วันที่ 23 ธ.ค. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด รายงานว่า ที่วัดบุฝ้าย ตำบลบุฝ้าย อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี หลังจากที่มีข่าวร่ำลือว่ามีพระสงฆ์ที่มรณภาพมานานกว่า 9 ปี สังขารไม่เน่าไม่เปื่อย แถมยังมีผิวหนังเหลืองเหมือนสีทอง และเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ยิ่งนักกับผู้พบเห็น ตรวจสอบพบสังขารของพระครูเขมวัตรสุนทร หรือ (หลวงปู่จำปา) อดีตเจ้าอาวาสวัดบุฝ้าย ที่มรณภาพทางวัดได้บรรจุร่างของท่านไว้ในโลงแก้ว ที่ศาลาการเปรียญของวัด ในสภาพศพเหมือนคนหลับทั่วไปผิวหนังแห้ง และยังมีสีเหลืองเหมือนทองคำ เส้นผมของท่านทุกเส้นไม่ร่วงหลุดยังคงสภาพเดิม เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามาจากที่ท่านเป็นพระนักปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกองค์หนึ่ง จึงทำให้สังขารของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย เพื่อไว้ให้ญาติโยมและลูกศิษย์ของท่านได้กราบไว้บูชา แต่ละวันจะมีชาวบ้านและญาติโยมที่เคารพนับถือในตัวท่านมากราบไว้เป็นประจำอย่างไม่ขาดสาย
ทางด้านพระครูประสิทธิวรธรรม เจ้าคณะตำบลบุฝ้าย เจ้าอาวาสวัดบุฝ้ายองค์ปัจจุบัน กล่าวว่า พระครูเขมวัตรสุนทร สมัยที่ท่านบวชได้ศึกษาธรรมะและเป็นพระนักปฏิบัติอีกรูปหนึ่งของหวัดปราจีนบุรี ที่มีชื่อเสียงในสายปฏิบัติของหลวง พ่อเอีย หลวงพ่อจาด และหลวงปู่เส็ง ซึ่งพระเกจิของเมืองปราจีนบุรีในสมัยนั้น จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวอำเภอประจันตคามและข้างอำเภอข้างเคียง เรื่อยมา ส่วนที่ร่างของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย ผิดแปลกกับศพทั่วไปที่ตายแล้วต้องเน่าเปื่อยเป็นเรื่องปกติ
ส่วนประวัติของ พระครูเขมวัตรสุนทร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงปูจำปา เกิดวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2452 เกิดที่จังหวัดยโสธร โดยมีนายสอ และนางบัว ไชยรักษ์ เป็นบิดามาร และมาอุปสมบทเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2487 ที่วัดประสาทรังสฤษฏ์ ตำบลหนองแสง อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบุฝ้ายเมื่อปีพ.ศ.2492 เรื่อยมา จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นเจ้าคณะตำบลชั้นโท
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2546 ได้เข้ารับการรักษาตัวที่ ร.พ.ประจันตคาม แต่อาการของท่านไม่ดีขึ้นจึงส่งไปรักษาที่ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 พระครูเขมวัตรสุนทร หรือหลวงปู่จำปา ได้มรณภาพลงอย่างสงบ สิริรวมอายุ 94 ปี 8 เดือน 5 วัน นับตั้งแต่วันมรณภาพจนปัจจุบันรวม 9 ปี 1 เดือน 10 วัน ส่วนศพของท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันกล่าวว่าจะไม่เผา จะเก็บสังขารของท่านไว้ในวิหารที่กำลังก่อสร้างเพื่อให้ชาวบ้านและลูกศิษย์ของท่านได้กราบไว้บูชาต่อไป