้อมกับนโยบายหว่านเอาใจคนรากหญ้าตามแบบฉบับพญาอินทรี ซึ่งนอกจากนโยบายในประเทศที่ครองใจจนได้รับความไว้วางใจอีกครั้ง นโยบายการต่างประเทศที่เป็นมิตรมากกว่ารัฐบาลจอร์จ บุช พร้อมกับการเข้ามากระชับสัมพันธ์กับชาติทางเอเชียมากขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามปิดล้อมจีน แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ทั่วโลกจับตามอง
นายโอบามาในครั้งนี้ คงหนี้ไม่พ้นการแก้ไขปัญหาหน้าผาการคลัง (fiscal cliff) ที่จะไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปทั่วโลก โดยนิตยสารฟอร์บส์และนิตยสารไทม์ต่างยกตำแหน่งบุคคลแห่งปีให้กับนายโอบามา
ไซ หรือปาร์ก แจ-ซัง
ไซ หรือปาร์ก แจ-ซัง เจ้าของท่าเต้นสุดฮิตกังนัมสไตล์ ที่ยอดเข้าชมในเว็บไซต์ยูทูบสูงเป็นประวัติการณ์กว่าพันล้านครั้ง โดยนายแจ-ซังได้รับความนิยมรวดเร็วไปทั่วโลก ฝ่ากระแสต่อต้านเกาหลีที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเอเชีย ตลอดจนสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับต้นสังกัดและตัวเขาเอง
ไม่เพียงแต่ชาวเน็ตเท่านั้นที่ไปตามกระแสปรากฏการณ์ไซเบอร์ แต่นักการเมืองระดับโลก อย่างนายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ได้ยกย่องให้ท่าเต้นกังนัมสไตล์ เป็นพลังเพื่อสันติภาพโลก
หู จิ่น เทา
จีนเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดภายใต้การนำของประธานาธิบดีหู จิ่น เทา ที่ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจเมื่อปี 2542 และจะส่งไม้ต่อให้นายสี จิ้น ผิง ภายในเดือนมีนาคม ปี 2556 หากมองย้อนกลับไปในช่วงที่นายหูอยู่ในอำนาจ จะพบว่าจีนมีความเปลี่ยนแปลงไปสูงมาก
ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ที่จีนพยายามมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ตลอดจนการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งก้าวหน้าขึ้นอย่างน่าตกใจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายหลายอย่างที่นายหูยังไม่สามารถแก้ไข อย่างปัญหาในทิเบต กรณีขัดแย้งในซินเจียง รวมไปถึงการพัฒนาที่เหลือมล้ำระหว่างจีนชายฝั่งตะวันออกกับจีนตะวันตก
วลาดิมีร์ ปูติน
ประธานาธิบดีใหม่ หน้าเก่า กับการได้รับเลือกกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียอีกครั้ง หลังจากที่เป็นประธานาธิบดีแล้ว 2 สมัยก่อนหน้านี้ แต่ด้วยกฎหมายกำหนดวาระของประธานาธิบดี ส่งผลให้นายปูตินต้องสลับตำแหน่งกับนายดิมิตรี เมดเวเดฟ เป็นการชั่วคราว เพื่อกรุยทางสู่อำนาจอีกครั้ง ในเดือนตุลาคม
ผู้นำกระดูกเหล็ก อดีตหน่วยข่าวกรอง KGB ของโซเวียต กุมอนาคตของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนเป็นประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รวมไปถึงมีน้ำมันและก๊าซสำรองมากที่สุดในโลก การขยับตัวของปูตินจึงถูกจับตามองจากทั่วโลก
เดวิด คาเมรอน
ผู้นำรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ตลอดจนเป็นหนึ่งในผู้ที่สั่นคลอนเสถียรภาพความอยู่รอดของยุโรป หลังจากที่ความเคลื่อนไหวของ “นายเดวิด คาเมรอน” ที่ได้ปฏิเสธคำขอของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี ที่ต้องการเสียงของอังกฤษในการเพิ่มงบประมาณของสหภาพยุโรป
นอกจากศึกนอกแล้ว นายคาเมรอนยังต้องเผชิญกับศึกใน กับเศรษฐกิจอังกฤษที่อยู่ในช่วงขาลง รวมไปถึงกระแสการแยกตัวเป็นประเทศเอกราชของสกอตแลนด์ ที่ทั้งรัฐบาลกลางสหราชอาณาจักรและสกอตแลนด์เห็นชอบที่จะจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการแยกดินแดน
ในปี 2557
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์