เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 30 พ.ย. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสอบถามการเพิกถอนคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวกลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.จำเลยคดีก่อการร้ายรวม 6 คน ประกอบด้วย นาย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 นพ. เหวง โตจิราการ จำเลยที่ 4 , นาย ก่อแก้ว พิกุลทอง จำเลยที่ 5 ,นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย , นาย การุณ หรือเก่ง โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 9 และนายภูมิกิติหรือ พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 11 โดยเฉพาะนายก่อแก้ว ถูกนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้อง และส่งพยานวัตถุแผ่นซีดีการให้สัมภาษณ์สื่อต่าง ๆต่อศาลว่า นายก่อแก้วมีพฤติการณ์ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 และตัดงบประมาณ ศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่ากระทำผิดเงื่อนไขการประกัน
โดยวันนี้ ศาลนัดให้นายก่อแก้ว พิกุลทอง จำเลยที่ 5 เพียงคนเดียว นำพยาน 3 คนเข้าเบิกความตอบคำถามทนายความเพื่อหักล้างคำร้องของนายนิพิฏฐ์และ สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญรวมโดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.เบิกความสุรปว่า ปกติแล้วนายก่อแก้วเป็นคนเงียบขรึม และปราศรัยให้ความรู้กับมวลชน ซึ่งแกนนำทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่การจะขับเคลื่อนมวลชนนั้น ซึ่งจะรับคำสั่งเป็นทางการ ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวทางของ นปช. แต่กลับถูกจำกัดโดยศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นแรงผลักดันให้นายก่อแก้ว ที่มีอาชีพวิศวกรด้วย จะต้องมีการคาดการณ์ล่วงหน้า ทั้งเรื่องที่ดีที่สุด และเรื่องแย่ที่สุด กรณีที่แย่ที่สุดก็ต้องหาทางรับมือ แต่กรณีนี้ไม่ได้เป็นการยุให้คนเสื้อแดง ทำร้ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือประเทศชาติ เป็นเพียงแค่คำพูดขยายความ และไม่มีเหตุผลใดที่นายก่อแก้วจะก่อความวุ่นวายเสียหายให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และตัวเอง เพราะนายก่อแก้วก็ประกอบธุรกิจหลายอย่างด้วย และนายก่อแก้วก็เป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มนปช.ที่ทำให้เกิดความสงบ ทั้งนี้การพูดของนายก่อแก้วบางครั้งอาจจะมีอารมณ์บ้าง แต่ไม่ได้มีผลต่อการปฏิบัติ ไม่ควรนำมาให้เป็นเรื่องเป็นราว พยานจึงขอความกรุณาและความเห็นใจจากศาลด้วย
ต่อมานายก่อแก้วเข้าเบิกความสรุปว่า เหตุที่ตนต้องไปพูดบนเวทีปราศรัย เนื่องจากการเลือกตั้งเมื่อปี 54 ที่พรรคเพื่อไทยชูนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ไขทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์ โดยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็ต้องขอประชามติจากประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านวาระ 2 ในสภาแล้ว ต่อมามีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งรัฐบาลก็เห็นด้วย ทำให้ฝ่ายค้านออกมาโต้แย้ง รวมทั้งกลุ่ม พันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวปิดล้อมหน้ารัฐสภา ทำให้ พ.ร.บ.ปรองดองไม่สามารถเดินต่อได้ โดยกลุ่มพันธมิตรฯได้สื่อสารให้ทราบกันทั่วกันว่า พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นการช่วยเหลือคนคนเดียวและชักชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมคัดค้าน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า พ.ร.บ.ปรองดอง จะมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ทำให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งเวทีปราศรัยทั่วประเทศรวม 20 เวทีให้ความรู้แก่ประชาชน 2 เรือง คือ ทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ทำไมต้องปรองดอง โดยตนขึ้นเวทีปราศรัย 5 เวทีเท่านั้น
นายก่อแก้ว แถลงว่า ส่วนกรณีที่สนง.เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ส่งเอกสารการถอดคำปราศรัยของตนที่ข่มขู่ เกี่ยวกับการตัดงบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตนเป็นกรรมาธิการงบประมาณ ของสภาฯ มีหน้าที่พิจารณา และติชมทุกหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจง รวมทั้งมีสิทธิเสนอปรับลดงบประมาณให้หน่วยงานใดก็ได้ แต่จะมีผลอย่างไรนั้นก็เป็นการลงมติของที่ประชุม โดยตนไม่มีสิทธิไปบังคับใครให้เห็นชอบ หรือคัดค้าน การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ตนใช้อำนาจหน้าที่ข่มขู่จะตัดงบประมาณ นั้น ไม่เป็นความจริง ที่ตนบอกว่าจะตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ในฐานะกรรมาธิการเพื่อ ประหยัดงบประมาณของชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีอาจารย์หลายสถาบันเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ตนก็มีความเห็นคัดค้าน เพราะองค์กรศาลรัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่ตัวบุคคล
นายก่อแก้ว แถลงว่า ส่วนที่ตนไปปราศรัยย่านมีนบุรีเป็นช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตนรับข่าวหลายกระแส ไปในทางลบ จนเกิดวิตกว่า รัฐบาลชุดนี้จะถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญอีก ทั้งเกรงว่า ตนจะถูกกล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครองเป็นกบฏ มีโทษประหารชีวิต จนเกิดวิตกกังวลมาก ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ส่วนที่อ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครอง และคนเสื้อแดงจะไป จับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนยอมรับว่า เป็นคนพูดจริง แค่เพียงต้องการไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อารมณ์วินิจฉัยบิดเบือนข้อกฎหมาย ขอยืนยันว่า ไม่ได้ข่มขู่ แต่แสดงความห่วงใย ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนถ้อยคำที่ว่า จะให้คนเสื้อแดงจับตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกมวลชนคนเสื้อแดงประชดประชันให้สังคมได้รับรู้ ที่ผ่านมาก็มีคนเสื้อแดงมาระบายความรู้สึกเช่นกับที่ที่ตนพูดออกไป ซึ่งตนก็ห้ามปรามให้ ใจเย็นๆ และเป็นการสะท้อนอารมณ์ด้านมืดเท่านั้น
ด้านนายวีระ มุสิกพงศ์ อดีต ประธาน นปช. เบิกความสรุปว่า ฝ่ายที่มีแนวคิดประชาธิปไตย ถือเป็นแนวทางถูกต้อง ดูจากข้อกล่าวหาที่นายนิพิฏฐ์ และศาลรัฐธรรมนูญร้องนายก่อแก้วเข้ามานั้น ตนคิดว่านายก่อแก้ว ทำถูกแล้วที่กล้าเสนอความคิดเห็นของตนเอง เป็นแนวทางของสังคม ซึ่งเป็นการวิเคราะห์และห้ามปรามเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง หากใครรู้จักคบหานายก่อแก้วจะรู้ว่า ไม่ใช่คนเกเร เชื่อว่านายก่อแก้วมีเจตนาดีต่อระบอบ ประชาธิปไตย เท่าที่ตนทราบมานายก่อแก้วไม่เคยผิดเงื่อนไขสัญญาประกันต่อศาลเลย
เวลา 16.15 น. ศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า มีเหตุสมควรเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จำเลยที่ 3 , นพ.เหวง จำเลยที่ 4, นายวิภูแถลง จำเลยที่ 10, นายการุณ จำเลยที่ 9 และนายภูมิกิติหรือ พิเชษฐ์ จำเลยที่ 11 หรือไม่ เห็นว่า จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในชั้นนี้กับข้อเท็จจริงที่ศาลได้สอบถามจำเลยที่ 3, 4, 9,10 และ 11 แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 3, 4, 9,10 และ 11 ได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนและร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3, 4, 9,10 และ 11 กระทำการใดๆ อันเป็นการผิดเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และยังไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 3, 4, 9,10 และ 11 ได้กระทำการใดๆอันถือว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือภัยอันตรายประการอื่น จึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3, 4, 9,10 และ 11
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายก่อแก้ว จำเลยที่ 5 หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์คำร้องและหนังสือขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายก่อแก้ว จำเลยที่ 5 ประกอบคำแถลงของนายนิพิฎฐ์ ผู้ร้อง กับคำแถลงของนายก่อแก้ว จำเลยที่ 5 แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 จำเลยได้แถลงข่าวที่อาคารรัฐสภาต่อหน้าสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายละเอียดปรากฎตามเอกสารในเว็ปไซด์หนังสือพิมพ์ แผ่นวีซีดีภาพและเสียงการให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 5 เห็นว่า การที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี
ศาลต้องพิจารณาถึงเหตุต่างๆตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.108 เหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่ ซึ่งในคดีนี้เมื่อศาลได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีรวมทั้งเงื่อนไขต่างๆตาม มาตราดังกล่าวแล้ว ได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ได้รับการปล่อยชั่วคราวเนื่องจากศาลต้องการให้ความคุ้มครองสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราว อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ศาลยังให้ความเชื่อถือในตัวจำเลยที่ 5 ว่าจะไม่หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อหาที่จำเลยที่ 5 ถูกฟ้องเป็นข้อหาร้ายแรง ศาลจึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยห้ามมิให้จำเลยที่ 5 กระทำยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ถึงขนาดที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองคู่ความ ผู้มีส่วนได้เสียในคดีและประชาชนทั่วไป ตลอดจนสังคมโดยส่วนรวมให้ปลอดภัยจากภัยอันตราย และความเสียหายใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผิดเงื่อนไขของจำเลยที่ 5 ดังนั้นจำเลยที่ 5 จึงต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขเหล่านั้นอย่างเคร่งครัดและระมัดระวังการกระทำของตนให้สมกับที่ศาลให้ความคุ้มครองและไว้วางใจให้จำเลยที่ 5 มีอิสรภาพในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำของจำเลยที่ 5 จากการแถลงข่าว ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ยอมรับว่าบุคคลในวีซีดีเป็นตัวจำเลยที่ 5 จริง กับยอมรับว่าเสียงที่พูดที่ปรากฏในวีซีดีเป็นเสียงของตน ซึ่งถ้อยคำที่จำเลยที่ 5 แถลงต่อสื่อมวลชนถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ในทำนองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เลวร้ายเกินไป ทั้งนี้หากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาเลวร้ายที่สุดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ตนก็ได้มีการเตรียมตัวโดยให้คนรู้จักเบิกเงินสด ตุนน้ำ ตุนยา หยุดการลงทุน หยุดงาน บอกครอบครัว เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าคำวินิจฉัยออกมาเลวร้ายที่สุดก็ต้องสู้แตกหักอย่างเดียว และยังกล่าวอีกว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการเพื่อล้มล้างการปกครอง ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสนับสนุนรัฐบาลก็จะไม่ยอมรับคำสั่งศาลและจะมีการตอบโต้อย่างรุนแรง คือแจ้งความดำเนินคดีต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญข้อหากบฏ และขอให้ตำรวจจับกุม ถ้าไม่จับกุมประชาชนจะจับเอง ซึ่งฝ่ายอำมาตย์ก็จะจัดมวลชนมาปกป้องทำให้ประชาชนปะทะกันเมื่อตำรวจเอาไม่อยู่ ทหารก็จะออกมาควบคุมด้วยการยึดอำนาจ คนเสื้อแดงจะต่อสู้กับทหารอย่างตาต่อตาฟันต่อฟัน สุดท้ายความสูญเสียจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย ที่ตนพูดเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการข่มขู่ แต่ยอมรับว่าคนเสื้อแดงมีจำนวนเยอะ ซึ่งบางกลุ่มก็เห็นว่าการต่อสู้ของแกนนำที่จะมาชุมนุมประท้วงนั้นนานเกินไปกว่าที่จะได้รับชัยชนะ เพราะฉะนั้นก็อาจก่อความรุนแรงได้
ต่อมาถ้อยคำดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้างทั้งทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และทางอินเตอร์เน็ต การกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นต่อหน้าสื่อมวลชน โดยเฉพาะถ้อยคำที่ หากศาลมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการเพื่อล้มล้างการปกครอง ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสนับสนุนรัฐบาลก็จะไม่ยอมรับคำสั่งศาลและจะมีการตอบโต้อย่างรุนแรง คือแจ้งความดำเนินคดีต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญข้อหากบฏ และขอให้ตำรวจจับกุม ถ้าไม่จับกุมประชาชนจะจับเอง เป็นถ้อยคำที่มุ่งเน้นไปยังผลร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปในทางที่ตนเองไม่เห็นชอบด้วย เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 5 ได้อย่างชัดเจนที่ต้องการข่มขู่คุกคามและกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็น 2 มาตรฐานดังที่จำเลยที่ 5 กล่าวอ้าง
นอกจากนี้คำกล่าวในทำนอง "หากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาเลวร้ายที่สุดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ตนก็ได้มีการเตรียมตัวโดยให้คนรู้จักเบิกเงินสด ตุนน้ำ ตุนยา หยุดการลงทุน หยุดงาน บอกครอบครัว เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าคำวินิจฉัยออกมาเลวร้ายที่สุดก็ต้องสู้แตกหักอย่างเดียว คนเสื้อแดงจะต่อสู้กับทหารอย่างตาต่อตาฟันต่อฟัน สุดท้ายความสูญเสียจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย" นั้น ยิ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 5 ที่จะยุยง ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่นำพาต่อเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งไว้ ทั้งไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย แต่การกล่าวข้อความเช่นนั้นในเวลาและสถานการณ์ที่ไม่ควรกล่าว ก็อาจนำมาซึ่งความวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งในเวลานั้นจำเลยที่ 5 อยู่ในสถานะที่เป็นแกนนำทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงและในสถานะที่เป็น ส.ส. คำพูดของจำเลยที่ 5 ย่อมทำให้มวลชนคล้อยตามได้ง่ายขึ้น เมื่อจำเลยที่ 5 กล่าวถ้อยคำเช่นนั้นในเวลาที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะมีคำวินิจฉัย โดยเชิญสื่อมวลชนมาที่ห้องแถลงข่าวของอาคารรัฐสภา ยิ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 5 ได้อย่างชัดเจนว่าต้องการให้คำพูดเหล่านั้นถูกเผยแพร่ออกไป และต้องการให้มีผลต่อคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้น อันเป็นการคุกคามต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หาได้เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าหรือแสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผลอยู่บนพื้นฐานของหลักตรรกะวิทยาดังที่จำเลยที่ 5 กล่าวอ้างไม่
ส่วนที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าการสั่งการใดๆไปยังมวลชนคนเสื้อแดงจะมีผลในทางปฏิบัติต่อเมื่อเป็นมติของแกนนำทุกคน การสั่งการของแกนนำเพียงคนเดียวจะยังไม่มีผล ทั้งยังอ้างว่าตนได้กล่าวกำชับให้มวลชนไม่ต้องออกมาชุมนุมที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญหรือสถานที่ราชการต่างๆ ให้รอดูสถานการณ์อยู่ในที่พักอาศัยเท่านั้น โดยมีนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.มาแถลงยืนยันสนับสนุน เห็นว่า ลักษณะถ้อยคำที่จำเลยที่ 5 แถลงออกมาไม่เพียงแต่เป็นการยั่วยุ ปลุกระดม กลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้คนทั่วไปในสังคม เกิดความรู้สึกหวาดกลัวจนอาจลุกขึ้นมากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อต่อต้านการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงตามที่จำเลยที่ 5 กล่าวไว้ ก่อให้เกิดเหตุไม่สงบวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง นอกจากนี้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็น 1 ในแกนนำของคนเสื้อแดงออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เป็นการส่งสัญญาณให้คนเสื้อแดงเข้าใจได้ว่าสิ่งที่จำเลยที่ 5 แถลงคือมติของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 5 ว่าต้องการให้ผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับฝ่ายของตนรวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังทำหน้าที่เข้าใจว่าจำเลยที่ 5 สามารถควบคุมมวลชนให้กระทำการตามที่ตนกล่าวได้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาในทางตรงข้ามกับที่จำเลยที่ 5 ต้องการ เป็นการกล่าวข้อความยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ทั้งต่อมวลชนฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้ามให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ถึงขนาดที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งไว้ และยังถือได้ว่าจำเลยที่ 5 อาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น จึงยังไม่แน่ว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ต่อไป จำเลยที่ 5จะไปกล่าวหรือแถลงข้อความในทำนองยั่วยุ ปลุกปั่น อย่างใดอีก
กรณีมีเหตุสมควรที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 หมายขังจำเลยที่ 5 ไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
อนึ่ง เนื่องจากในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3, 4, 9, 10 และ 11 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระยะเวลาที่ต่างกัน เงื่อนไขในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไม่เหมือนกัน จึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3, 4, 9, 10 และ 11 เสียใหม่ โดยให้มีเงื่อนไขเดียวกัน จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3, 4, 9, 10 และ 11 โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามจำเลยที่ 3, 4, 9, 10 และ 11 กระทำการใดๆอันเป็นการดูหมิ่นผู้อื่น หรือยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยที่ 3, 4, 9, 10 และ 11 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
ภายหลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนปล่อยชั่วคราวนายก่อแก้ว บรรดาแกนนำ นปช. นายณัฐวุฒิ นายจตุพร น.พ.เหวง นางธิดา นายวิภูแถลง นายยศวริศ นายวีระกานต์ ต่างเดินเข้าไปพูดปลอบและให้กำลังใจนายก่อแก้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวนายก่อแก้ว ซึ่งเดินออกมาพร้อมชูสองนิ้ว ขึ้นรถตู้นำตัวไปควบคุมที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ทันที โดยมีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ขับนำหน้า
ส่วนแกนนำคนที่เหลือก่อนเดินทางกลับก็ได้เดินไปพูดคุยกับมวลชนที่มารอให้กำลังใจพร้อมบอกว่า "ไม่เป็นไร เราจะสู้กันต่อไป" หลังจากนั้นแกนนำที่เหลือก็ได้เดินทางกลับทันที
สำหรับบรรยากาศภายหลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวนายก่อแก้ว กลุ่มมวลชนเสื้อแดงที่มารอให้กำลังใจแกนนำ นปช. อยู่บริเวณรั่วหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ต่างส่งเสียงตะโกนโห่ร้องด้วยความเสียใจ บางคนถึงกับกลั่นน้ำตาไว้ไม่อยู่ร้องไห้ออกมา บางคนถึงกับกล่าวว่า "เราจะล้มล้างศาล" "ทำไมต้องทำกับคนเสื้อแดงด้วย" โดยคนเสื้อแดงบางคนถึงกับร้องไห้ลงไปนอนกับพื้นทางเดินเท้า แต่ไม่ได้เกิดความวุ่นวาย หรือความรุนแรงใดๆ
นางธิดา กล่าวว่า เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่คนเสื้อแดงประสบพบเจอ คือ ไม่เจอศาล ก็เจอคุก และหวังว่าแกนนำเสื้อแดงคนอื่นจะไม่เป็นแบบเดียวกับนายก่อแก้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็คงไม่กระทบกับสถานภาพการเป็น ส.ส.ของนายก่อแก้ว ส่วนเรื่องการประกันตัวขอให้เป็นเรื่องของทางทนายความ อย่างไรก็ตามขอให้มวลชนเสื้อแดงยอมรับคำสั่งของศาล
ด้านนายธำรงค์หลักแดน ทีมทนายความนายก่อแก้ว กล่าวว่า ในวันนี้ไม่สามารถที่จะยื่นประกันตัวนายก่อแก้วได้ทัน เนื่องจากใกล้หมดเวลาทำการของศาล ซึ่งคงต้องไปว่ากันอีกทีในสัปดาห์หน้า