ของเล่นโบราณ ที่ อันตรายสุดๆ ไม่รุ้ว่าทําออกมาขายได้อย่างไร

 

“ของเล่นโบราณ” ที่ “อันตรายสุดๆ” ไม่รู้ว่าทำออกมาขายได้อย่างไร

  จริงๆ แล้วของเล่นสำหรับเด็กที่ดีต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก แต่ไม่น่าเชื่อว่าสมัยก่อนจะมีวิธีการคิดเรื่องความปลอดภัยต่างจากสมัยนี้มาก ขนาดที่ใครๆ ก็สามารถผลิตของเล่นอันตรายสุดๆ ที่พ่อแม่ยอมซื้อให้ลูกตัวเองเล่นได้อย่างไรก็ไม่รู้  

Gilbert Glass Blowing Set : ชุดเป่าแก้วด้วยตัวเอง

ที่มาภาพ Live Auctioneers

งานเป่าแก้วเป็นงานละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ทักษะในการทำ ในสมัยก่อนการเป่าแก้วเป็นทักษะที่มีประโยชน์มาก แม้แต่นักศึกษาเคมีสมัยก่อนก็ต้องเป่าแก้วสร้างหลอดทดลองใช้กันเองด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม การเป่าแก้วนี้ก็ค่อนข้างอันตรายอยู่เหมือนกัน เพราะการจะทำให้แก้วอ่อนตัวลงได้ต้องใช้ความร้อนสูงถึง 538 องศาเซลเซียส แต่สำหรับชุดของเล่น Gilbert Glass Blowing Set กลับสนับสนุนให้เด็กๆ ลอง เป่าแก้วด้วยตัวเองที่บ้านโดยใช้มือเปล่าจับ และไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเลยแม้แต่ชิ้นเดียว (ขนาดรูปในคู่มือยังใช้มือเปล่าจับแก้วที่กำลังเอาไปลนไฟเลย) ไม่รู้เด็กจะรู้หรือเปล่าว่าไฟแรงขนาดนั้นถ้าเอามือไปจับแก้วที่ร้อนๆ อยู่หนังคงหลุดติดไปด้วย

คู่มือสอนการเป่าแก้วที่มากับชุดของเล่น

ที่มาภาพ The Science Notebook  

 

Gilbert Molten Lead Casting Kit : ชุดหล่อตะกั่วด้วยตัวเอง

ที่มาภาพ Live Auctioneers , humboldtsentinel

Gilbert Molten Lead Casting Kit (ผู้ผลิตเดียวกับหัวข้อด้านบน) ผลิตชุดของเล่นที่จะทำให้เด็กๆ สามารถสร้างตุ๊กตาทหารและกองทัพจากโลหะได้ด้วยตัวเอง ซึ่งฟังดูเข้าท่ามากๆ จนกระทั่งได้ลองอ่านคู่มือนั่นแหละถึงจะรู้ว่า การสร้างตุ๊กตานั้นก็คือ การ หล่อขึ้นมาจากตะกั่วที่ต้องเอามาหลอมละลายเอง วิธีการคือ ใส่เศษโลหะลงไปในหม้อหลอม หลังจากที่มันหลอมละลายแล้วก็ตักขึ้นมาแล้วเทลงไปในแม่พิมพ์ อย่าลืมว่านี่คือการเทโลหะร้อนๆ ซึ่งไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่งถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและไม่มีการป้องกันอย่างดี แต่สมัยนั้น เด็กๆ แค่ซื้อชุดของเล่นนี้มาก็ทำเองได้เลย

หม้อหลอมโลหะและแม่พิมพ์รูปต่างๆ

ที่มาภาพ Girders&Gears  

 

 

Model Dockyard Locomotive : รถไฟของเล่นพลังไอน้ำ

ที่มาภาพ Christies , Live Auctioneers

ในปี ค.ศ.1843 บริษัท Stevens Company ได้ผลิตของเล่นที่ชื่อ Model Dockyard Locomotive ซึ่งเป็นรถไฟของเล่นเคลื่อนที่ได้จริงชิ้นแรกๆ ของโลก โดยใช้ระบบเครื่องจักรกลไอน้ำแบบที่เหมือนกับของรถไฟจริงๆ มาดัดแปลงให้เล็กลง และใส่เข้าไปในรถไฟของเล่นนี้ วิธีการทำให้รถไฟนี้เคลื่อนที่ เด็กๆ จะต้อง เทน้ำมันก๊าดหรือแอลกอฮอล์ลงไป แล้วจุดไฟ เพื่อให้หม้อต้มน้ำที่ติดอยู่ที่รถไฟเดือดจนกลายเป็นไอน้ำ และในที่สุดรถไฟก็จะวิ่งได้พร้อมกับทำน้ำมันก๊าดหรือแอลกอฮอล์ที่เติมไว้ไหลหกไปด้วยตลอดทาง

หม้อต้มน้ำเดือดที่อยู่ในรถไฟของเล่น

ที่มาภาพ James' Steam Toy , Modelsteam

ถึงแม้จะอันตรายแบบนี้ แต่ของเล่นชิ้นนี้ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะใครๆ ก็อยากได้ของเล่นที่วิ่งได้จริงๆ ส่วนเรื่องความปลอดภัยเอาไว้ก่อน  

 

 

Powermite Working Power Tools : ชุดเครื่องมือช่างของเล่น

ที่มาภาพ Ebay

จากเครื่องมือช่างประจำบ้านของคุณพ่อ ย่อขนาดลงมาสำหรับเด็กๆ เอาไว้เล่น แต่ต่างจากของเล่นเครื่องมือช่างพลาสติกกิ๊กก๊ิอกสมัยนี้ เพราะนี่ ทำมาจากเหล็กจริงๆ ใช้งานได้เหมือนของจริงทุกอย่าง เว้นแต่ขนาดเล็กลงมาหน่อยเท่านั้นเอง ชุดของเล่นนี้มีอยู่ 2 แบบคือ แบบสว่านและเครื่องเลื่อยแบบตั้งโต๊ะตัวของใบมีดและหัวสว่านก็ทำมาจากโลหะแท้ๆ ถึงจะไม่คมพอขนาดไปเผลอตัดนิ้วใครหลุดออกมาได้ ก็โดนเข้าไปก็คงเลือดตกยางออกกันอยู่ดี

ที่มาภาพ Ebay  

 

 

เครื่องครัวและเตารีดของเล่น

ที่มาภาพ flickr , flickr (2) , Luby Lane , Etsy

มาถึงของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงกันบ้าง แค่ดูรูปรอยไหม้บนของเล่นนี้ก็น่าจะพอบอกได้แล้วว่าอันตรายขนาดไหน ของเล่นเหล่านี้ทำขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1930 ถึง ค.ศ.1940 ซึ่งไม่ได้เอาไว้แค่เล่นสมมุติหลอกๆ แบบของเล่นเด็กทุกวันนี้ แต่สามารถ เสียบปลั๊กได้จริง ร้อนจริง และใช้ได้จริง ถึงจะดูอันตราย แต่ของเล่นพวกนี้ก็ขายดีมาก เด็กๆ ผู้่หญิงต่างก็อยากได้มาไว้ใช้เล่นเป็นแม่บ้านแม่เรือน ส่วนเตารีดแบบที่มีฉนวนกันความร้อนปลอดภัยขึ้นมาอีกหน่อยราคาก็แพงกว่าแบบธรรมดา 50 เซนต์ แต่ก็น่าจะดีกว่าไม่มีอะไรเลย เพราะ เตารีดนี้ร้อนได้ถึง 120 องศาเซลเซียส แต่ก็อาจจะดีก็ได้เหมือนเป็นเหมือนการฝึกเด็กๆ ล่วงหน้าว่าเตารีดจริงๆ เป็นยังไง โดนเข้าไปทีนึงคงจำกันไปอีกนาน

 

Gilbert Chemistry Set : ชุดทดลองเคมีของเล่น

ที่มาภาพ Wikipedia

จริงๆ แล้วสารเคมีไม่น่าจะเอามาทำเป็นของเล่นได้ แต่บริษัท Gilbert ทำได้ทุกอย่าง และถ้าคุณคิดว่า ก็แค่เอาสารเคมีธรรมดาๆ ไม่เป็นอันตรายมาทำก็ไม่น่าเป็นอะไรแล้ว คงต้องคิดกันใหม่ เพราะสารเคมีที่มีอยู่ในนี้บางอันก็อันตรายอย่างยิ่ง เช่น Potassium permanganate ที่นอกจากจะเป็นพิษแล้วยังทำให้ของติดไฟได้ หรือ Ammonium nitrate ที่เอามาใช้ทำระเบิด ทุกสิ่งทุกอย่างรวมกันอยู่ในกล่องเดียว และถ้าแค่นั้นยังไม่อันตรายพอ คู่มือที่มากับของเล่นนี้มี สอนวิธีการทำระเบิดด้วยตัวเอง อีกด้วย โดยมีคำเตือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นว่า "ห้ามนำการทดลองนี้ไปทำโดยใช้ปริมาณสารเคมีในสัดส่วนมากกว่าที่แนะนำ " ทำเอาซะเหมือนสารเคมีระเบิดได้เป็นแค่ของประจำบ้านธรรมดา แม้แต่ซุปเปอร์แมนก็ยังสนับสนุนให้เด็กๆ ซื้อชุดทดลองเคมีมาลองเล่นเองที่บ้านอีกต่างหาก

เด็กที่ดีต้องเชื่อฟังซุปเปอร์แมน แล้วซื้อ Gilbert Chemistry Set มาไว้เล่นที่บ้านนะจ๊ะ

ที่มาภาพ Jitterbuzz

หลังจากเป็นที่นิยมอยู่หลายปีในช่วงปี ค.ศ.1930 ชุดของเล่นนี้ก็หายเงียบไปในช่วงปี ค.ศ.1960 (พร้อมๆ กับข้อหาที่โดนฟ้องมากมายหลายกระทง)  

 

Austin Magic Pistol : ปืนของเล่น

ที่มาภาพ The Truth About Guns

ผลิตออกมาในช่วงปี ค.ศ.1950 Austin Magic Pistol ทำมาเพื่อให้เด็กๆ เล่นยิงปืนบรรจุลูกกระสุนพลาสติกใส่กัน ซึ่งใครที่เคยโดนยิงปืนลมใส่ก็คงรู้ว่าเจ็บน่าดูเหมือนกัน แต่ปืนนี้ไม่ได้เหมือนปืนลมธรรมดาๆ สมัยนี้ ในโฆษณาของเล่นมีบอกไว้ว่า ลูกกระสุนถูกยิงออกมาด้วยการผสมกันระหว่าง คริสตัลวิเศษ และน้ำ ที่อยู่ท้ายปืน คริสตัลวิเศษที่ว่านี้ความจริงแล้วก็คือ Calcium carbide สารเคมีอันตรายที่ติดไฟ

คริสตัลวิเศษ ที่ความจริงคือ Calcium carbide

ที่มาภาพ toycannons

สรุปคือ ปืนนี้ยิงกระสุนออกมาได้โดยการใช้แรงระเบิดขนาดเล็กๆ ในปืนที่ทำให้ยิงกระสุนออกมาได้ไกล 20 เมตร (แรงขนาดนี้ใครโดนเข้าไปไม่ใช่แค่เจ็บธรรมดาแน่ๆ) และถ้าใครอยากได้แรงระเบิดที่อลังการกว่านี้ ก็ไปเอา Ammonium nitrate จากชุดทดลองเคมีของเล่นในหัวข้อด้านบนมาผสมได้เลย  

 

 

Atomic Energy Lab : ชุดสร้างพลังงานนิวเคลียร์

ที่มาภาพ orau , flickr

ไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครคิดเอาของอันตรายแบบนี้มาทำเป็นของเล่นเด็กด้วย แต่ในสมัยช่วงปี ค.ศ.1950 พลังงานนิวเคลียร์เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ เป็นพลังงานที่ทำประโยชน์และเป็นความหวังของมนุษยชาติสู่อนาคตที่ดีกว่า ดังนั้น ตอนนั้นจึงไม่มีใครคิดว่าของเล่นที่มีส่วนประกอบของกัมมันตภาพรังสีแบบนี้จะเป็นอันตรายได้อย่างไร ผลิตโดย American Basic Science Club อุปกรณ์ในกล่องมาพร้อมกับ แร่ยูเรเนียมชิ้นเล็กๆ ที่มีกัมมันตภาพรังสีอยู่ด้วย และแร่เรเดียม ที่มีกัมมันตภาพรังสีมากกว่ายูเรเนียมเป็นล้านเท่า แค่นี้ยังไม่พอ ในคู่มือการใช้ยังมีคำแนะนำให้เด็กๆ จับน้ำแข็งแห้ง ที่มีอุณหภูมิ -109.3 องศาเซลเซียส โดยไม่ได้บอกว่าต้องใส่ถุงมือด้วย ทั้งๆ ที่การจับน้ำแข็งแห้งต้องใส่ถุงมือด้วยไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตรายได้ หลังจากของเล่นชุดนี้ออกมาแล้ว บริษัท Gilbert เจ้าเดิม (ที่น่าสงสัยว่าทำไมผลิตแต่ของเล่นอันตรายแบบนี้) ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ออกของเล่นชุด Atomic Energy Lab ของตัวเองมาแข่งบ้างโดยมีชุดสำหรับวัดค่ากัมมันตภาพรังสีแถมมาให้ด้วย เด็กๆ จะได้เอาไปวัดดูได้ว่าหลังจากเล่นเสร็จแล้วมีกัมมันตภาพรังสีตกค้างอยู่ในร่างกายแค่ไหน แล้วจะทำของเล่นแบบนี้ออกมาทำไมตั้งแต่แรกกันเนี่ย

Atomic Energy Lab ของบริษัท Gilbert

ที่มาภาพ orau , Bee Creative  

 

แปล เรียบเรียง และอ่านบทความเพิ่มเติมที่ http://www.everyday-readers.com

ที่มา Cracked

Credit: โพสต์จังดอดคอม
#ของเล่น
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
26 พ.ย. 55 เวลา 06:19 6,786 5 130
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...