เมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันได้สร้างค่ายกักขังนำชาวยิวมากระทำทารุณกรรมและสังหารหมู่อันสุดแสนสยดสยองจนโด่งดังรู้กันทั่วโลก หลายคนคิดว่าพฤติกรรมโหดเยี่ยงนี้คงหมดไปแล้วจากโลกมนุษย์แต่ทว่าเพียงอีกไม่กี่สิบปีหลังจากนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายกันขึ้น คราวนี้เกิดในทวีปเอเชียติดกับประเทศไทยของเราเอง นั่นคือ ในประเทศเขมรหรือกัมพูชา!
เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น เริ่มต้นขึ้นในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๘ อันเป็นวันที่เขมรแดงภายใต้การนำของ “พอลพต” เข้ายึดครองกรุงพนมเปญของกัมพูชาได้สำเร็จ
ค่ายกักกัน “ตวนสเลง” ที่บัดนี้ กลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำอันโหดร้ายในอดีต ครั้งนั้นความหายนะของประเทศเขมรนั้นได้มีตำนานทายทักไว้แต่โบราณกาลว่า
...เมื่อถึงกษัตริย์องค์ที่ ๑๔ ราชบัลลังก์จะถึงวาระสิ้นสุด
โดยจะมีเหล่าปีศาจที่มาในร่างกาดำบินว่อนเต็มท้องฟ้า
จนบังแสงสุริยาไม่ให้ส่องถึงพื้นแผ่นดิน
พร้อมกับคาบผลไม้เน่าๆสีแดงมาทิ้ง
เสมือนเลือดที่จะนองแผ่นดิน ก็ปานนั้น...
พอลพต ผู้นำเขมรแดง และ ค่ายกักกัน "ตวลเสลง"
เมื่อเขมรแดงเข้าครอบครองกัมพูชา นโยบายแรกที่นำมาใช้ก็คือ กำจัดบุคคลผู้มีฐานะและความรู้ ไม่ว่าจะเป็นทหารฝ่ายตรงกันข้าม ครูอาจารย์ วิศวกร พ่อค้า คหบดี ฯลฯ โดยเนรเทศไปให้หมดจากกรุงพนมเปญ แล้วนำไปสังหารหมู่ล้างเผ่าพันธุ์ ดังที่โลกรู้จักในชื่อ “ทุ่งสังหาร” หรือ (Killing Fields) ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ เหยื่อส่วนที่เหลือก็ถูกนำไปกักและกระทำทารุณกรรมเหมือนมิใช่มนุษย์ผู้ยังมีจิตและวิญญาณ ดังเช่นในค่ายกักกัน “ตวลสเลง”
ผู้ถูกกักขังใน “ตวลสเลง” นอกจากชาวเขมรระดับชนชั้นในสังคมดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีเชลยต่างประเทศอีกมากมาย ทั้งชาวเวียดนาม ไทย ลาว อินเดีย ปากีสถาน อังกฤษ อเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ
ภาพจากทุ่งสังหาร
ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เชลยบางคนเป็นถึงรัฐมนตรีหรือทูตต่างประเทศ รวมประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน แต่ตัวเลขแท้จริงเป็นเท่าใดนั้น ไม่มีใครทราบ เนื่องจากเขมรแดงนั้นปกปิดการสื่อสารทั้งปวง นักข่าวไม่อาจเข้าประเทศกัมพูชาช่วงนั้นได้ สิ่งที่ได้รู้กันนั้น ล้วนมาจากปากคำผู้ลี้ภัยเท่านั้น
เมื่อดัดแปลงเป็นค่ายกักกันแล้ว เขมรแดงก็ตั้งชื่อว่า “สำนักงานความมั่นคง” โดยใช้อักษรย่อว่า “เอส-21” แล้วนำเอาบุคคลที่เห็นว่าเป็นศัตรู หรือเป็นกบฏต่อรัฐบาลมาคุมขัง เพื่อทำการรีดเค้นให้ยอมสารภาพความผิดด้วยวิธีการทารุณทุกรูปแบบ เมื่อเหยื่อทนไม่ไหวและสารภาพ ก็จะถูกนำตัวไปฆ่าหมดสิ้น
ตลอด ๔-๕ ปี ในช่วงที่เขมรแดงกุมอำนาจ ค่าย “ตวลสเลง” จัดเป็นสถานแห่งความทารุณโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทุกคนที่เข้ามาในค่ายนี้ท้ายที่สุดก็ต้องถูกสังหาร แต่ก่อนการสังหารนั้น เขาจะถูกทรมานอย่างแสนสาหัสเสียก่อน ด้วยความเหี้ยมเกรียม แข็งกร้าว ไร้วี่แววแห่งมนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง น่าอัปยศอดสูเป็นยิ่งนัก
เมื่อถูกจับและส่งตัวมายัง เอส-21 ทุกคน ไม่ว่าคนเดียวหรือทั้งครอบครัว จะถูกถ่ายรูปและสอบประวัติไว้อย่างละเอียด จากนั้นก็เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดประจำของค่าย แล้วในไปกักขังในห้องเรียน ห้องหนึ่งๆ จะนอนกันยัดเยียดกันบนพื้นราว ๕๐-๖๐ คน โดยนอนสลับหัว-ท้ายติดๆกัน
เหล่าเชลยจะถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติตนภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดและเด็ดขาด ๑๐ ข้อด้วยกัน อาทิ
- สูจะต้องตอบทุกคำถามโดยห้ามโกหก ห้ามปฏิเสธ ห้ามเถียง ทุกกรณี อย่างเคร่งครัด
- ระหว่างถูกเฆี่ยนหรือช็อตด้วยไฟฟ้า ห้ามร้องโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเจ็บปวดเพียงใด
- ถ้าไม่มีคำสั่งให้อยู่เงียบๆ แต่ถ้ามีคำสั่งให้รีบปฏิบัติทันทีโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆทั้งสิ้น
- ถ้าฝ่าฝืนกฏข้อใดข้อหนึ่งจะถูกเฆี่ยน ๑๐ ครั้งหรือถูกช็อตด้วยไฟฟ้าตามอีก ๕ ครั้ง
นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่ยังไม่ได้เขียนไว้อีกมากมายเช่น แม้แต่จะเปลี่ยนท่านอนก็ต้องขออนุญาต ผู้คุมเสียก่อนว่า จะยอมอนุญาตให้เปลี่ยนท่านอนหรือไม่
สภาพความเป็นอยู่ในที่กักขังนั้น คงแทบไม่ต้องพูดถึงว่าเลวร้ายเพียงใด อาหารแต่ละมื้อมีปริมาณน้อยมาก เช่น อาจเป็นข้าวต้ม ๓ ช้อนต่อวัน โดยไม่มีกับทั้งนี้เพื่อให้นักโทษหิวโหยและไม่มีแรง เมื่อถูกทรมานก็จะรบสารภาพง่าย
ส่วนการอาบน้ำใช้วิธีฉีดสายยางเข้าไปรดนักโทษรวมๆกันในห้องขัง อาจจะอาบน้ำแบบนี้ ๔ วันครั้ง หรือยาวเป็นสัปดาห์ละครั้งไปเลยจึงไม่ต้องคำนึงถึงความสะอาด เชลยคนใดที่เจ็บป่วยอยู่แล้วก็จะทำให้ติดโรคจากความสกปรกภายในห้องง่ายขึ้นอีก
สำหรับวิธีการทรมานเพื่อให้รับสารภาพนั้น นับว่าป่าเถื่อนและโหดเหี้ยมจนคนทั่วไปคาดไม่ถึง การใช้ไฟฟ้าจี้หรือเอาเหล็กเผาไฟร้อนแดงนาบตามตัวเป็นสิ่งปกติ แต่มีเชลยบางคนที่ถูกนำไปนอนบนเตียง แล้วกางแขนตรึงไว้ด้วยโซ่ จากนั้นเอามีดโกนกรีดบนหน้าอกให้ผิวหนังเปิดออกเป็นช่อง แล้วเอาตะขาบเป็นๆยัดลงไป พร้อมกับปิดแผล ตะขาบจะวิ่งพล่านอยู่ภายในตัวเชลย เป็นที่น่าหวาดเสียวสุดสยองยิ่ง
เชลยที่ถูกตัดสินประหารอาจโดนแขวนคอราวกับห้อยโหนยิมนาสติกของนักเรียนกลางสนามหญ้า
กล่าวกันว่าช่วงที่เขมรแดงกระทำทารุณกรรมนั้น ชาวกัมพูชาเสียชีวิตไปถึง ๑.๗ ล้านคน
ทั้งจากการถูกสังหาร ถูกทรมาน ความอดอยาก การถูกใช้ให้ทำงานลำบากตรากตรำตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บ
เคราะห์กรรมของชาวกัมพูชาจากน้ำมือของเขมรแดง จบสิ้นลงในต้นปี พ.ศ.๒๕๒๑ เมื่อกองทัพเวียดนาม ยาตราเข้ามาขับไล่กลุ่มเขมรแดงออกจากพนมเปญไป
พอลพต ผู้นำเขมรแดงจบชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักปี พ.ศ.๒๕๔๑
นายเขียว สำพัน หนึ่งในขบวนการ กำลังถูกพิจารณาคดี
ส่วนผู้บงการเขมรแดงคนอื่นๆ ก็ถูกองค์การสหประชาชาติ ดำเนินการนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาโทษ
เรือนจำตวลสเลง1975-1979
เขมรแดงดัดแปลงจากโรงเรียนมัธยมในกรุงพนมเปญมาทำเป็นคุก มีผู้ถูกจองจำในคุกแห่งนี้จำนวน ๑๗,๐๐๐ คน - ๒๐,๐๐๐ คน หรืออาจมากกว่านั้น และมีผู้ที่รอดชีวิตออกมาเท่าที่ตรวจสอบได้เพียง ๑๒ คน