เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 99 ศพ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 เป็นประธานการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว ร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย อัยการ ตำรวจ และดีเอสไอ เพื่อประชุมหารือและลงมติร่วมกันในกรณีการแจ้งข้อหากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ,83 ,84 และ มาตรา 288 คือ ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึง 20 ปี โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง
จากนั้นเวลา 14.00 น. นายธาริต แถลงผลการประชุม ว่า สืบเนื่องจากศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในคดีการไต่สวนเหตุการณ์ตายของนายพัน คำกอง ว่าการตายของนายพัน เกิดจากกระสุนปืนของทหารที่เข้าปฎิบัติการตามคำสั่งของศูนย์อำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และศาลได้ส่งสำนวนการพิจารณาไต่สวนทั้งหมดพร้อมคำสั่งมายังตำรวจนครบาล และถึงดีเอสไอ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงอันเป็นยุติโดยการไต่สวนของศาลดังกล่าว
นายธาริต กล่าวต่อว่า พยานหลักฐานอันสำคัญที่ทำให้คณะพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่าย ต้องมีมติให้แจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้ง 2 มาจากพยานที่ได้จากการไต่สวนและคำสั่งของศาลดังกล่าวรวมทั้งพยานหลักฐานที่การสอบสวนได้เพิ่มเติม เช่นการสั่งใช้กำลังทหารที่มีอาวุธปืนเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยที่ศอฉ.เรียกว่าการกระชับพื้นที่และการขอคืนพื้นที่ การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิงและอื่นๆ โดยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณือักษรจาก ผอ.ศอฉ.คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และได้อ้างไว้ในคำสั่งด้วยว่า เกิดจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ใน ศอฉ.ว่านายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับรู้ร่วมสั่งการ และพักอาศัยอยู่ในศูนย์ปฎิบัติการของ ศอฉ.ตลอดเวลา
“ประการสำคัญคือ การสั่งการของบุคคลทั้งสองกระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายคราแม้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนแล้วก็หาได้ระงับยับยั้งหรือใช้แนวทางอื่นใดแทน รวมถึงพยานแวดล้อมกรณีอื่นๆ อีก จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าการร่วมกันสั่งการเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดการตายของประชาชนจำนวนมากและต่อเนื่องหลายวัน” อธิบดีดีเอสไอ กล่าว
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า คดีเช่นนี้ถือเป็นคดีที่สำคัญของสังคมเพราะการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายจึงบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ที่ต้องมีการไต่สวนเหตุการณ์ตายโดยศาลยุติธรรม เพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติโดยเป็นธรรมจากการสืบพยานไต่สวนโดยศาลซึ่งพิจารณาโดยเปิดเผยทุกฝ่ายสามารถทำพยานหลักฐานเข้ามาสืบได้ แล้วในที่สุดศาลก็จะได้มีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตายและมีพฤติการณ์หรือสาเหตุอย่างไร ซึ่งในคดีนี้ศาลก็ได้มีคำสั่งครบถ้วนเช่นนั้นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจึงต้องดำเนินการต่อตามผลของการไต่สวนและคำสั่งของศาลอาจกล่าวโดยง่ายๆ ว่าต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ได้ยุติชั้นศาลแล้วนั้นเอง คดีนี้ศาลได้สั่งว่าเหตุการตายเกิดจากกระสุนปืนของฝ่ายทหารที่เข้าปฎิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ.พนักงานสอบสวนก็ต้องมาต่อยอดว่าผู้มีอำนาจสั่งการของ ศอฉ.ที่เป็นต้นเหตุของการสั่งการจนมีการตามเป็นใคร และมีรายละเอียดพร้อมพยานหลักฐานว่าได้กระทำผิดเช่นใด
“ส่วนทหารที่ได้เข้าปฎิบัติการนั้น ศาลก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด และโดยผลการสอบสวนก็ไม่อาจระบุตัวตนได้ด้วย แต่ก็ได้รับผลตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ว่าเมื่อเป็นการปฎิบัติตามการสั่งการซึ่งเชื่อว่าต้องปฎิบัติก็ย่อมได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นในชั้นนี้จึงไม่แจ้งข้อหาแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร” นายธาริต กล่าว
นายธาริต กล่าวต่อว่า ในวันนี้เมื่อสิ้นสุดการประชุมคณะพนักงานสอบสวนฯ ตนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็ได้ลงนามในหนังสือแจ้งให้บุคคลทั้ง 2 คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มารับทราบข้อหาดังกล่าว ในวันที่ 12 ธ.ค.เวลา 14.00 น. ทั้งนี้เมื่อบุคคลทั้งสองเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาและสอบสวนเสร็จก็จะใช้ดุลพินิจปล่อยตัวไปโดยไม่ขอศาลให้ฝากขัง เนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองชั้นผู้ใหญ่ จึงใช้การออกหนังสือเชิญแทนการออกหมายเรียก
นายธาริต กล่าวยอมรับว่า การเชิญ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ มาแจ้งข้อหาในช่วงเวลานี้ก็เพื่อจะได้นำตัวเข้ามาในคดีอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี เพราะหากพ้นวันที่ 20ธ.ค.นี้ไปแล้วบุคคลทั้งสองจะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายทันที เนื่องจากเปิดประชุมสภา และเชื่อว่าบุคคลทั้งสองจะมาตามนัดหมายโดยไม่ถ่วงเวลาจนเปิดประชุมสภา ในวันที่ 21 ธ.ค.55
“การดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรง ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.55 นั้นดีเอสไอไม่ได้ทำคดีตามกระแสหรือใบสั่งของฝ่ายการเมือง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก คดีทุกคดีต้องไปจบที่ศาล พนักงานสอบสวนไม่อาจกลั่นแกล้งใคร หรือช่วยเหลือใครได้ การสอบสวนก็ร่วมกันถึง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ และดีเอสไอ” นายธาริต กล่าว และ ว่า คดีทุกคดีจึงเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และที่สำคัญเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดทั้ง 2 ฝ่าย จนถึงขณะนี้กลุ่มฮาร์ดคอร์ของผู้ชุมนุมได้ถูกดำเนินคดีมีการฟ้องคดีต่อศาลไปแล้วถึง 62 คดี โดยมีผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลถึง 295คน ส่วนกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.เพิ่งจะถูกดำเนินคดีนี้เป็นคดีแรก ซึ่งความจริงก็ดำเนินการมาแต่แรกคู่ขนานกันแต่คดีของกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.ต้องรอการไต่สวนของศาลก่อนจึงดูล่าช้า
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวด้วยว่า ดีเอสไอได้ดำเนินคดีทั้ง 2 ฝ่ายเท่าเทียมกัน และก็เป็นธรรมชาติที่ผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทุกฝ่ายจะต้องไม่ชอบใจดีเอสไอ มีการต่อว่าต่าง ๆ นานา ซึ่งเราเองก็พร้อมรับเพราะถือว่าทำตามหน้าที่ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย
ด้านสำนักข่าวเอเอฟพี สื่อต่างประเทศชื่อดัง รายงานข่าวดังกล่าวไปทั่วโลกเช่นกัน โดยพาดหัวข่าวว่า "Ex-Thai PM ′to face murder charge′"
ก่อนหน้านี้ เวลา 10.30 น. วันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ อช.2/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ผู้ร้อง และนางหนูชิต คำกอง ภรรยาผู้ตาย ผู้ร้องร่วม ยื่นคำร้องขอให้ศาลชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่ราชประสงค์ สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
ตามคำร้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.–19 พ.ค. 2553 มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่ม นปช. ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศและสี่แยกราชประสงค์ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ พ.ร.ก.บริหารสถานราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อควบคุมผู้ชุมนุม และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ ต่อมามีการประกาศห้ามใช้ถนนถนนราชปรารภตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมพื้นที่ พร้อมติดป้ายเขตใช้กระสุนจริง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 นายสมร ไหมทอง ขับรถยนต์ตู้กลับบ้านพักผ่านถนนราชปรารภ เจ้าหน้าที่ทหารประกาศให้หยุดรถ แต่นายสมร ขับรถไปต่อถึงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธยิงหลายนัด อันเป็นการปฎิบัติหน้าที่ ทำให้นายสมร ถูกยิงได้รับบาดที่ลำตัวด้านหลัง และนายพัน ถูกกระสุนยิงตายหน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมไอดีโอ อันเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฎิบัติหน้าที่ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ใด ตายเมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ตายเกิดจากอะไร ตาม ป.วิอาญา ม.150
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.2553 – 19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช. ให้นายกรัฐมนตรี (สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี) ประกาศยุบสภาอยู่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศและบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ระหว่างมีการชุมนุมนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อควบคุมสถานการณ์ชุมนุม มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แล้วแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ต่อมาศูนย์อำนวยการดังกล่าวประกาศห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือใช้ยานพาหนะใดๆเข้าออกในเส้นทางที่กำหนดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่บริเวณถนนราชปรารภตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสันโดยมีเจ้าพนักงานทหารจากทหารปืนใหญ่ที่31และกองพันทหารราบที่3ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเส้นทางการคมนาคมในบริเวณดังกล่าวมีการปิดแผ่นป้ายข้อความว่า “เขตใช้กระสุนจริง”
จากพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้ร้องร่วมอันประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณีเจ้าพนักงานทหารผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องต่างๆ และพนักงานสอบสวน รวมถึงภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ได้ความว่า พ.ท.วรกานต์ ฮุ่นตระกูล ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ เบิกความว่า หลังเวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 มีคนร้ายยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 เข้าไปบริเวณที่ พ.ท.วรกานต์ รับผิดชอบ และมีวิทยุเครือข่ายทหารแจ้งว่าให้ระวังรถยนต์ตู้สีขาวอาจมีการทำคาร์บอร์มหรือขนอาวุธสงครามใช้ทำร้ายทหาร
ร.อ.เสริมศักดิ์คำละมูลผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่31รักษาพระองค์เบิกความว่า ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้สังเกตรถยนต์ตู้ จะมีการขนอาวุธ และในวันเกิดเหตุเวลาเที่ยงคืน มีรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุขับไปจอดที่หน้าปากซอยราชปรารภ 8 จึงสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้รถยนต์ตู้แล่นกลับไปในทิศทางเดิมหรือเลี้ยวซ้ายไปทางประตูน้ำและต่อจากนั้นได้ใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บนรถประชาสัมพันธ์ประกาศให้ทราบอีกครั้งรวมเวลาที่รถยนต์ตู้จอดอยู่ประมาณ30นาที
นายคมสันติทองมากผู้สื่อข่าวสำนักงานเนชั่นทีวีเบิกความว่าได้ยินเสียงประกาศของเจ้าพนักงานทหารและได้ยินเสียงปืนดัง จึงใช้กล้องถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตัดต่อ นอกจากนี้นายอเนก ชาติโกฎิ พนักงานรักษาความปลอดภัยของคอนโดมิเนียมไอดีโอ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ นายพัน คำกอง ผู้ตายมาขอพักที่สำนักงานขายคอนโดมิเนียม ต่อมาได้ยินเสียงประกาศของเจ้าพนักงานทหาร หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังที่ละนัด
ศาลเห็นว่า ช่วงระยะเวลาที่ร.อ.เสริมศักดิ์ เบิกความว่าเห็นรถยนต์ตู้จอดอยู่เป็นเวลา 30 นาที ซึ่งเป็นเวลานานพอสมควรที่เจ้าพนักงานทหารที่ควบคุมสถานการณ์ขณะนั้น สามารถดำเนินการบางอย่างเพื่อให้ทราบว่ารถยนต์ตู้ดังกล่าวมีพฤติการณ์ดังที่ร.อ.เสริมศักดิ์ และ พ.ท.วรกานต์ ได้ข้อมูลหรือไม่ แต่เจ้าพนักงานทหารก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร กลับปล่อยให้รถยนต์ตู้แล่นเลี้ยวขวาไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ควบคุม โดยมีคอนโดมิเนียมไอดีโอตั้งอยู่ริมถนนด้านขวาของรถยนต์ตู้ ร.อ.เสริมศักดิ์ , ส.อ.วรกร ผาสุกหรือผาสุก , ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ กลับยืนยันว่าขณะมีการระดมยิงรถตู้ ไม่มีใครเห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง ทั้งไม่ปรากฏในสรุปสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในเอกสารของเจ้าหน้าที่ทหาร ว่าในวันเกิดเหตุจะมีการทำคาร์บอร์มหรือขนอาวุธ จึงเห็นว่าพยานดังกล่าวเบิกความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและเหตุผล
ขณะที่ ร.ต.อ.สากล คำยิ่งยง , ส.อ.ชิตณรงค์ รวมทั้งนายคมสันติ ยืนยันทำนองเดียวกันว่า ช่วงที่เจ้าพนักงานทหารเข้าควบคุมพื้นที่ การเข้าออกต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานทหารก่อน แม้แต่เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่สามารถเข้าออกได้เว้นแต่ได้รับอนุญาต ขณะเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวไม่มีประชาชนผู้ชุมนุม ไม่มีผู้ใดเห็นชายชุดดำถืออาวุธปืน มีเพียงผู้สื่อข่าวจากสำนักพิมพ์ต่างๆ และเจ้าพนักงานเท่านั้น นอกจากนี้ ร.อ.เกริกเกียรติ เบิกความว่าบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีชายชุดดำ และช่วงเกิดเหตุไม่มีใครกล้าเข้ามา แม้นายสมรจะอ้างว่าก่อนถูกระดมยิงไม่ได้ยินเสียงประกาศเตือน และถูกระดมยิงใส่รถยนต์ตู้จากทางด้านหน้าด้านซ้ายและขวา โดยไม่เห็นคนยิงนั้น
ปรากฏว่านายอเนก เบิกความว่า เวลาประมาณ 24.00 น.นายอเนกนั่งเล่นหมากฮอตกับผู้ตายอยู่ในสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ได้ยินเสียงประกาศของเจ้าพนักงานทหารให้รถยนต์หยุดแล่นเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุม ถ้าไม่หยุดจะยิง ต่อมามีเสียงปืนดังที่ละนัด ผู้ตายวิ่งออกไปดูเหตุการณ์ที่หน้าสำนักงานขายคอนโด จากนั้นมีเสียงอาวุธปืนดังแบบการยิงอัตโนมัติติดๆ กัน ผู้ตายวิ่งกลับเข้าไปบอกนายอเนกว่าถูกยิง แล้วล้มลง และนายคมสันติ ผู้บันทึกภาพเคลื่อนไหวก็ได้ยินเสียงประกาศเตือนของเจ้าพนักงานทหารให้รถยนต์ตู้หยุด แล้วได้ยินเสียงปืนทีละนัด หลังจากนั้นจึงได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวก็ได้ยินเสียงปืนยิงแบบอัตโนมัติ
นายอเนกและนายคมสันติพยานทั้งสองเป็นประจักษ์พยานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับใครมาก่อนเชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความตามความเป็นจริงว่ามีการประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนแล้วจึงยิงปืนทีละนัด หลังจากนั้นจึงระดมยิงแบบอัตโนมัติ จากการประกาศแจ้งเตือนและการยิงปืนดังกล่าวทำให้ผู้ตายวิ่งไปหน้าสำนักงานคอนโดมิเนียมเพื่อยืนดูเหตุการณ์จึงทำให้ถูกลูกกระสุนปืนที่บริเวณหน้าอกซ้ายใต้ราวนมแฉลบทะลุไปถูกต้นแขนซ้ายและเส้นเลือดใหญ่ฉีกขาดเสียเลือดมากถึงแก่ความตาย
โดยพล.อ.ต.นพ.วิชาญเปี้ยวนิ่มผู้ชันสูตรพลิกศพผู้ตายและผ่าชันสูตรศพพบลูกกระสุนปืนรูปร่างปลายแหลมหุ้มทองเหลืองที่ต้นแขนซ้าย เป็นสาเหตุแห่งการตาย ส่วนพ.ต.ท.ธนงศักดิ์ บุญมาก ผู้ตรวจลูกกระสุนปืนที่ได้จากศพ เบิกความว่า ลูกกระสุนปืนจากศพเป็นลูกกระสุนปืนขนาดเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.) และว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนยืนยันว่าลูกกระสุนปืนที่พบจากศพเป็นส่วนประกอบของกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.) ซึ่งเป็นกระสุนปืนที่ใช้กับปืนความเร็วสูงชนิดเอ็ม 16 รุ่น เอ 2 แต่อาจนำไปใช้กับปืนเอ็ม 16 รุ่น เอ 1 ได้ เป็นอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม มีอำนาจทะลุทะลวงสูงกว่ากระสุนปืนแกนเหล็กหุ้มตะกั่ว หากใช้กับอาวุธปืนเอ็ม 16 รุ่น เอ 1 จะทำให้ประสิทธิภาพไม่เท่ากับใช้กับอาวุธปืนเอ็ม 16 รุ่น เอ 2 หรืออาจใช้กับอาวุธปืนทาโว่ ทาร์ หรืออาจใช้กับอาวุธปืนเอชเค 33 หรืออาวุธปืนไรเฟิลเป็นต้น
เมื่อดูภาพถ่ายรถยนต์ตู้พบว่าบริเวณตัวถังรถยนต์ตู้ด้านหน้า ด้านซ้าย และด้านขวา มีร่องรอยถูกลูกกระสุนปืนจำนวนหลายแห่ง และหลายชนิดแตกต่างกัน แสดงว่ามีผู้ร่วมยิงหลายคนใช้อาวุธปืนยิงจากอาวุธปืนหลายกระบอก และใช้กระสุนปืนต่างชนิดกัน ปรากฏในภาพเคลื่อนไหวมีบางเจ้าพนักงานทหารบางส่วนกำลังนั่งเล็งอาวุธปืนไปที่รถยนต์ตู้พร้อมจะยิงเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเชื่อว่าช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการยิงต่อสู้ระหว่างคนร้ายที่โจมตีด่านจุดตรวจหรือมีการปะทะกับเจ้าพนักงานทหารดังที่นายสุเทพเทือกสุบรรณได้รับรายงานเพราะถ้ามีการโจมตีจริงก็น่าจะปรากฏอยู่ในสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ทหารและเชื่อว่าถ้ามีเหตุการณ์ต่อสู้ดังที่อ้างจริงพ.อ.พงศกร อาจสัญจร , พ.ท.วรกานต์ และนายทหารอื่นคงไม่นิ่งเฉยปล่อยให้มีคนร้ายโจมตีโดยไม่สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตอบโต้ หลังเหตุการณ์สงบลงมีเจ้าพนักงานทหารหลายนายถืออาวุธปืนเอ็ม 16 เดินไปดูที่รถยนต์ตู้ ไม่มีลักษณะของความเกรงกลัวหรือระวังตัวว่าจะถูกคนร้ายลอบยิงหรือทำร้าย ทั้งที่เจ้าพนักงานทหารอ้างว่ามีการถูกระดมยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ก่อนเกิดเหตุ ส่วนนายสมร ยอมรับว่าหลังเสียงปืนสงบได้ร้องตะโกนขอความช่วยเหลือแล้วมีเจ้าพนักงานทหารเข้าไปทุบกระจกรถเพื่อช่วยนำตัวออกจากรถตู้
นอกจากนี้พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์นาคามาตย์เบิกความยืนยันด้วยว่าในบริเวณที่กั้นลวดหนามเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถเข้าไปได้หากจะเข้าไปต้องถูกตรวจค้นในช่วงดึกตนคอยบอกประชาชนว่าอย่าเข้าไปในถนนราชปรารภเพราะอาจถูกทหารยิงจึงเชื่อได้ว่าในที่เกิดเหตุมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถถืออาวุธปืนได้เท่านั้น โอกาสที่จะมีคนร้ายหลายคนพร้อมอาวุธปืนผ่านเข้าไปในพื้นที่ควบคุมดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้แต่เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ จึงเป็นการยากยิ่งที่จะมีคนร้ายหลายคนเล็ดลอดเข้าไปใช้อาวุธปืนจำนวนหลายกระบอกระดมยิงใส่รถตู้ได้ แม้แต่รถพยาบาลและรถมูลนิธิต่างๆ ยังถูกคำสั่งให้ถูกตรวจค้นอย่างเคร่งครัด ทั้งมีการปิดประกาศของเจ้าพนักงานทหารประกาศแจ้งโดยชัดเจนว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเขตใช้กระสุนจริง และจากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่าวิถีลูกกระสุนปืนยิงในระนาบเดียวกับพื้นถนน มิได้มีแนวยิงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และวิถีลูกกระสุนที่รถยนต์ตู้ก็มีวิถีลูกกระสุนไปในแนวลักษณะเดียวกัน พ.ต.ท.สมิต เห็นว่ารถยนต์ตู้ที่ถูกยิงแล่นไปในแนวเดียวกับบังเกอร์ของทหารที่เชื่อมโยงไปถึงจุดที่ผู้ตายถูกยิง แนววิถีกระสุนตามแผนที่
จากพฤติการณ์ต่างๆ ดังกล่าว เชื่อว่าวันเกิดเหตุกลุ่มที่ร่วมระดมยิงอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามใส่รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุนั้น เป็นเจ้าพนักงานทหาร แม้ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าผู้ตายถูกลูกกระสุนปืนของผู้ใด แต่บริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าพนักงานทหารที่ควบคุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งถนนของที่เกิดเหตุสภาพรถยนต์ตู้ก็ถูกยิงจากด้านหน้าด้านซ้ายและด้านขวาของตัวถังรถยนต์ในช่วงเกิดเหตุไม่มีคนร้ายเข้าไปในที่เกิดเหตุในลักษณะเข้าไปยิงปะทะต่อสู้กับเจ้าพนักงานทหาร ตามที่วินิจฉัยข้างต้นคงมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถใช้อาวุธปืนยิงรถตู้ เพราะฝ่าฝืนคำสั่งที่ประกาศเตือนไม่ให้แล่นเข้าไปในพื้นที่ควบคุม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับผู้ตายวิ่งออกไปดูเหตุการณ์บริเวณหน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมไอดีโอ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าลูกกระสุนปืนที่พบในศพผู้ตายกับในตัวของนายสมร คนขับรถยนต์ตู้ เป็นกระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบวิถีกระสุนจากศพผู้ตายกับวิถีกระสุนจากรถยนต์ตู้อยู่ในแนวเดียวกันกับตำแหน่งเจ้าพนักงานทหารที่ควบคุมพื้นที่
จึงเชื่อว่าการตายของผู้ตายเกิดจากถูกลูกกระสุนปืนจากการยิงของเจ้าพนักงานทหารยิงใส่รถยนต์ตู้ที่แล่นเข้าไปในพื้นที่ควบคุมภายหลังเจ้าพนักงานทหารเตือนให้หยุดแล่นส่วนว่าที่พ.ต.ท.นพสิทธิ์อัครนพหงส์,พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย , พ.ต.ท.ธีรนันต์ นคินทร์พงษ์ , พ.ต.ท.หญิงวรการ ขุทกาฬา , พ.ต.อ.พิภพ ไกรวัฒนพงศ์ และว่าที่ ร.ต.อ.สุพัตรา ถนอมวงศ์ ผู้ตรวจอาวุธปืนเล็กกลแบบเอ็ม 16 ที่ส่งไปจาก ป.พัน 31 รอ. หรือ ร.1พัน 3 รอ. ก็ดี เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นอาวุธปืนกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายหรือไม่ แม้ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฎว่าไม่มีอาวุธปืนกระบอกใดที่ใช้ยิงกระสุนทดสอบตรงกับอาวุธปืนที่ใช้ยิงลูกกระสุนที่พบในศพผู้ตายก็ตามแต่เป็นการตรวจหลังเกิดเหตุเป็นเวลานานทั้งตามระเบียบราชการก่อนมีการเก็บรักษาอาวุธปืนที่ใช้หลังการยิงทุกครั้งไม่ว่าหลังการฝึกยิงหรือยิงในราชการอื่นต้องมีการทำความสะอาดอาวุธปืนทุกครั้งการทำความสะอาดแต่ละครั้งย่อมทำให้ร่องรอยพยานหลักฐานจากอาวุธปืนกระบอกนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงอะไหล่ในส่วนสำคัญของอาวุธปืนได้ จนทำให้วัตถุพยานผิดข้อเท็จจริง ทั้งยังได้ความว่ากระสุนปืนขนาดดังกล่าว ยังสามารถใช้กับอาวุธปืนแบบทาโว่ ทาร์ หรือเอชเค 33 ด้วย ลำพังผลการตรวจอาวุธปืนแบบเอ็ม 16 ดังกล่าว ไม่ทำให้ผลการรับฟังข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป
จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายชื่อนายพัน คำกอง ตายที่หน้าที่สำนักงานขายคอนโดมีเนียมชื่อไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค-8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฎิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการฟังคำพิพากษาวันนี้มีนางหนูชิตและน.ส.นิตยาภรรยาและบุตรนายพันคำกอง เดินทางมาฟังคำพิพากษาร่วมกับญาติพี่น้อง รวมทั้งยังมีพนักงานอัยการผู้ร้อง นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีราชชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. พร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจ หลังจากศาลมีคำสั่งในคดีนี้แล้ว ทางพนักงานอัยการผู้ร้องจะนำคำสั่งศาลทั้งหมดส่งกลับไปให้พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ทำสำนวนการสอบสวนเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมเพื่อดำเนินการต่อไป เนื่องจากการยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรศพเป็น เพียงหนึ่งในขั้นตอนกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือดีเอสไอ ที่ได้รวบรวมหลักฐานการเสียชีวิตเสื้อแดง 98 ศพ หากรวบรวมพยานหลักฐานได้ชัดเจนจะต้องทำสำนวนยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาต่อไป
ภายหลังฟังคำสั่ง นางหนูชิต ภรรยานายพัน คำกอง ผู้ตาย กล่าวว่า รู้สึกโล่งใจกับคำสั่งศาลที่ออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ในวันนั้นมีแต่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในที่เกิดเหตุ โดยตนไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้น เรียกกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ว่าผู้ก่อการร้าย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็เห็นแล้วว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ส่วนการดำเนินการทางคดีจะยังมีการดำเนินการต่อ แต่ต้องรอเวลาที่เหมาะสม ขณะที่ในส่วนของตนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลมาแล้ว 3.5 ล้านบาท แต่ก็ต้องแบ่งให้ญาติฝ่ายสามี
ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า มีความยินดีกับคำสั่งศาลที่ออกมาในวันนี้ โดยรู้สึกว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ในเมืองไทย ซึ่งจะต้องทำให้ความจริงปรากฏ และก็ไม่จำเป็นว่าความจริงนั้นจะต้องถูกใจทุกคน ต้องการให้คดีเสื้อแดงคดีอื่นดำเนินไปตามที่ควรจะเป็น และถือว่าคำสั่งคดีที่ออกมานั้นจะเป็นบรรทัดฐานที่ดีของคดีอื่นด้วย ซึ่งเชื่อมั่นทุกคดีจะต้องดำเนินการต่อไป
นางธิดา ยังกล่าวถึงการเยียวยาของรัฐบาลว่า นปช.จะไม่ก้าวก่ายในเรื่องนี้ แต่กรณีที่ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาก็อยากให้มีการเยียวยา เพราะสาเหตุที่เกิดขึ้นก็ล้วนมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
ขณะที่ น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า คดีนี้ไม่มีชายชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเข้าให้การว่ามีกลุ่มชายชุดดำอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งจากคำสั่งศาลในวันนี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่มีกลุ่มชายชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตนจะจับตาดูท่าทีของนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ต่อไป