5 ไอเดียหลุดโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน
แม้ว่าในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 17 หรือ COP 17 ที่เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อปลายปีที่แล้ว จะยังไม่มีข้อยุติเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก เลยต้องมาหารือกันต่อในการประชุมครั้งที่ 18 ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้เกิดความกังวลว่าให้เป้าหมายที่จะประคับประคองอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไมให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับอุณหภูมิของโลกในยุคก่อนอุตสาหกรรม ฯลฯ) เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น…
เนื่องจากที่ผ่านมา แต่ละประเทศต่างเสนอเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกกันโดยอิสระ และเมื่อนำตัวเลขเป้าหมายทั้งหมดมารวมกัน อุณหภูมิโลกก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียสอยู่ดี ถ้าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ โลกเราก็เสี่ยงที่จะเข้าสู่ขั้นวิกฤติ และจะเกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง ทั้งความแห้งแล้ง อุทกภัย พายุ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลกหลายสิบล้านคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงกระนั้นก็ยังมีความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายในการคิดหาหนทางรับมือและต่อกรกับปัญหาโลกร้อน โดยไม่นั่งรอให้ข้อตกลงเรื่องก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ซึ่งจะมีข้อผูกพันทางกฎหมาย มีผลบังคับใช้ (ปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563)… และ 5 ไอเดียต่อไปนี้ก็คือแนวคิดเด็ดๆ ในการรับมือโลกร้อนแบบ “วิศวกรรมดาวเคราะห์” หรือ “Geoengineering” ที่เคยถูกนำเสนอหรือหยิบยกมาพิจารณา แต่หลายไอเดียที่ว่าไม่อาจนำมาใช้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากได้ไม่คุ้มเสีย ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้างอีกด้วย
หมายเหตุ: วิศวกรรมดาวเคราะห์ (หรือ วิศวกรรมสภาพภูมิอากาศ, การฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ, การแทรกแซงสภาพภูมิอากาศ) คือ เทคโนโลยีหรือโครงการขนาดใหญ่ยักษ์ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อจัดการหรือแทรกแซงระบบภูมิอากาศโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งทาง “รอยัล โซไซตี้” ในประเทศอังกฤษ ได้แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ คือ การกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยทำให้โลกดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์น้อยลง
**
1. สร้างเขื่อนกั้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เมื่อปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) สถาปนิกชาวเยอรมันนามว่า “เฮอร์แมน เซอร์เกล” ได้ออกแบบโครงการอภิมหาโปรเจ็คที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อ “แอตแลนโทรปา” ซึ่งเป็นแนวคิดในการก่อสร้างเขื่อนยักษ์กั้นช่องแคบยิบรอลตาร์ หรือกั้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเอาไว้แล้วนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ (เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเหมือนการใช้ฟอสซิลเป็นแหล่งเชื้อเพลิง) นอกจากเขื่อนดังกล่าวจะผลิตไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมหาศาลแล้ว ยังช่วยให้ระดับผิวน้ำในเมดิเตอร์เรเนียนลดลงถึง 200 เมตร ขณะที่น้ำในทะเลเอเดรียติก (ซึ่งแยกคาบสมุทรอิตาลีออกจากคาบสมุทรบอลข่าน และเป็นส่วนหนึ่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) จะเหือดแห้งไปจนเกือบหมด ส่งผลให้มีผืนแผ่นดินเพิ่มขึ้น (ที่เห็นเป็นสีเขียวในแผนที่ด้านบน)
แผนที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
*****
2. ห่มผ้าให้กรีนแลนด์
กรีนแลนด์เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีพื้นที่มากถึง 2,175,900 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น แนวคิดในการห่มผ้าให้กรีนแลนด์จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยากในทางปฏิบัติ แต่นั่นก็เป็นแนวคิดในการสู้โลกร้อนของ ดร. เจสัน บ๊อกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งแห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท เขากล่าวว่าสาเหตุที่ต้องนำวัสดุมาปกคลุมธารน้ำแข็งเอาไว้ ก็เพื่อให้เกิดการสะท้อนแสงอาทิตย์ และป้องกันไม่ให้น้ำแข็งที่ปกคลุมยอดเขาละลาย ซึ่งที่ผ่านมา ดร. เจสัน บ๊อกซ์ ได้เคยทดสอบทฤษฏีนี้ผ่านทางสารคดีช่อง “ดิสคัฟเวอรี่ แชนแนล” โดยนำแผ่นพลาสติกโพลีโพรพีลีนสีขาว จำนวน 31 ม้วนยักษ์ มาปูลงบนธารน้ำแข็งเนื้อที่ 10,000 ตารางเมตรท่ามกลางสภาพอากาศอันเลวร้าย แม้จะเป็นไอเดียที่ค่อนข้างแปลก แต่มหาวิทยาลัยอินน์สบรัค ประเทศออสเตรีย และมหาวิทยาลัยซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ลองนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์แล้ว
*****
3. ผลิตเมฆเพิ่ม
เมื่อปีที่แล้ว นาซ่าและบิล เกตส์ ได้ร่วมมือกันคลอดแผนลดโลกร้อน โดยจะทำการผลิตเครื่องพ่นน้ำทะเลขนาดใหญ่เพื่อช่วยให้เมฆก่อตัวและสะท้อนแสงอาทิตย์ออกจากโลก โดยเครื่องดังกล่าวจะดูดน้ำทะเล 10 ตันต่อวินาที ก่อนจะฉีดพ่นขึ้นไปบนฟ้าที่ระดับความสูงมากกว่า 3 พันฟุต (914 เมตร) แม้ว่าวิธีนี้อาจช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่หลายฝ่ายยังคงเป็นกังวลว่าอาจต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาล และผลการศึกษาก็ระบุว่าถ้าต้องการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไปกว่านี้ ต้องใช้เครื่องพ่นน้ำแรงดันมหาศาลมากถึง 1,900 ชุด และต้องใช้งบฯ กว่า $7 พันล้าน หรือมากกว่า 2 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
**
4. เปลี่ยนทะเลทรายเป็นพื้นที่แก้มลิง
กล่าวกันว่าในอีกร้อยปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 28 นิ้ว นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มจึงเสนอให้ใช้ทะเลทรายเป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อลดระดับน้ำในทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนับว่าเป็นไอเดียที่สมเหตุสมผล เพราะถ้าน้ำแข็งบนเทือกเขาละลายผสมปนเปลงมาด้วย ระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นเป็น 67 ฟุต ดังนั้น การถ่ายเทน้ำทะเลส่วนเกินไปไว้ในพื้นที่แห้งแล้ง จะช่วยป้องกันไม่ให้เมืองและเกาะบางแห่งจมน้ำได้ และบริเวณที่นักวิทยาศาสตร์เล็งเอาไว้ว่ามีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำก็คือ ที่ลุ่มต่ำทูรูฟาน ในมณฑลซินเจียง ประเทศจีน และ เดธ วัลเลย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีระดับต่ำกว่าน้ำทะเล และรองรับน้ำได้หลายล้านแกลลอน แต่ปัญหาก็คือ ถ้าน้ำแข็งที่ปกคลุมยอดเขาได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจนละลายหายเกลี้ยง วิธีนี้ก็จะช่วยลดระดับน้ำทะเลได้เพียง 2.5 ฟุต เมื่อถึงเวลานั้นหลายเมืองหลายพื้นที่จะยังคงจมน้ำทะเลอยู่ดี
*****
5. บังแดดให้โลก
แนวคิดในการบังแสงอาทิตย์ให้โลกเป็นของศาสตราจารย์โรเจอร์ แองเจิล นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา (ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากนาซ่าเมื่อ 6 ปีก่อน) และไอเดียที่ว่าก็คือการส่ง (ยิง) แผ่นบังแสงที่มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ฟุต น้ำหนัก 1 กรัม จำนวนล้านล้านแผ่นขึ้นไปยังตำแหน่งวงโคจร L1 ที่ระดับความสูง 1 ล้านไมล์ (1.6 ก.ม.) เหนือผิวโลก
แผ่นดังกล่าวทำมาจากฟิล์มโปร่งใสชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบให้มีรูเล็กๆ และมีกระจก MEMS ช่วยควบคุมตำแหน่ง เมื่อถูกยิงขึ้นไปแล้วแผ่นฟิล์มเหล่านี้จะเรียงตัวกันเป็นแนวยาว ลักษณะคล้ายเมฆรูปทรงกระบอก โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับครึ่งโลก และมีความยาวทั้งสิ้นราว 6 หมื่นไมล์ (9.7 หมื่นกิโลเมตร) หรือคิดเป็นพื้นที่ 1 แสนตารางไมล์ (258,999 ตารางกิโลเมตร)
วิธีนี้จะช่วยสะท้อนและลดปริมาณแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกได้ราว 2% ซึ่งมากพอที่จะทำให้โลกทั้งใบเย็นลง แม้โครงการนี้จะมีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาก็คือ การยิงแผ่นฟิลม์ (ด้วยเครื่องยิงแม่เหล็กไฟฟ้า) ต้องใช้ไฟฟ้า (พลังน้ำ) จำนวนมหาศาล แถมค่าใช้จ่ายทั้งโครงการยังสูงถึง $350 ล้านล้าน หรือกว่าหมื่นล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายได้ประชาชาติของโลกถึง 12 เท่า