ภาพประกอบ จากอินเตอร์เน็ต
คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายคะ อย่าเพิ่งวางใจว่า บ้านคือที่ที่ปลอดภัยที่สุดแล้วสำหรับลูก หากยังไม่ได้จัดการบ้านให้เรียบร้อย เจ้าตัวเล็กอาจจะเจ็บตัว เพราะจุดอันตรายในบ้านเหล่านี้ได้
1.พื้นห้อง
ควรรีบเช็ดพื้นห้องเปียกชื้นให้แห้ง หรือห้ามไม่ให้เด็กไปเล่นในบริเวณที่มีพื้นลื่น ๆ เพราะอาจจะทำให้ลื่นหกล้ม
ทำความสะอาดพื้นให้เกลี้ยง อย่าให้มีเศษของเล็ก ๆ เช่น กระดุม เมล็ดถั่ว ลวดเย็บกระดาษ ข้าวสาร ยา ตกหล่นหลงเหลืออยู่ เพราะลูกอาจจะเก็บกินเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และติดคอเป็นอันตรายได้
หากใช้พรมปูพื้น ควรหมั่นดูดฝุ่นออกจากพรม เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมเก็บฝุ่นและเชื้อโรคเอาไว้
ขณะปัดกวาดทำความสะอาด ควรแยกให้เด็กอยู่ที่ห้องอื่น
2.ตู้-โต๊ะ
ปิดล็อกตู้ ลิ้นชักทุกครั้ง เพื่อกันเด็กไปดึงหรือเปิดเล่น เพราะของในตู้หรือลิ้นชัก อาจจะหล่นลงมาทับเด็กได้
ตู้หรือลิ้นชักที่เก็บของใช้ที่มีอันตราย เช่น ยา ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือของมีคมอย่าง มีด กรรไกร ต้องเก็บให้มิดชิด ล็อกให้ดีทุกครั้ง หรือนำไปเก็บในที่ที่แน่ใจว่าปลอดภัยพ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันเด็กเอาของอันตรายเหล่านี้ไปเล่น
หิ้งวางของที่แขวนตามข้างฝา ควรติดตั้งให้มั่นคง ไม่ควรใส่ของมากจนรับน้ำหนักไม่ไหว และบอกให้ลูกรู้ว่าหิ้งไม่ใช่ปีนป่ายเล่นสำหรับเด็ก ๆ
หากโต๊ะที่ใช้มีมุมแหลมเหลี่ยมคม ซึ่งเป็นอันตรายกับลูก ควรหาซื้อยางปิดมุมมาใส่เพื่อป้องกัน และถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ ก็ควรเลิกใช้ไปก่อน (โดยเฉพาะโต๊ะกระจกที่แตกง่าย)
ไม่ควรใช้ผ้าคลุมโต๊ะหรือโต๊ะกาแฟ เพราะเด็กอาจจะดึงชายผ้าทำให้ของบนโต๊ะเช่น แก้ว จาน ชาม ตกแตก หรือน้ำร้อน ๆ หกมาโดนลูกได้
3.ประตู-หน้าต่าง
ปิดประตูหรือหน้าต่างที่ไม่ได้ใช้งานให้ดี เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกประตูหน้าต่างหนีบมือ
เมื่อเปิดปิดประตู ควรระวังประตูกระแทกโดนเด็กที่อยู่ใกล้ ๆ ประตูด้วย และไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ มาเล่นแถวประตูและหน้าต่างซึ่งเป็นจุดที่เกิดอันตรายได้ง่าย
ลูกบิดประตูควรอยู่สูงพ้นมือเด็ก เพื่อกันการเปิดหรือปิดล็อกขังตัวเอง
สำหรับประตูห้องที่ไม่ต้องการให้ล็อก เช่น ห้องน้ำ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ พาดที่ขอบประตูเพื่อกันการล็อกได้ และควรมีกุญแจสำรองไว้เสมอ
4.บันได
ให้ติดประตูกั้นตรงบริเวณทางลงบันได และลงกลอนให้แน่นหนาทุกครั้ง เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกลงมา
อย่าปล่อยให้ลูกเล็กขึ้นลงบันไดตามลำพัง ถึงแม้ว่าจะเริ่มขึ้นบันไดเป็นบ้างแล้วก็ตาม
ติดยางที่ขอบบันไดเพื่อกันลื่นและปิดเหลี่ยมคม ๆ ของบันได
5.ปลั๊กไฟ
ถ้าปลั๊กไฟอยู่ต่ำใกล้มือเด็ก ควรใส่ที่ครอบปลั๊กไฟไว้ เพื่อป้องกันเด็กถูกไฟดูดจากการเล่นปลั๊กไฟ
บริเวณใดในบ้านที่ไม่มีการใช้ไฟฟ้า หรือนาน ๆ ถึงจะใช้ที ก็ควรสับสะพานไฟลงเสีย
6.ของใช้ไฟฟ้า
เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ความร้อน เช่น เตารีด เตาอบ เครื่องปิ้งขนมปัง ต้องเก็บหรือตั้งไว้ที่พ้นมือเด็ก และต้องบอกกับเด็กว่าของเหล่านี้ร้อนมาก ห้ามจับหรือเล่นเด็ดขาด
ย้ำเตือนถึงอันตรายของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม เครื่องดูดฝุ่น เตาร้อนต่าง ๆ ฯลฯ ให้ลูกจดจำและระวังตัวอยู่เสมอ
หลังใช้งานควรเก็บให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยสายไฟยาวเกะกะ เพราะสายไฟอาจจะทำให้สะดุดหกล้ม หรือพันคอเด็กจนหายใจไม่ออกได้
ควรปิดฝาถังเครื่องซักผ้าทุกครั้ง ทั้งในระหว่างและหลังจากใช้งานเสร็จ เพื่อป้องกันอันตรายจากการปีนเข้าไปเล่น หรือพลัดตกลงไปในเครื่องซักผ้า
7.อ่างน้ำ-สระว่ายน้ำ
ทิ้งให้เด็กเล็กเล่นน้ำ อาบน้ำตามลำพัง ไม่ว่าจะเป็นในอ่างน้ำ สระว่ายน้ำ หรือในถังน้ำตามลำพัง เพราะน้ำตื้น ๆ ก็ทำให้เด็กจมน้ำได้
ถ้าที่บ้านมีสระว่ายน้ำ บ่อเลี้ยงปลา ควรเพิ่มความระวังเป็นพิเศษ และถ้าเป็นไปได้ควรทำรั้วหรือประตูกั้นที่มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นได้
เพื่อลูกรักปลอดภัย
การป้องกันอันตรายที่ดีที่สุดสำหรับลูกซึ่งพ่อแม่ทำได้ก็คือ ไม่ทิ้งลูกไว้คนเดียว
อย่ามองข้ามความสามารถของเด็ก ๆ เช่น คิดว่าลูกตัวเท่านี้ยังปีนที่สูง ๆ ไม่เป็น เพราะความประมาทนี้จะทำเกิดอุบัติเหตุกับลูกได้ง่ายขึ้น
อย่าละเลยจุดอันตรายต่าง ๆ เพราะคิดว่าบ้านของเราปลอดภัยดีแล้ว
การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เช่น ยางปิดปลั๊กไฟ ที่ล็อกตู้-ลิ้นชัก ราวกั้นหน้าต่างและบันได จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดอุบัติที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ได้