ตามหาปักษาสวรรค์

แสงอาทิตย์ยามเช้าอาบไล้ฉากเกี้ยวพาราสีของนกปักษาสวรรค์ใหญ่บนเกาะโวกัม ทางตอนใต้ของนิวกินี นกเพศผู้จะจิกทึ้งใบไม้จากกิ่งก้านบนเรือนยอดเพื่อเตรียม “เวที” สำหรับวาดลีลาเกี้ยวสาว

เมื่อเก้าปีก่อน ชายสองคนเริ่มต้นภารกิจค้นหาอันน่าทึ่ง นั่นคือ การออกตามหาและบันทึกภาพนกปักษาสวรรค์ในตำนานทั้งหมด 39 ชนิดเป็นครั้งแรก หลังการสำรวจ 18 ครั้ง และภาพถ่ายกว่า 39,000 ภาพ ความฝันของทั้งคู่ก็เป็นจริง
   
ในนิวกินีจิงโจ้ปีนต้นไม้ และผีเสื้อตัวโตพอ ๆ กับจานร่อนบินว่อนไปทั่วป่าดิบชื้นที่ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมออกลูกเป็นไข่วิ่งเพ่นพ่านไปตามพื้นดินเฉอะแฉะ กบมีจมูกยาว และแม่น้ำอุดมไปด้วยปลาสายรุ้ง
   
แต่ไม่มีสัตว์น่าพิศวงชนิดใดในนิวกินีที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลงใหลได้มากเท่ากับสิ่งมีชีวิตที่อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ นักธรรมชาติวิทยาสมัยศตวรรษที่สิบเก้าเรียกว่า “เจ้าของเรือนขนที่งดงามและน่าอัศจรรย์ที่สุดในโลก” นั่นคือนกปักษาสวรรค์อีกแล้ว
   
นกปักษาสวรรค์ทั้ง 39 ชนิด พบได้เฉพาะบนเกาะนิวกินีและพื้นที่ใกล้เคียงอีกเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น แม้จะมีการสำรวจและวิจัยนกดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ยังไม่มีใครเคยเห็นพวกมันครบทั้ง 39 ชนิด จนกระทั่งบัดนี้
   
เมื่อปี ค.ศ. 2003 เอดวิน สโกลส์  นักปักษีวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และทิม เลเมน นักชีววิทยาและช่างภาพ เริ่มวางแผนภารกิจค้นหาและบันทึกภาพนกปักษาสวรรค์ทุกชนิดพันธุ์ พวกเขาใช้เวลา 8 ปี และการสำรวจ 18 ครั้ง ในดินแดนแปลกตาที่สุดบางแห่งของโลก จนสามารถเก็บภาพการเกี้ยวพาราสีและพฤติกรรมที่วงการวิทยาศาสตร์ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน
   
ในโลกธรรมชาติคงมีความอัศจรรย์อีกเพียงไม่กี่อย่างที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของนกเพศผู้ในวงศ์ Paradisaeidae ตั้งแต่การแพนเรือนขนสีทองอร่าม การเริงระบำที่แลดูชวนขัน ไปจนถึงขนและแผงคอสีเหลือบรุ้ง และสีสันที่เจิดจรัสยิ่งกว่าอัญมณี ความวิลิศมาหราทั้งหมดนี้บังเกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์เดียวเท่านั้น นั่นคือการดึงดูดความสนใจของนกเพศเมีย
   
นกปักษาสวรรค์เป็นตัวอย่างสุดขั้วของทฤษฎีการคัดเลือกทางเพศ (Sexual Selection) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน กล่าวคือ เพศเมียจะเลือกคู่โดยตัดสินจากลักษณะพิเศษบางอย่างที่ดึงดูดใจ ซึ่งทำให้ลักษณะสืบสายพันธุ์เหล่านั้นมีโอกาสถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากขึ้น ความที่นิวกินีมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์และแทบไม่มีศัตรูผู้ล่า นกเหล่านี้จึงแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ลักษณะสืบสายพันธุ์อันโดดเด่นสำแดงออกมาแทบจะเรียกได้ว่าไร้ขีดจำกัด
   
เลเมนและสโกลส์ตั้งเป้าที่จะบันทึกภาพนกเหล่านี้ในลักษณะที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน นั่นคือ ถ่ายจากมุมมองของนกเพศเมีย บนเกาะบาตันตาทางตะวันตกของนิวกินี เลเมนต้องปีนป่ายถึง 50 เมตรขึ้นไป ยังเรือนยอดของป่าดิบชื้นเพื่อถ่ายภาพพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของนกปักษาสวรรค์สีแดง ส่วนบนคาบสมุทรฮิวออน ห่างออกไปทางตะวันออกราว 2,000 กิโลเมตร เขาติดตั้งกล้องถ่ายภาพไว้บนกิ่งไม้โดยทำมุมกดลงเพื่อให้ได้มุมมองของนกเพศเมียที่เห็นแผงขนอกสีสันสดใส และแผ่เป็นจีบรอบของนกพาโรเทียวาห์เนสเพศผู้
     
แม้ทั้งคู่จะมีประสบการณ์ภาคสนามในพื้นที่เขตร้อนมาแล้วก่อนที่จะเริ่มภารกิจครั้งนี้ แต่ไม่มีใครคาดคิดถึงการผจญภัยที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า พวกเขาต้องนั่งหลังขดหลังแข็งไปกับเฮลิคอปเตอร์ และเดินป่าเป็นระยะทางไกล ๆ ไปตามเส้นทางที่น้ำท่วมขัง ต้องลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเลถึงสองครั้งสองคราเมื่อเครื่องยนต์เรือเสีย รวม ๆ แล้วพวกเขาต้องนั่งเฝ้ารอและเฝ้าดูอยู่ในบังไพรกว่า 2,000 ชั่วโมง เพื่อแลกกับช่วงเวลาแห่งการค้นพบอันน่าตื่นตา
           
การพบเห็นนกมานูคอดโจบิขนสีฟ้าและดำเป็นมันวาวเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2011 เป็นการปิดฉากการสำรวจอันยาวนาน สโกลส์และเลเมนหวังว่าผลงานของพวกเขาจะปลุกกระแสการอนุรักษ์ขึ้นในนิวกินี ที่ซึ่งถิ่นอาศัยของนกเหล่านี้ได้รับการปกป้องมาจนถึงปัจจุบันเพียงเพราะอยู่ห่างไกล ดังเช่นที่วอลเลซบันทึกไว้ว่า “ธรรมชาติดูเหมือนจะเตรียมการไว้ทุกขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจได้ว่า สมบัติอันล้ำค่าที่สุดเหล่านี้จะไม่สูญเสียคุณค่าไปเพียงเพราะได้มาโดยง่าย”.

ภาพ : ทิม เลเมน
เรื่อง : เมล ไวต์

23 ธ.ค. 55 เวลา 15:25 5,410 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...