ข้างหลังภาพช็อกโลก! บทบาทสื่อ-นักบุญหรือปีศาจ

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ สื่อหัวสีแห่งนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ตกเป็นข่าวเสียเองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จากกรณีตีพิมพ์ภาพวินาทีสยองขวัญ จังหวะที่รถไฟใต้ดินกำลังพุ่งมาชนชายคนหนึ่งที่ถูกผลักตกลงไปในรางรถไฟ จนเสียชีวิตคาที่



นิวยอร์กโพสต์เล่นภาพดังกล่าวเป็นหน้าหนึ่ง ด้วยคำบรรยายชวนระทึกว่า "ชายผู้นี้ถูกผลักตกลงไป เขากำลังจะตาย" และ "ชะตาขาดแล้ว!"



ผู้ถ่ายภาพอื้อฉาวดังกล่าวคือ นายอุมมาร์ อับบาซี ช่างภาพอิสระซึ่งต่อมามอบภาพนี้ให้นิวยอร์กโพสต์



นายอับบาซีเล่าว่า ตนกำลังยืนรอรถไฟอยู่บนชานชาลาพร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพ เพื่อไปทำข่าวอีกหมายหนึ่งตามที่นิวยอร์กโพสต์จ้างมา แต่ทันใดนั้นก็มีผู้โดยสารคนหนึ่งใกล้ตนถูกผลักลงไป ผู้คนรอบข้างต่างหวีดร้องและวิ่งหนีทันที ขณะที่รถไฟกำลังพุ่งตรงมาจากอุโมงค์



นายอับบาซีกล่าวว่า เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายนี้อยู่ในรางรถไฟประมาณ 10-15 วินาที ก่อนจะถูกชนเสียชีวิต


เด็กอดอยากที่ซูดาน





































































































เมื่อถูกถามว่าแล้วเหตุใดจึงต้องถ่ายภาพนี้ไว้ แทนที่จะยื่นมือไปช่วย นายอับบาซีตอบว่า ตนต้องการถ่ายรูปพร้อมเปิดแฟลช เพื่อให้คนขับรถไฟได้สังเกตเห็น จะได้หยุดรถทัน



คำอธิบายนี้ยิ่งทำให้หลายๆ คนเดือดดาล โดยมีเสียงวิจารณ์นายอับบาซีว่า "แถ"!



อาชีพผู้สื่อข่าว หรือช่างภาพมักตกเป็นเป้าวิจารณ์ว่าเห็นแก่การขายข่าว มากกว่าชีวิตของคนหรือความเหมาะสม



หนังสือพิมพ์เดอะซัน เพิ่งถูกด่าขรม แถมยังโดนสอบสวนจากทางการอังกฤษ ที่ใช้วิธีดักฟังโทรศัพท์ของเหยื่อผู้ก่อการร้าย จนเป็นข่าวสะเทือนสังคมอังกฤษถึงทุกวันนี้



อย่างไรก็ตาม หลายๆ กรณีก็ไม่ได้ขาว-ดำ หรือเป็นเรื่องของการผิด-ไม่ผิดกฎหมาย อย่างในกรณีของเดอะซัน



ภาพชวนสยองของนิวยอร์กโพสต์ถูกวิจารณ์ว่า "หากินกับความเป็นความตาย" แต่ในความเป็นจริงแล้ววงการสื่อมวลชนมักนำเสนอ "ความเป็นความตาย" ต่อสังคมมาตลอดเช่นกัน และได้รับคำชมเชยด้วย เช่น ภาพถ่ายเด็กสาวชาวเวียดนามที่เนื้อตัวถูกไฟลวก หลังกองทัพเวียดนามใต้ทิ้งระเบิดนาปาล์มใส่หมู่บ้านของเธอโดยผิดพลาด ต่อมาภาพนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และถูกยกย่องว่าเป็นภาพที่จุดกระแสต่อต้านสงครามในสหรัฐภาพหนึ่ง


นาทีระทึกที่บอสตัน





หรือกรณีภาพเหยื่อเหตุไฟไหม้ในนครบอสตันของสหรัฐ ตกลงมาจากระเบียงขณะหนีกองไฟ ภาพนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เช่นกัน แต่ก็ถูกวิจารณ์บ้างว่า เป็นการก้าวล่วงจรรยาบรรณสื่อ เพราะเป็นจังหวะความเป็นความตาย



แต่กรณีที่มีการถกเถียงอย่างมากคือ ภาพทารกที่อดอยากในซูดาน ขณะพยายามคลานไปศูนย์แจกจ่ายอาหาร โดยมีนกแร้งรออยู่ข้างหลัง เพื่อรอจิกกินศพเด็กเมื่อสิ้นลม



ภาพนี้ชนะรางวัลพูลิตเซอร์เช่นเดียวกับ 2 ภาพก่อนหน้า และกลายเป็นข่าวเสียเอง ไม่แพ้กรณีภาพของนิวยอร์กโพสต์ โดย นายเควิน คาร์เตอร์ ช่างภาพถูกโจมตีว่าเอาแต่ปฏิบัติหน้าที่นักข่าวจนไม่ยอมช่วยเหลือเด็กทารกคนนั้น ต่อมา ในปี 2537 นายคาร์เตอร์ก็ฆ่าตัวตายในรถยนต์ของตนเอง จดหมายลาตายมีท่อนหนึ่งบอกว่า "ผมลืมภาพศพและการฆ่าฟันต่างๆ ไม่ลง"



ถึงแม้จะไม่มีระเบียบสากลที่ตัดสินว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในกรณีเช่นนี้ แต่คาดได้ว่าเหตุผลที่ภาพสะเทือนใจของนายคาร์เตอร์และภาพวินาทีระทึกของนายอับบาซีดูไม่เหมาะเพราะชวนให้ผู้ที่เห็นภาพคิดว่าผู้ที่ถ่ายภาพมีโอกาสพยายามช่วยเหลือเหยื่อในรูป แต่ไม่ทำ ต่างจากภาพเด็กสาวเวียดนามและเหยื่อกองไฟในบอสตัน ที่เป็นเพียงการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเท่านั้น



ที่แน่ๆ วงการสื่อมวลชนทั่วโลกนำเอาเรื่องนี้มาเป็นบทเรียนได้อย่างแน่นอน

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...