ระวังไว้! รับซิมการ์ดแจกฟรี อาจเพลียกับหนี้ค่าบริการ

 

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , เฟซบุ๊ก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
 
          โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่แทบทุกคนหาซื้อหาใช้ได้ง่ายไปแล้ว และยิ่งปัจจุบันนี้การเปลี่ยนค่ายย้ายเบอร์ทำได้ง่ายแสนง่าย ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทุกค่ายจึงเร่งอัดโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเลือกใช้เครือข่ายของตัวเอง บางค่ายก็ให้เจ้าหน้าที่ไปแจกซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือฟรีตามสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านด้วย ซึ่งเราเห็นกันบ่อย ๆ และเชื่อไหมว่า ภายหลังเรื่องนี้ได้กลายปัญหาน่าปวดหัวของใครหลายคนเลยทีเดียว

          โดยทางด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาหลังได้รับการแจกซิมฟรีจำนวน 179 กรณี เป็นของทรูมูฟเอช 91 เรื่อง ไอโมบายพลัส 74 เรื่อง ทรูมูฟ 10 เรื่อง ดีแทค 3 เรื่อง และเอไอเอส 1 เรื่อง 

          ทั้งนี้ ทางสำนักงานได้แก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ร้องเรียนเหล่านี้ไปทั้งหมดแล้ว โดยข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างผู้ให้บริการกับผู้บริโภคคือ เมื่อได้รับซิมฟรีจะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หากยังไม่มีการเปิดใช้บริการ แต่พบว่าหลังจากนั้นผู้บริโภคถูกเรียกเก็บค่าบริการเหมาจ่ายรายเดือนทั้ง ๆ ที่ยังไม่เปิดใช้บริการ ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ให้ไว้ ทั้งนี้ แต่ละบริษัทได้ส่งแนวทางการแก้ไขปัญหามาที่สำนักงานแล้ว โดยบางส่วนยอมยุติและลดค่าบริการรายเดือนให้แก่ผู้ใช้บริการ และบางส่วนแก้ไขปัญหาโดยไม่แจ้งวิธีการมาที่สำนักงาน

          นางสาวสารี ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ขอแนะนำให้ประชาชนเก็บหลักฐานทั้งหมดที่ได้มาจากผู้ให้บริการ และระมัดระวังการให้หลักฐานต่างๆ แก่ค่ายมือถือ เช่น สำเนาบัตรประชาชน เพราะนั่นเป็นเหมือนการลงนามการเป็นสมาชิกรายเดือนของค่ายนั้นๆ เบื้องต้นมีความเห็นให้เงื่อนไขแนบท้ายสัญญา กทค.ควรมีอำนาจในการกำกับดูแลปัญหาตรงนี้ เพราะเป็นปัญหาระดับต้น ๆ ที่สำคัญมาก
 
          ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า หลายคนที่ได้รับซิมการ์ดแจกฟรีร้องเรียนเข้ามากันมากว่า มีบิลค่าโทรศัพท์ส่งมาถึงตัวเองตามที่อยู่ที่กรอกไว้ในตอนรับซิมการ์ดฟรี ทั้งที่ยังไม่ได้เปิดใช้บริการหมายเลขนั้นเลย และไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร 
 
          เมื่อเจอคนร้องเรียนบ่อย ๆ เข้า ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการรับซิมการ์ดแจกฟรี โดยต้องสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ให้เข้าใจถ่องแท้เพื่อจะได้ไม่ต้องนั่งกลุ่มกับค่าบริการที่จะถูกเรียกเก็บภายหลัง แม้ว่าคุณจะยังไม่ได้เปิดใช้ซิมการ์ดหมายเลขนั้นก็ตาม ดังที่โพสต์ไว้ใน เฟซบุ๊ก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดังนี้
 
 รู้ไว้ก่อนรับซิมฟรี
 
          1.สอบถามรายละเอียดของซิมให้เข้าใจ เช่น โครงข่ายสัญญาณอะไร ครอบคลุมพื้นที่ใช้บริการของท่านหรือไม่ เป็นซิมรายเดือนหรือเติมเงิน และมีโปรโมชั่นแบบไหน
 
          2. หากคุณตัดสินใจรับซิม ก็อย่าให้เอกสารสำคัญกับใคร จนกว่าจะได้อ่านสัญญาครบถ้วน เพราะหากส่งสำเนาบัตรประชาชนให้กับผู้หนึ่งผู้ใดไปแล้ว เขาอาจจะกรอกข้อมูลและอาจจะเซ็นชื่อแทนเราได้ทันที
 
          3. ต้องอ่านเอกสาร และทำความเข้าใจให้ชัดแจ้งจนหมดความเคลือบแคลงสงสัย ก่อนลงมือเซ็นชื่อในเอกสารนั้น

          4. หลังจากเซ็นสัญญาแล้วต้องเก็บสำเนาเอกสารสัญญา และเก็บข้อมูลที่อยู่ของผู้ประกอบการเป็นหลักฐานว่าได้รับซิมจากใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ รูปแบบการให้บริการเป็นอย่างไร
 
          5. เก็บใบเสร็จ ใบแจ้งหนี้ ใบปลิวโฆษณา แผ่นพับช่วงที่รับซิมฟรีนั้นไว้ด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่สามารถใช้สืบพยานได้ หากต้องมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
 
 วิธีแก้ปัญหาซิมฟรีแถมค่าบริการ
 
          1. ทำหนังสือบอกเลิกสัญญา และปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้ โดยส่งหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัทเจ้าของซิม เพื่อขอให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการ พร้อมระบุเหตุผล เช่น ยังไม่ได้ใช้ซิม แต่กลับมีใบแจ้งหนี้มา หรือการให้บริการผิดไปจากเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
 
          2. ส่งจดหมายแบบลงทะเบียนตอบรับไปยังบริษัทของซิมฟรีที่เราไปรับมา

          3. แจ้งยกเลิกบริการที่ศูนย์บริการของซิมฟรีนั้น หรือส่งอีเมลไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของซิมนั้น เช่น 
 
               ซิมของทรู voc@truecorp.co.th 
 
               ซิมของดีแทค complaint@dtac.co.th
 
               ซิมของเอไอเอส complaint_center@ais.co.th
 
          4. ร้องเรียนไปที่ 1200 สายด่วน กสทช. หรือร้องเรียนไปที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค complaint@consumerthai.org
 
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
Credit: http://hilight.kapook.com/view/79703
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...