สวนสัตว์ดังเปิดตัว ‘ตุ๊กกาย’ สัตว์ชนิดใหม่ของโลกต้อนรับปีใหม่ ผู้คนแห่ชม

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ที่ศูนย์จัดแสดงสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สวนสัตว์นครราชสีมา นายกีรติ กันยา นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ 6 หัวหน้างานสัตว์เลื้อยคลานฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ นำตุ๊กกายประดับดาว , ตุ๊กกายท้าวแสนปม และตุ๊กกายหมอบุญส่ง รวม 3 กลุ่ม ซึ่งถูกค้นพบเป็นชนิดใหม่ของโลก มาจัดแสดงเพื่อสร้างความรู้และสร้างสีสันความแปลกใหม่ ต้อนรับประชาชนที่เดินทางมาท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ ท่ามกลางประชาชนสนใจนำบุตรหลานเข้าเที่ยวชมนับร้อยคน

 

 

นายกีรติเปิดเผยว่า จากการค้นพบโดยคณะทีมวิจัย ประกอบด้วยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมง ระดับชำนาญการ สนง.ประมงทางทะเล จ.ระนอง นายโอลิเวียร์ โอเอส จี พาว์เวล ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลานประเทศเบลเยี่ยม ดร.สันสรียา วังกุรางกูล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลาศรีนครินทร์ นายอวัช นิติกุล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต และนายภมร สัมพันธมิตร ผอ.โครงการคืนชะนีสู่ป่า มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันใช้เวลากว่า 5 ปี ในการศึกษาค้นคว้า สำรวจค้นหาสัตว์ในกลุ่มตุ๊กกายลายพาด หรือ Cyrtodactylus pulsellus เพิ่มอีก 4 กลุ่มใหม่ของโลก ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยและพื้นที่ติดกับภาคเหนือของมาเลเซีย

 

 

 

ประกอบด้วย

 

1.ตุ๊กกายประดับดาว Cyrtodactylus astrum เป็นตุ๊กกายขนาดใหญ่ ตัวสีน้ำตาล อมเหลือง มีเกร็ดตุ่มยอดมนบริเวณหลัง มีลายจางๆ พาดจากปลายจมูกจนถึงตา บริเวณต้นคอมีลาย 4 แถบ พาดไปกับลำตัวจนถึงโคนขาหลัง มีจุดขาว หรือจุดสีเหลือง กระจายทั่วทั้งแถบ มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า มีถิ่นอาศัยในพื้นที่เขาหินปูนในป่าดิบชื้น และบนเกาะในเขตช่องแคบมะระกา กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ จ.สตูล เกาะตะรุเตา และตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย

 

 

 

2.ตุ๊กกายท้าวแสนปม Cyrtodactylus macrotuberculatus ลักษณะเด่นมีหัวขนาดใหญ่ ลำตัวหนา มีเกล็ดเป็นตุ่มขนาดใหญ่กระจายทั่วตัว พบหากินตามต้นไม้ขนาดใหญ่ พื้นที่บริเวณหินแกรนิตขนาดใหญ่ในป่าดิบชื้น ป่าทดแทน และสวนยางพาราที่มีความชื้นสูง ขุดดินเป็นรูทำรัง หากินเวลากลางคืน กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่จังหวัด ตรัง สงขลา พัทลุง นราธิวาส เกาะอาดัง-ราวี จ.สตูล และหมู่เกาะในเขตช่องแคบมะระกา

 

 

 

3.ตุ๊กกายหมอบุญส่ง Cyrtodactylus lekaguli มีชื่อพ้องสำคัญคือ Cyrtodactylus pulchellus Gray ,1827 ลักษณะเด่นมีตัวสีน้ำตาลอมเหลือง มีลายสีน้ำตาลเข้มคาดระหว่างไหล่ถึงโคนขาหลัง จำนวน 4-6 แถบ มีจุดขาวเรียงตามขอบแถบ มีเกร็ดตุ่มบริเวณหลังขนาดใหญ่ ถิ่นอาศัยบริเวณเขาหินปูนในป่าดิบชื้น กระจายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางของประเทศไทย ตามแนวเทือกเขานครศรีธรรมราช และเขาบรรทัด จรด จ.สตูล

 

 

 

ทั้งหมดได้รับการรับรองว่าค้นพบเป็นครั้งแรกของโลก จาก Dr.Lee Grismer รองบรรณาธิการ วารสาร Zootaxa และคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัย La Sierta เมื่อช่วงกลางปี พศ.2555 ที่ผ่านมานี้ แม้ลักษณะทางกายภาพของตุ๊กกายจะคล้ายคลึงกับตุ๊กแก แต่แตกต่างด้านพฤติกรรมการเอาชีวิตรอดในธรรมชาติ เช่น ฝ่ามือ-ตีนของตุ๊กกาย จะไม่มีปุ่มดูดเกาะ การวางไข่เป็นลูกแยกกัน ไม่เกาะติดกันเป็นแผง

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...