ออกจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าสู่เพชรบูรณ์ ทว่าครั้งนี้ไม่ได้มีจุดหมายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันโด่งดัง อย่างเขาค้อ ภูทับเบิก หรือน้ำหนาว
แต่ปลายทางอยู่ที่ "หล่มสัก" เมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ คณะไปถึงในช่วงบ่าย กินอาหารกลางวันกันที่ร้านขนมจีนเจสัน (เจ๊สั้น) ย่านถนนพิทักษ์ ซึ่งติดอันดับร้านอร่อยของเมืองหล่มสัก
ก่อนมุ่งไปยังบ้านใหม่ ต.ตาลเดี่ยว เยี่ยมชมหมู่บ้านตีมีดโบราณ ที่บรรพบุรุษถูกกวาดต้อนมาจากกรุงเวียงจันทน์ เมื่อครั้งกองทัพสยามเผาเวียงจันทน์ โดยเฉพาะช่างตีมีด ด้วยกุศโลบายที่ต้องการตัดตอนผู้ทำอาวุธของฝ่ายตรงข้าม
สุบิน บุญจันทร์ ประธานกลุ่มตีมีดบ้านใหม่ เล่าว่า วิชาตีมีดถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สมัยก่อนตีมีดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนอื่น เช่น ข้าว ฝ้าย เป็นต้น แต่พอคนจังหวัดอื่นมาเห็นและอยากจะซื้อ จึงเริ่มตีมีดเพื่อจำหน่าย และก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปีพ.ศ.2533 ลักษณะพิเศษของมีดบ้านใหม่คือ การสลักชื่อของช่างตีมีดไว้ทุกเล่ม
ระหว่างนั้นช่างคนหนึ่งคีบเหล็กออกจากเตาเผา แล้วกลุ่มช่างก็ร่วมกันทุบเหล็ก ทำวนเวียนเช่นนี้อยู่หลายครั้ง สุบินอธิบายว่า ขั้นตอนนี้เรียกว่าการขึ้นรูป ต้องตีให้ได้จังหวะไม่อย่างนั้นจะผิดรูป
กว่าจะได้มีดแต่ละเล่มต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษในทุกขั้นตอน แต่สมาชิกกว่า 50 ชีวิต ยังคงยึดมั่นที่จะสืบสานวิชาตีมีด เลี้ยงชีพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
หัตถกรรมที่ขึ้นชื่อและมีตำนานเล่าขานอีกอย่างหนึ่งของเมืองหล่มสัก คือ "ผ้าทอลายราชวัตถ์" สมัยก่อนเรียกว่า "ลายก้านแย่ง"
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลา เจ้าเมืองนำผ้าเกาะยอที่ชนะการประกวดทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "ลายราชวัตถ์" แปลว่า "ผ้าพระราชา"
มเนศ จันดา ประธานที่ปรึกษากลุ่มทอผ้าพื้นบ้าน หมู่ 4 ต.บ้านติ้ว บอกว่าก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาในปีพ.ศ.2551 เนื่องจากเห็นว่าผู้สูงอายุว่างงานและเคยทอผ้ากันมาก่อน จึงอยากให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีรายได้เสริมและเลี้ยงตนเองได้ หมู่บ้านของเราปลูกฝ้ายและผลิตฝ้ายทอผ้ากันเอง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะนำไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าโอท็อป และงานของหน่วยราชการต่างๆ
หลังจากชมขั้นตอนการทำเส้นฝ้ายและทอผ้าแล้ว คณะแวะไปที่บ้าน "ป้าล้าน" วิไลวรรณ แซ่ลี้ แหล่งผลิตไส้อั่วตาลเดี่ยวชื่อดัง จุดเด่นที่แตกต่างจากของเชียงใหม่ก็ตรงที่ไม่ใส่ขมิ้น รับประกันความอร่อยจากปริมาณการผลิตต่อวันอยู่ที่ 50-60 กิโลกรัม
ย้ายจากบ้านป้าล้านไปต่อที่บ้าน คุณยายสมาน เหาะหา เจ้าของสูตรขนมถ้วยฟูโบราณ ขายมานาน 44 ปี ลูกสาวลูกชายช่วยกันขยันขันแข็ง ขนมถ้วยฟูสดๆ ใหม่ๆ ถูกยกลงจากซึ้ง แล้วใส่หม้ออบเทียน เพื่อทำให้รสนุ่มละมุนและหอมหวานมากขึ้น
ขณะที่ในตัวอำเภอหล่มสัก จากการสำรวจสภาพบ้านเรือนพบว่าบางหลังยังเป็นบ้านไม้ ชั้นเดียวบ้าง 2 ชั้นบ้าน และห้องแถวมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ส่วนหนึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นบ้านปูนไปแล้ว
ตกเย็นเข้าร่วมพิธีเปิด "ถนนคนเดินไทหล่ม" ที่ถนนรณกิจ เป็นถนนชุมชนเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในหล่มสัก มีหอนาฬิกาไม้เป็นศูนย์กลางของเมือง แต่ด้วยกาลเวลาทำให้หอนาฬิกาทรุดโทรมลง ทางเทศบาลเมืองหล่มสักจึงสร้างหอนาฬิกาใหม่ที่สวยงาม และร่วมสมัยมาทดแทนของเดิม
กิตติ พั้วช่วย นายกเทศมนตรีเมืองหล่มสัก นำคณะเดินชมถนนคนเดิน พร้อมทั้งเล่าจุดเริ่มต้นว่า ที่ผ่านมาเมืองหล่มสักเป็นเหมือนทางผ่านไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของเพชรบูรณ์ ทั้งที่หล่มสักเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จึงอยากสร้างจุดเด่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาที่หล่มสัก
จึงรวบรวมสินค้าพื้นเมือง สินค้าร่วมสมัย สินค้าแฮนด์เมด ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่มาแสดงให้นักท่องเที่ยวชม อาทิ สาธิตตีมีด ทอผ้ามุข และการแทงหยวก เป็นต้น
ส่วนอาหารท้องถิ่นก็มีให้เลือกหลากหลาย เช่น น้ำพริกผักกระทอน น้ำพริกขี้ปู และเมี่ยงค้น หรือ เมี่ยงสมุนไพร ที่นำพืชผักต่างๆ มาห่อด้วยใบขนุนอ่อน หรือกะหล่ำปลี แล้วราดด้วยน้ำปลาร้าปรุงรส เนื่องจากต้องค้นหาผักเครื่องเคียงหลายชนิด จึงเป็นที่มาของชื่อเมี่ยงค้น
นอกจากนี้ ยังมี การละเล่นผีตาโม่ มองผิวเผินคล้ายกับผีตาโขนของ จ.เลย แต่จากป้ายที่ตั้งไว้หน้าซุ้มก็ทำให้ทราบว่า ตาโม่ เป็นชื่อของบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในอดีต มีรูปร่างอ้วน สูงใหญ่ หน้าตาดุ แต่ใจดี และมีนิสัยขี้เล่น
เมื่อมีงานประเพณี ตาโม่จะชอบแต่งตัวเป็นผีล้อเลียนให้น่ากลัว พอตาโม่เสียชีวิตลง คนเฒ่าคนแก่จึงชอบนำเรื่องของตาโม่มาใช้หลอกเด็กดื้อ เช่น ถ้าไม่นอนเดี๋ยวผีตาโม่จะมากินตับ การแสดงชนิดนี้ถูกอนุรักษ์ไว้โดย อ.สุมาลี ชัยโฉม ก่อนสืบทอดให้โรงเรียนเมืองราดวิทยาคม อ.หล่มเก่า เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทหล่มต่อไป
"เราอยากทำให้ความทรงจำในอดีตกลับคืนมา พร้อมกับการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่น และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามไว้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองหล่มสักในปี 2556 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและประวัติศาสตร์ชุมชน หากแล้วเสร็จตามที่วางแผนไว้ เมืองหล่มสักจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์" นายกเมืองหล่มสักกล่าว