ค่านั่งไฮสปีดเทรนกม.ละ2.5บาท เล็งปรับแผนสถานีกลางบางซื่อเชื่อมต่อ เพิ่มชานชาลารับลูกค้ารถไฟเร็วสูง-สีแดง
ไทย-จีนถกไฮสปีดเทรน เผยผลศึกษา 2 แนวทาง วิ่งความเร็ว 250 กม./ชม. คิดค่าบริการคนละ 2.1 บาท/กิโลเมตร วิ่งความเร็ว 300 กม./ชม. ค่าบริการคนละ 2.5 บาท/กิโลเมตร ปรับแผนสถานีกลางบางซื่อ เพิ่มชานชาลารองรับผู้โดยสารไฮสปีดเทรน จากเดิมรองรับผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง "ชัชชาติ" คาดเปิดประกวดราคาไตรมาส 3-4 ปี 2556 เลือกแบบนานาชาติให้ทุกประเทศเข้าร่วมดำเนินโครงการ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JSC หรือเจเอสซี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ว่า ประเทศจีนได้นำผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) รวม 2 เส้นทางมาชี้แจงให้กระทรวงคมนาคมทราบ คือ รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ได้กำหนดรูปแบบการให้บริการไว้ 2 แนวทาง แนวทางแรกจะวิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) และแนวทางที่ 2 ความเร็ว 300 กม./ชม. ใช้งบประมาณดำเนินโครงการ 3 แสนล้านบาท และเส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ-หนองคาย กำหนดวิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชม. งบประมาณ 1.98 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน ส่วนอัตราค่าบริการหากใช้ความเร็ว 250 กม./ชม. จะอยู่ที่ 2.1 บาท/คน/กม. ความเร็ว 300 กม./ชม. จะคิดค่าบริการ 2.5 บาท/คน/กม.
"เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทางจะสั้นลงจากเดิมกำหนดไว้ 753 กม. เหลือ 680 กม. เพราะได้ปรับแนวเส้นทางให้ตรงมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ความเร็วได้ตามที่กำหนด บางจุดอาจต้องเจาะเป็นอุโมงค์ลอดภูเขา โดยเฉพาะช่วงจังหวัดอุตรดิตถ์ขึ้นไปทางเหนือมีภูเขาจำนวนมาก จึงทำให้ระยะทางสั้นลง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย มีระยะทาง 615 กม." นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นจีนต้องการให้สร้างช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี ระยะทาง 54 กม.ก่อน เพื่อทดสอบระบบการให้บริการ โดยชุมทางภาชีเป็นสถานีร่วมของรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว หากทดสอบแล้วประสบความสำเร็จจะส่งผลให้การก่อสร้างในเส้นทางอื่นๆรวดเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานีกลางบางซื่อให้รองรับผู้โดยสารของรถไฟความเร็วสูงด้วย จากเดิมออกแบบเน้นบริการเฉพาะรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันเท่านั้น จึงอาจต้องเพิ่มชานชาลาให้มากขึ้น นอกจากนี้ ทางการจีนแจ้งด้วยว่ารถไฟความเร็วสูงของลาวจะเริ่มสร้างในอีก 1 ปี ใช้ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อไทยก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อถึงจีนและมาเลเซียได้ในอนาคต
นายชัชชาติกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการทุกเส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-พิษณุโลก) ระยะทาง 342 กม. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กม. และกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กม. สนข.ลงนามจ้างที่ปรึกษาเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ประมาณไตรมาส 3-4 ปี 2556 โดยจะเปิดประกวดราคาแบบนานาชาติให้ทุกประเทศที่สนใจเข้าร่วมดำเนินโครงการได้