คำแนะนำในการเลือกทนายความ

 

คำแนะนำในการเลือกทนายความ :: สภาทนายความ

ประชาชน ที่มีความจำเป็นต้องใช้บริหารของทนายความ จะมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกทนายความอย่างไร? คำถามใดที่ควรจะถามและทำความเข้าใจกับทนายความก่อนอื่นใด? และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

--------------------------------------------------------------------------------
ถ้าหากเลือกทนายความผิด...แทนที่จะได้คนมาช่วยแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาความเดือดร้อนของเราแล้ว อาจจะเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มเป็นทวีคูณก็ได้ ถ้าผู้ที่ต้องการทนายความสามารถเตรียมตัวในการพบทนายความสามารถเตรียมตัวใน การพบทนายความได้ดีแล้วก็จะทำให้ทนายความสามารถทำงานให้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นการประหยัดเวลาของผู้ได้รับความเดือดร้อนและของทนายความได้อย่างดี และยังเป็นการลดความขัดแย้งของลูกความกับทนายความ ซึ่งทำให้คดีมรรยาททนายความลดน้อยลงไปด้วย คำแนะนำดังต่อไปนี้เป็นเพียงหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ควรปฏิบัติในการพบทนาย ความครั้งแรก

ขอดูใบอนุญาตทนายความ

ผู้ประกอบอาชีพทนายความต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาทนายความเท่านั้น ซึ่งก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตว่าความ ต้องได้รับการทดสอบว่าเป็นผู้ที่ต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมาย และได้รับการฝึกฝนการใช้กฎหมายมาเป็นอย่างดี รวมทั้งได้รับการอบรมเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางวิชาชีพแล้ว ซึ่งสภาทนายความมีอำนาจในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมมาเป็นทนายความ จึงเสมือนหนึ่งเป็นการรับรองว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตว่าความต้องเป็นผู้มีมาตรฐานการประกอบวิชาชีพขั้นต่ำแล้ว

ผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตว่าความ หากมาทำการว่าความในศาล หรือแต่งฟ้องคำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลง อันเกี่ยวแก่การพิจารณาในศาล เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา33 จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 82 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เชื่อหรือไม่? ในปัจจุบันนี้ มีสำนักงานทนายความบางแห่งที่ประกอบกิจการมานานนับสิบปี โดยเจ้าของสำนักงานหรือผู้ประกอบการดังกล่าวไม่ได้รับใบอนุญาตว่าความ แต่จะทำการเป็นผู้ให้คำแนะนำทางด้านกฎหมาย เมื่อจะว่าความก็จะใช้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตว่าความดำเนินการในชั้นศาล บุคคลทั่วไปจะเห็นแต่ท่าทางภูมิฐาน พูดจะมีหลักมีเกณฑ์น่าเชื่อถือ โดยปกปิดเรื่องที่ไม่ได้รับใบอนุญาตว่าความหรือบางครั้งแอบอ้างว่าเป็น
ทนายความด้วย เมื่อให้คำแนะนำกฎหมายที่ผิดพลาดก็ไม่รับผิดชอบ หรือหากมีการละทิ้งงานหรือฉ้อโกง หรือหลอกลวงเงินของลูกความแล้ว สภาทนายความก็ไม่มีอำนาจเข้าไปลงโทษแต่อย่างใด ซึ่งเป็นช่องว่างของกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการมรรยาททนายความได้รับหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติการณ์ เหล่านี้หลายเรื่อง แต่ไม่อาจลงโทษบุคคลดังกล่าวได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ในขณะนี้ สภาทนายความกำลังพยายามแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมถึงการจดทะเบียนสำนักงานทนาย ความด้วย ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ ก็จะทำให้สภาทนายความมีอำนาจเข้าไปควบคุมการดำเนินการของสำนักงานทนายความ ที่ประพฤติมิชอบได้ อันจะเป็นปกป้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนอีกทางหนึ่งด้วย

ทนายความบางคนอาจถูกสภาทนายความลงโทษเพราะประพฤติผิดมรรยาททนายความ โดยมีโทษห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปีหรืออาจถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ถ้าทนายความดังกล่าวยังขืนไปว่าความในศาลหรือแต่งฟ้องคำให้การฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลง อันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาล กระบวนพิจารณาที่ดำเนินไปโดยทนายความดังกล่าวจะเสียไปทันที ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อลูกความด้วย ทนายความดังกล่าวอาจถูกศาลลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็ได้ ทนายความที่ถูกห้ามทำการเป็นทนายความแล้วยังขืนไปทำการว่าความ จะมีโทษตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 82 ประกอบกับมาตรา 33 ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับ
ไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการลงโทษเป็นเพียงห้ามทำการเป็นทนายความ ยังอาจถือได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการขัดคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความ หรือสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ อันเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หมวด 6 ข้อ 21 อีกส่วนหนึ่งด้วย ส่วนทนายความที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความแล้ว ยังขืนทำการว่าความถือว่า ไม่ได้รับใบอนุญาตว่าความ ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 82 ดังกล่าว มาแล้วข้างต้น แต่คนที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดก็ยังคงเป็นผู้เลือกหรือแต่งตั้ง

ดังนั้น หากสอบถามแล้ว ได้ความยังไม่ชัดเจนหรือมีข้อสงสัย ก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ นายทะเบียนทนายความ หรือที่สำนักงานคณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ โทรศัพท์ 0-2629-1430 ต่อ 106, 107

ถามทนายความว่า มีความสัมพันธ์ส่วนตัวอะไรกับบุคคลที่จะเป็นคู่ความกับตนหรือไม่?

หากมีการแต่งตั้งให้เป็นทนายความแล้ว ทนายความบางคนอาจจะมีผลประโยชน์ขัดกันในการทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่ลูกความ

การที่จะแต่งตั้งทนายความ หมายถึง การที่จะแต่งตั้งให้ทนายความทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้แต่งตั้ง หากทนายความมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่ความฝ่ายตรงข้าม เช่น เป็นญาติหรือเป็นเพื่อนสนิทกับฝ่ายตรงข้ามหรือมีผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับ จากคู่ความฝ่ายตรงข้าม เช่น เป็นที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้วหรือเป็นทนายความให้แก่ฝ่ายตรง ข้ามหรือทนายความมีส่วนได้เสียจากกรณีที่พิพาทกัน เช่น ทนายความเป็นผู้จะซื้อที่ดินที่จะพิพาทกัน หรือเป็นผู้มีสิทธิจะได้รับมรดกเป็นที่ดินที่จะพิพาทกัน เป็นต้น ก็อาจจะทำให้ทนายความคนนั้นไม่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้แต่งตั้งทนาย ความได้ ปัญหานี้อาจพบได้ในต่างจังหวัด ซึ่งมีสังคมที่แคบกว่าในกรุงเทพมหานคร ทุกคนในจังหวัดอาจรู้จักกันและมีผล
ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ ทนายความที่ได้รับเป็นทนายความหรือได้ปรึกษาคดี ได้ทราบข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว ไปทำหน้าที่ทนายความให้กับอีกฝ่ายหนึ่งอาจจะ มีความผิดเปิดเผยความลับของลูกความ หรือรับปรึกษาคดีแล้วภายหลัง มาทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นการประกอบอาชีพที่เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์และวิชาชีพทนายความ อันเป็นประพฤติผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนาย ความ พ.ศ.2529 หมวด 3 ข้อ 11, 13 หรือ 18 ก็ได้ ดังนั้น ทนายความไม่ควรรับปรึกษาคดีที่มีปัญหาดังกล่าว

สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในคดี และค่าทนายความ

ทนายความมีวิธีการเรียกค่าใช่จ่ายและค่าทนายความไม่เหมือนกัน ซึ่งโดยทั่วไปทนายความจะขอให้ลูกความเล่าเรื่องย่อแล้ว จะให้ความเห็นทางกฎหมาย แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายก่อน จึงจะกำหนดค่าใช้จ่ายและค่าทนายความ ซึ่งควรสอบถามรายละเอียดหรือข้อสงสัยเพื่อให้ทนายความอธิบายให้ชัดแจ้งด้วย

ทนายความบางคนจะเรียกค่าใช้จ่ายและค่าทนายความเป็นการเหมาจ่ายตลอดทั้งสามศาล หรือเหมาจ่ายเป็นรายศาล บางรายจะเรียกค่าใช่จ่ายตามที่จ่ายจริงแยกต่างหากจากค่าทนายความ แยกกันแต่ละศาล

ค่าใช้จ่ายในศาล หากเป็นคดีแพ่ง ต้องวางเงินค่าขึ้นศาล เป็นเงินร้อยละ 2.5 ของทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน และกำหนดค่าขึ้นศาลสูงสุดที่ศาลจะเรียกไม่เกิน 200,000 บาท ถ้าเป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์ ต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียม 200 บาท ค่าใบแต่งทนายความ 20 บาท ค่าคำร้อง 20 บาท คำขอ 10 บาท ค่าอ้างพยานเอกสารใบละ 5 บาท แต่ไม่เกิน 200 บาท ประมาณค่าคำร้อง คำขอ และค่าใช้จ่ายอื่นคดีละไม่เกิน 2,000 บาท

หากคดีมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราเดียวกันข้างต้น และต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ ที่ศาลสั่งให้ใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่ง ไปวางศาลด้วย ในกรณีที่ตัวความเป็นผู้ยากจน ก็อาจขอให้ทนายความยื่นคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาได้ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งให้ไต่สวนและมีคำสั่งต่อไป หากเป็นคดีอาญาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาทั้งหมด

เคยมีคดีมรรยาททนายความหลายคดีที่ทนายความเรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากลูกความ สูงกว่าที่กำหนดในกฎหมาย เช่น เรียกในอัตราร้อยละ 3 หรือร้อยละ 5 บางรายไม่แจ้งให้ลูกความทราบว่ากฎหมายกำหนดเพดานสูงสุดของค่าฤชาธรรมเนียม ไว้ ทำให้ได้รับเงินสูงกว่าที่จะต้องนำไปวางศาล โดยนำมาเป็นประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นการใช้อุบายด้วยประการใด ๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ ลูกความได้ตกลง สัญญาให้อันเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หมวด 3 ข้อ 14

ค่าทนายความ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการดำเนินคดีและความมีชื่อเสียงของทนายความ หรือ ของสำนักงานทนายความ มีวิธีการคิดค่าทนายหลายแบบ เช่น คิดเป็นอัตราร้อยละ จากทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน เช่น ร้อยละ 3 ร้อยละ 5 ร้อยละ 10 ร้อยละ 20 ของทุนทรัพย์ เป็นต้น หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน หรือคิดเป็นรายชั่วโมงของการทำงานของทนายความ หรืออาจคิดเป็นรายครั้งที่ต้องไปทำงานว่าความที่ศาลหรือไปติดตามสืบค้นหา ข้อเท็จจริงแห่งคดี เป็นต้น

ค่าทนายความไม่มีการกำหนดแน่นอนว่าควรจะเรียกเท่าใด แต่ในทางจริยธรรมวิชาชีพทนายความแล้ว ค่าทนายความควรจะเรียกในจำนวนที่เหมาะสม ไม่ใช่เป็นการขูดรีดจากตัวความในขณะที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เคยมีคดีที่ทนายความเรียกค่าจ้างเฉพาะในชั้นบังคับคดีเป็นเงิน 60,000 บาท ทั้งที่คดีมีทุนทรัพย์เพียง 80,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการประกอบอาชีพที่เสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของ ทนายความตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ข้อ 18

มอบคดีให้ทนายความ

เมื่อได้สอบถามปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวจนเป็นที่พอใจว่า จะว่าจ้างทนายความดังกล่าวแล้ว ก็ควรส่งมอบคดีให้ทนายความดำเนินการ โดยควรบันทึกข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยละเอียด ระบุรายละเอียดของพยานเอกสารพยานบุคคล ที่อยู่ของพยานบุคคลดังกล่าว และวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อให้ทนายความสามารถทำงานต่อไป ได้อย่างรวดเร็ว โดยควรให้ทนายความลงชื่อรับบันทึกและพยานเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือด้วย เพื่อไม่ต้องมาโต้แย้งกันในภายหลังว่า ทนายความได้รับเอกสารดังกล่าวไปแล้วหรือยัง

ทำสัญญาจ้างว่าความ

ควรขอให้ทนายความทำหนังสือสัญญาจ้างว่าความให้ละเอียดถูกต้องตามที่ได้เจรจากันมา หากมีข้อความในหนังสือสัญญาข้อใดไม่ชัดเจนหรือไม่เข้าใจ ก็ขอให้ทนายความชี้แจง หรือขยายความในหนังสือสัญญาให้ชัดเจน เพื่อมิให้เป็นปัญหาในภายหลัง และผู้แต่งตั้งทนายความควรจะต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างว่าความให้เคร่งครัด

การเก็บเอกสาร

ควรเก็บสำเนาเอกสารที่ส่งมอบให้แก่ทนายความตลอดจนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี หนังสือโต้ตอบระหว่างท่านกับทนายความให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อประโยชน์ในการค้นหาและติดตามคดี หรือใช้อ้างอิงในภายหน้า

การติดตามผลคดีอย่างใกล้ชิด

ควรติดตามผลคดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินการแล้วก็ตาม เพราะผลดีหรือผลเสียแห่งคดี ย่อมต้องตกแก่ตัวความเพียงฝ่ายเดียว หากละเลยไม่สนใจผลคดีแล้ว หากมีข้อผิดพลาดแล้วจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้

แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมทันที

หากคู่ความฝ่ายตรงข้ามติดต่อมาหรือมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม ต้องรีบแจ้งให้ทนายความทราบทันที เพราะข้อมูลบางอย่างที่ท่านเห็นว่าไม่สำคัญ อาจจะมีความหมายสำคัญต่อทนายความในการดำเนินคดีก็ได้ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง และรวดเร็วจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดีอย่างยิ่ง

วันนัดของศาล

ต้องจดจำวันนัดของศาลให้แม่นยำ มิฉะนั้นหากท่านไม่ไปศาลในวันนัด ไม่ว่าจะเป็นเพราะหลงลืมหรือไม่ก็ตาม คดีท่านอาจจะได้รับความเสียหาย โดยไม่มีทางแก้ไขได้

มีปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับคดีให้สอบถามทนายความทันที

เมื่อมีปัญหาสงสัยเกี่ยวกับคดีที่มอบหมายให้ทนายความ ให้รีบสอบถามหรือขอคำอธิบายจากทนายความทันที อย่ามัวแต่เกรงใจ ต้องสอบถามหรือขอคำอธิบายจนเข้าใจดี มิฉะนั้น ปัญหาข้อข้องใจดังกล่าวอาจทำให้ผลของคดีต้องได้รับความเสียหาย หรือกลายเป็นปัญหาใหญ่ติดตามมา หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับทนายความก็ได้


Credit: http://www.lawyerthai.com/articles/people/004.php
10 ก.พ. 53 เวลา 15:10 3,746 2 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...