อุโมงค์ญี่ปุ่นถล่ม ฝังทับรถ ไฟท่วม-ตายเจ็บอื้อ

หายอีกเพียบ-ระดมคุ้ยซาก ไทยผวา-เช็กทางลอดกรุง! 'ชัชชาติ'หวั่นซ้ำรอยสยอง กทม.-รฟม.ยันทุกจุดเข็งแรง



อุโมงค์ถล่ม - ควันไฟตลบออกมาจากอุโมงค์ทางด่วนที่ถล่มลงมาใน จ.ยามานาชิ ของญี่ปุ่น โดยมีภาพวงจรปิดขณะเจ้าหน้าที่เข้าไปกู้ภัย เบื้องต้นพบศพผู้เคราะห์ร้าย 5 ราย สภาพถูกไฟไหม้เกรียม เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.

อุโมงค์ลอดภูเขาแดนปลาดิบถล่ม ฝังทับรถไฟไหม้ย่างสด 5 ศพ ชาวบ้านทิ้งรถหนีตายอลหม่าน จนท.เร่งเข้าช่วยเหลือ-ปิดเป็นพื้นที่อันตราย ?ชัชชาติ? สั่งกรมทางหลวงเร่งศึกษา-นำเป็นบทเรียน เหตุไทยมีอุโมงค์ลอดภูเขาหลายแห่ง แถมเตรียมสร้างอีกอื้อ กทม.ยันอุโมงค์ทางลอดตามแยกปลอดภัย มีทั้งเสาปูนค้ำยัน-อัดชั้นดินจนแน่น รฟม.เผยทางรถไฟใต้ดินแข็งแรง ชี้เป็นชั้นดินเหนียวที่อัดแน่น-อยู่ลึก 25 เมตร แถมออกแบบรองรับแผ่นดินไหว

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่น เกิดเหตุอุโมงค์ซาซาโงะ ลอดภูเขาบนเส้นทางทางด่วนชูโอ เชื่อมถึงกรุงโตเกียวและเขตภาคกลาง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ในอุโมงค์จนระเบิดไฟลุกไหม้ ควันตลบพร้อมกลิ่นน้ำกรดฟุ้งไปทั่วบริเวณ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในเบื้องต้นได้อย่างน้อย 3 คน รวมถึงหญิงในวัย 28 ปีที่วิ่งหนีออกจากอุโมงค์ด้วยตนเอง ส่วนผู้ติดอยู่ในอุโมงค์มีอย่างน้อย 7 ราย พบศพแล้ว 5 รายในสภาพไหม้เกรียม

สำหรับอุโมงค์ดังกล่าวมีความยาว 4.7 ก.ม. อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกราว 80 ก.ม. ช่วงเกิดเหตุร้ายเพดานอุโมงค์หนากว่า 20 ซ.ม.ถล่มเป็นระยะทาง 50-60 เมตร เจ้าหน้าที่ระดมกำลังหน่วยกู้ภัย รถดับเพลิงและรถพยาบาลกว่า 14 คันไปยังพื้นที่ดังกล่าว พร้อมปิดการจราจร ปิดใช้บริเวณเชื่อมแยกคัตสึนูมะและ จ.ยามานาชิ แต่สภาพควันปกคลุมหนาแน่นตลบอุโมงค์และสภาพอุโมงค์เสี่ยงถล่มลงมาอีก ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องรอนานหลายชั่วโมงกว่าจะเข้าไปได้ กระทั่งในช่วง 16.15 น.จึงฟื้นปฏิบัติการ โดยพบศพอย่างน้อย 5 รายถูกไฟคลอกตายอยู่ภายใน

นักข่าวของสถานีเอ็นเอชเคซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ขับรถอยู่ในอุโมงค์ขณะเกิดเหตุ จึงเร่งความเร็วจนพ้นบริเวณที่เพดานอุโมงค์พังลงมาได้ แต่รถซึ่งขับมาใกล้ๆ กันถูกซากอุโมงค์หล่นทับ หลังจากนั้นจึงมีกลุ่มควันดำพวยพุ่งออกมาจากในอุโมงค์ ผู้รอดชีวิตต่างวิ่งหนีออกจากรถ ท่ามกลางสภาพอากาศเย็นจัดในช่วงฤดูหนาว บางคนบาดเจ็บที่ศีรษะและฟกช้ำตามร่างกาย

ด้านหญิงสาววัย 28 ปีที่รอดชีวิตและหนีจากอุโมงค์ด้วยตนเอง กล่าวว่า นั่งอยู่ในรถตู้เช่าสำหรับท่องเที่ยวพร้อมกับบุคคลอื่นอีก 5 ราย และไม่รู้ชะตากรรมอีก 5 คนเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่ามีรถอยู่ข้างหน้ากี่คันและอยู่ข้างหลังกี่คัน

ขณะที่ชายวัย 30 ปีรายหนึ่งที่พ้นจากอุโมงค์มาได้ 50 เมตรก่อนจะถล่มลงมา เล่าว่า มีชิ้นส่วนคอนกรีตร่วงลงมาก่อน ในจังหวะที่ตนขับเข้าไปในอุโมงค์ จากนั้นก็เห็นไฟลุกไหม้จากรถคันหนึ่งที่ถูกอุโมงค์ถล่มทับ

"ผมตกใจมาก รีบเหยียบคันเร่งออกมาและเดินออกมาอีก 1 ชั่วโมงจนถึงทางออก" ชายผู้รอดชีวิตกล่าว

ต่อมา นายทาเคกาซึ คาเนโกะ ประธานบริษัทเซ็นทรัล นิปปอน เอ็กซ์เพรสเวย์ บริษัทผู้รับผิดชอบดูแลทางด่วน แถลงว่า เสียใจอย่างยิ่ง ที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น เบื้องต้นพบว่าการถล่ม ของเพดานอุโมงค์เป็นรูปตัววี แม้ว่าการตรวจ สอบปกติในเดือนก.ย.ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า ผนังคอนกรีตเชื่อมเพดานกับเสาอาจกร่อน

ส่วนความเคลื่อนไหวในประเทศไทยถึงเหตุดังกล่าวและการวางมาตรการป้องกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นต้องไปศึกษาในรายละเอียดและนำมาเป็นข้อมูลว่าสาเหตุการถล่มเกิดจากอะไร เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีอุโมงค์หลายแห่งที่ลอดภูเขา นอกจากนี้ในอนาคตรถไฟความเร็วสูงก็ต้องทำอุโมงค์เยอะ หรือเส้นทางที่จะเชื่อมต่อกับทวายของเมียนมาร์ ก็มีถนนที่ต้องเจาะอุโมงค์หลายจุดในการผ่านเข้าไปในพม่า ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่จะต้องให้กรมทางหลวงไปศึกษาดูว่าอุโมงค์ถล่มมีสาเหตุจากอะไร ที่จะนำมาเป็นบทเรียน เพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวในไทย

นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า สำหรับอุโมงค์ของรถไฟฟ้า รฟม.นั้นอยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 20-25 เมตร และอยู่ในชั้นดินเหนียวแข็ง รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินออกแบบมาเพื่อให้รองรับแผ่นดินไหว ซึ่งหลังจากก่อสร้างรถไฟฟ้า รฟม.เสร็จใหม่ๆ หลายปีก่อนได้เกิดแผ่นดินไหวในชั้นดินของกรุงเทพฯ ระดับความรุนแรงวัดได้ 6 ริกเตอร์ ซึ่งส่งผลพอสมควรต่อตึกสูงชั้นในของกรุงเทพฯ แต่อุโมงค์ใต้ดินของ รฟม.รถไฟฟ้ายังสามารถเปิดให้บริการเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือความเสียหายต่อการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินเลย

นายรณชิตกล่าวว่า ในทางวิศวกรรมตัวอุโมงค์อยู่ในชั้นของดินเหนียวแข็ง โดยวางขวางไปตามแนวของชั้นดิน ซึ่งต่างจากตึกสูงแม้จะฝังเสาเข็มในชั้นดินลงมาลึก 30-40 เมตร แต่เป็นในลักษณะแนวตั้ง พอเกิดแผ่นดินไหวจากด้านล่างจะส่งผลสั่นสะเทือนไปถึงตึกสูงที่อยู่ด้านบนจนอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ เทียบกับอุโมงค์ที่อยู่แนวขวางแม้แผ่นดินจะไหวจะโอนเอนไปตามการสั่นสะเทือนของชั้นดินเหนียว จึงไม่มีผลให้เกิดความเสียหาย และในการก่อสร้างมีการทดสอบในรูปแบบต่างๆ จนมั่นใจว่ามีความปลอดภัยสูง การสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจะไม่มีผลต่ออุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่มีการแตกหักร้าวเลย จึงขอให้ประชาชนมั่นใจการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินได้ ว่าจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว

"อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินวางอยู่ใต้อุโมงค์ส่งน้ำของการประปานครหลวง ต่ำลงมา 3-4 เมตร ซึ่งอุโมงค์ส่งน้ำก็วางตามแนวขวางของชั้นดินเหมือนกัน ก็อยู่มาโดยตลอดไม่เคยมีผลอะไรจากแผ่นดินไหว ไม่เช่นนั้นระบบอุโมงค์ส่งน้ำจะเกิดเป็นอัมพาตส่งน้ำไม่ได้ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน" นายรณชิตกล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองสำนักการโยธา กล่าวว่า อุโมงค์ของ กทม.เรียกว่าทางลอด ซึ่งทางลอดมีความยาวไม่เกิน 700 เมตร ขณะที่อุโมงค์ของประเทศญี่ปุ่นมีความยาว 1-3 ก.ม. ทั้งนี้ อุโมงค์ของ กทม.คือ อุโมงค์รถไฟใต้ดิน และอุโมงค์ส่งน้ำสำหรับการประปา ดังนั้น การก่อสร้างทางลอดกับอุโมงค์จึงแตกต่างกัน สำหรับการก่อสร้างของอุโมงค์จะไม่มีมาตรฐานตายตัวว่าจะกว้างหรือลึกเท่าใด แต่จะต้องมีความลึกในระดับหนึ่ง หรือมีความยาวตั้งแต่ 1 ก.ม. เป็นต้นไป ขณะที่ทางลอดของประเทศไทยมีความยาวไม่เกิน 700 เมตร โดยนำเสาเข็มที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามาค้ำยันด้านซ้ายและขวา และทำพื้นเพื่อให้รถวิ่งผ่าน ส่วนการก่อสร้างอุโมงค์หากพื้นดินเป็นดินอ่อนจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพดินให้อยู่ตัวก่อน โดยทำให้ดินมีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักของอุโมงค์ได้ จากนั้นจึงจะเจาะ แล้วค่อยนำตัวชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาประกอบให้เป็นอุโมงค์

นายอัฐสิทธิ์ ศิริวชิราภรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า โดยปกติอุโมงค์จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ อุโมงค์ในหินและอุโมงค์ในดิน ซึ่งประเทศ ไทยมีทั้ง 2 ประเภท เช่น อุโมงค์ในหินที่ลอดถ้ำขุนตาน จ.ลำปาง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้มาประมาณ 100 กว่าปี ถือว่าสมบูรณ์และแข็งแรงมาก ส่วนอุโมงค์ในดิน เช่น อุโมงค์รถไฟใต้ดิน แต่ถ้าแบ่งตามลักษณะโครงสร้างของการใช้ประโยชน์จะมี 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.อุโมงค์ที่ใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า 2.อุโมงค์ที่ใช้สำหรับการจราจร 3.อุโมงค์ขนส่งสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา

นายอัฐสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ในหินของประเทศไทยจะมีการเจาะเป็นช่องเข้าไป และเอาชิ้นส่วนที่เป็นคอนกรีตไปค้ำยันอยู่รอบๆ โครงสร้างของอุโมงค์ แต่ปกติโครงสร้างนี้จะเผื่ออัตราส่วนความปลอดภัยไว้แล้ว ฉะนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนอุโมงค์ลอดใต้ทางแยก เช่น รัชดาภิเษก สุทธิสาร ห้วยขวาง ไม่เรียกว่าเป็นอุโมงค์ เพราะเป็นการสร้างกำแพงคอนกรีต 2 ข้างขึ้นมา และขุดดินระหว่างกำแพงออก เพื่อให้รถวิ่งผ่านไปมาได้ จากนั้นก็เปิดพื้นที่การจราจรบนหลังคาลอดใต้ทางแยก ซึ่งมีความแข็งแรงแน่นอน เพราะในส่วนโครงสร้างได้เผื่ออัตรา ส่วนความปลอดภัยตามมาตรฐานทางวิศวกรรม ส่วนปัจจัยด้านแผ่นดินไหวไม่น่าจะทำให้เกิดการถล่มได้ เนื่องจากออกแบบโดยคำนวณค่ามาตรฐานการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย

"ส่วนกรณีอุโมงค์ทางด่วนของประเทศญี่ปุ่นที่ถล่มลงมานั้นเป็นอุโมงค์ในหิน คาดว่าอาจมีอุบัติเหตุรถชนกันเกิดขึ้นก่อน และไปชนในส่วนที่เป็นโครงสร้าง จึงทำให้เกิดถล่มลงมา แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ คงต้องรอเคลียร์พื้นที่และหาสาเหตุกันอีกที แต่อุโมงค์ในหินของประเทศไทยเป็นอุโมงค์ที่ให้รถไฟวิ่งผ่านไม่ใช่ถนนสาธารณะ การเกิดอุบัติเหตุหรือการถล่มจึงเป็นไปได้น้อย และส่วนใหญ่ประเทศไทยจะทำถนนปีนไปตามภูเขามากกว่าจะทำอุโมงค์ให้รถวิ่งผ่าน แต่ทุกอุโมงค์ต้องมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่สม่ำเสมอ" นายอัฐสิทธิ์กล่าว

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...