ถึงจะไม่ได้เป็น "ผู้ชักใย" ตัวจริงในการชุมนุมของประชาชน ทั้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา และ 24 พฤศจิกายนที่จะถึง
แต่บทบาทของ "เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ในฐานะ "ตัวเปิด" ตัวชูโรงของการชุมนุมก็ไม่สามารถมองข้ามไปได้
ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศประเภท "ม้วนเดียวจบ" ไม่เช่นนั้นจะวางมือก็ดี
หรือการเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมมากันมากๆ ตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้าไปจนถึงสะพานผ่านฟ้าฯก็ดี
ด้านหนึ่งก็เหมือนเป็น "คำใบ้" บอกให้รู้ว่าฝ่ายจัดการชุมนุมตั้งใจจะให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ประการหนึ่ง การชุมนุมขับไล่รัฐบาลจะเป็นจริงได้อย่างไร ถ้าผู้จัดชุมนุมไม่มีข้อมูลหลักฐานเป็นรูปธรรมชัดเจนมาแสดงให้มวลชนได้เห็น
ความน่าจะเป็นก็คือการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในการชุมนุม อันนำไปสู่ความวุ่นวายหรือการจลาจล
จนกระทั่ง "กองทัพ" ในฐานะผู้ถืออาวุธไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้
ประการหนึ่ง ถ้าผู้มาชุมนุมหนาแน่นเพียงลานพระบรมรูปทรงม้าถึงแยกมิสกวันทางจะไปทำเนียบรัฐบาล ซึ่งประเมินจากขนาดพื้นที่แล้วรองรับมวลชนได้ประมาณหลักแสนต้นๆ จะประกาศเลิกการชุมนุม
แปลว่าผู้จัดการชุมนุมต้องการจะได้มวลชนมากกว่านั้น
ด้านหนึ่ง มวลชนยิ่งมากก็ยิ่งกดดันรัฐบาล
ด้านหนึ่ง มวลชนยิ่งมากก็ยิ่งเสี่ยงจะเกิดความวุ่นวายได้ง่าย
ที่ประชุมด้านความมั่นคงของรัฐบาลที่หารือกันเมื่อต้นสัปดาห์ รับทราบรายงานการสอบสวนกลุ่มผู้ที่จะเข้าร่วมการชุมนุมจากจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า แกนนำแจ้งให้ผู้ชุมนุมเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น อาทิ เงินติดตัวที่สามารถใช้ยังชีพได้ 3 วัน ให้ผู้ชุมนุมใส่เสื้อแขนยาว ชุดสำรอง 2 ชุด พร้อมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นจริงๆ และผ้าขนหนูขนาดเล็ก แว่นตากันสารเคมี/แว่นตาว่ายน้ำ
พร้อมทั้งกำชับว่าในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบปราม หรืออาจมีกลุ่มมือที่ 3 หรือกลุ่มคนเสื้อแดงแฝงตัวปะปนมา และใช้ระเบิดปาใส่ผู้ชุมนุม ให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สถานที่ปลอดภัย ที่แรกคือคือสนามเสือป่า ลำดับต่อมาคือวัดเบญจมบพิตร
ลำดับสุดท้ายคือสถานที่สำคัญในย่านดังกล่าวที่มี "ความอ่อนไหว" สูง
และสามารถสร้างแรงกดดันต่อกองทัพซึ่ง "อ่อนไหว" ต่อประเด็นดังกล่าว
ให้ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลประเมินว่าคือ เป้าของการชุมนุมคือการสร้างความวุ่นวายใกล้สถานที่สำคัญดังกล่าว
เพื่อกดดันให้กองทัพตัดสินใจรัฐประหาร
แนวทางการประเมินของหน่วยงานด้านความมั่นคงแทบไม่แตกต่างอะไรไปจากผู้สังเกตการณ์อื่นๆ
ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน
เท้าความถึงรายงานเมื่อปี 2551 ของนายอีริค จี จอห์น อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยที่รายงานกลับไปยังกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แล้วถูกวิกิลีกส์ล้วงตับเอาเผยแพร่ในภายหลัง ท่อนที่ว่า
"XXXXXXXXXXXX believed PAD continued to aim for a violent clash that would spark a coup. He asserted that he had dined on October 6 with a leading PAD figure (NFI), who explained that PAD would provoke violence during its October 7 protest at the parliament. The unnamed PAD figure predicted (wrongly) that the Army would intervene against the government by the evening of October 7. XXXXXXXXXXXX asserted to us that PAD remained intent on a conflict that would generate at least two dozen deaths and make military intervention appear necessary and justified."
หรือพากย์ไทยก็คือ
"นาย.....เชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรตั้งใจจะให้เกิดความรุนแรงจากการปะทะกันเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร เขาระบุว่าได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรเมื่อคืนวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งบอกกับเขาว่าพันธมิตรจะกระตุ้นให้เกิดเหตุรุนแรงระหว่างการประท้วงที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม
แกนนำพันธมิตรที่ไม่ระบุชื่อรายนี้ทำนาย (เอาไว้ผิด) ว่า ทหารจะเข้ายึดอำนาจในเย็นวันที่ 7 ตุลาคม
นาย.....ย้ำกับเราว่าพันธมิตรยังตั้งใจจะให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ต่อไป แม้จะต้องมีคนเสียชีวิตสักโหลหนึ่ง
เพื่อทำให้การแทรกแซงของทหารเป็นสิ่งจำเป็นและชอบธรรม"
ฟังดูคุ้นๆ