สิ้นยุคญี่ปุ่นแล้ว

ญี่ปุ่นเพิ่งจะหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่แม้จะหลุดจากวิกฤติเศรษฐกิจออกมาได้ ก็ยังไม่ถือว่าพ้นปากเหยี่ยวปากกา สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะเศรษฐกิจอาจทรุดฮวบลงอีกได้จากหลาย ๆ ปัจจัย ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา กลับฝังตัวอยู่ในบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นหลายบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจ
   
เหยื่อรายล่าสุด คือโตโยต้า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และใหญ่ที่สุดของโลกด้วย ประสบปัญหาใหญ่เกี่ยวกับความปลอดภัยในรถยนต์หลายรุ่น จนต้องเรียกรถยนต์คืนนับสิบล้านคันทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐด้วย เนื่องจากพบปัญหาคันเร่งค้าง จากแผ่นรองพื้นลื่นเข้าไปขัดคันเร่ง ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเรียกรถคืนถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
   
ปัญหาของโตโยต้าเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส หรือเจเอแอล ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น และเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่เคยเป็นความภาคภูมิใจของชาวอาทิตย์อุทัย ขอยื่นล้มละลายต่อศาล เพราะแบกภาระหนี้สินมหาศาลหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนรัฐบาลต้องแบกหน้ายื่นมือเข้าช่วยเหลือ
   
บริษัท โซนี่ ยักษ์ใหญ่สินค้าเครื่อง ใช้ไฟฟ้า ต้องสูญเสียตำแหน่งผู้นำในตลาดให้แก่บริษัท แอปเปิล อิงค์ ไป และประสบปัญหาใหญ่ด้านคุณภาพ ขณะที่ ฮอนด้า ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่แข่งหมายเลขหนึ่งของโตโยต้า ก็ประสบปัญหาคล้ายโตโยต้า กำลังเรียกรถจำนวน 646,000 คันทั่วโลกกลับมาตรวจ สอบ เพราะกระจกไฟฟ้ามีปัญหา ทำให้ชื่อเสียงด้านคุณภาพที่บริษัทญี่ปุ่นสั่งสมมาเนิ่นนาน และถือว่าเป็นจุดเด่นของสินค้าญี่ปุ่น กลับได้รับความเสียหายอย่างหนัก ลูกค้าขาดความเชื่อมั่น ในขณะที่ประเทศคู่แข่งด้านเศรษฐกิจอย่างจีน ก็กำลังจ่อจะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกอยู่ในเวลาอันใกล้นี้ นอกจากนี้ สินค้าจากบริษัทเกาหลีใต้ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งอย่างเต็มตัว
   
อะไรคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น ที่เร่งพัฒนาประเทศจากซากปรักหักพังของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างรวดเร็ว ?
   
ปัญหาที่เผชิญหน้าโตโยต้า โซนี่และเจเอแอล แตกต่างกันไป แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เหมือนกันที่การดิ้นรนแก้ปัญหา นายเคอร์บี ดาลีย์ เทรดเดอร์ ผู้คร่ำหวอดในโตเกียว ซึ่งขณะนี้เป็นหัวหน้า ด้านยุทธศาสตร์ของ เนเว็ดจ์ กรุ๊ป บริษัท บริการการเงินในฮ่องกง กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้บริษัทเหล่านี้เปิดเผยความอ่อนแอออกมา จนซุกซ่อนไว้ไม่อยู่อีกต่อไป ทั้งโตโยต้าและโซนี่ กำลังแข่งขันอย่างดุเดือดกับบริษัทของเกาหลีใต้ จีน และประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ที่มีการพัฒนาสินค้าอย่างรวดเร็ว แต่ราคาถูกกว่าสินค้าจากญี่ปุ่น แม้ว่าคุณภาพของสินค้าญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มลดลงแล้วก็ตาม และบริษัทในประเทศคู่แข่งอาจใช้โอกาสที่ญี่ปุ่นย่ำแย่นี้ คว้าชิ้นปลามันไปกินจนอิ่มหมีพีมัน กว่าญี่ปุ่นจะเรียกศรัทธากลับ  คืนมาได้
   
คู่แข่งใหม่ในเอเชียบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้เรียนรู้เทคนิคการผลิตของพวกเขาจาก บริษัทญี่ปุ่นที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วภูมิภาค นักวิเคราะห์กล่าวว่า การลดราคาให้ถูกลงเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน สนองตอบความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาด โตโยต้า โซนี่และบริษัทอื่น ๆ ต่างก็หันมาควบคุมด้านคุณภาพ เพราะพวกเขาพยายามที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย คือเพิ่มยอดขายให้ได้มากขึ้น
   
ถึงวันนี้ บริษัทระดับยักษ์ ที่ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของญี่ปุ่นเหล่านี้ จะฟื้นศรัทธาผู้บริโภคได้อย่างไร ยังน่าเป็นห่วง เพราะปัญหาปรากฏให้เห็นรายวัน หากแก้ปัญหาล่าช้าคงไม่เป็นผลดีแน่ แต่อานิสงส์นี้จะตกไปอยู่กับประเทศคู่แข่ง ทั้งเกาหลีใต้ และจีน ต่างก็รับส้มหล่นไปตาม ๆ กัน ในขณะที่คู่แข่งทางธุรกิจเพลี่ยงพล้ำ.


Credit: เดลินิวส์
8 ก.พ. 53 เวลา 10:08 10,421 55 564
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...