เมื่อเวลา 01.30 น.วันที่ 16 พ.ย. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด รายงานว่า ที่อาคาร 1 สนามบินดอนเมือง พ.ต.อ.กิตติ สะเภาทอง รอง ผบก.ปอศ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย ผกก.5 บก.ปอศ. พ.ต.ท.รัฐพล น้อยช่างคิด รอง ผกก.5 บก.ปอศ. ควบคุมตัว นายสุรชัย แสงกันยา อายุ 24 ปี นายภูวนัย แสงกันยา อายุ 21 ปี นายสิทธิชัย สวยบุญ อายุ 21 ปี นายธนะโชติ อาบทรบุรี อายุ 39 ปี นายลิขิต พอดำมาก อายุ 36 ปี และน.ส.สุพัชรี เถาวัลย์ อายุ 22 ปี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ตามหมายจับศาลอาญา เลขที่ 1925/2555 ถึงหมายจับที่ 1930/2555 ในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกง ประชาชน มาจากเมืองจูไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD2533 กลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย
พ.ต.อ.กิตติ เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เป็นคนไทย และเปํนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ที่ถูกตำรวจสันติบาลประจำมณฑลกวางตุ้ง และตำรวจเมืองจูไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน จับกุมได้ตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ที่เมืองจูไห่ โดยเป็นการประสานข้อมูลกันระหว่าง ตำรวจไทยกับตำรวจที่นั่น เนื่องจากมีผู้เสียหายที่เมืองไทยกว่า 9 ราย แจ้งว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์มาหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ง. ให้โอนเงินเข้าบัญชี โดยอ้างว่าเหยื่อมียอดค้างชำระหนี้บัตรเครดิต หรือเงินในบัญชี
มีที่มาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินที่คนร้ายอ้างไปให้ มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ทาง บก.ปอศ. จึงได้สืบสวนจนทราบหมายเลขไอพีของกลุ่มผู้ต้องหาและรู้ว่ามีฐานที่ตั้งอยู่ที่เมืองจูไห่ จึงขออนุมัติหมายจับทั้ง 6 คน จากศาลอาญา จากนั้นประสานข้อมูลกับตำรวจที่นั่นจนสามารถจับกุมตัวเอาไว้ได้ทั้ง 6 คน ที่คอนโดแห่งหนึ่งในเมืองจูไห่
พ.ต.อ.กิตติ เปิดเผยต่อว่า กลุ่มผู้ต้องหาอีกประมาณ 8 คน ได้เดินทาง กลับมาทำวีซ่าที่ประเทศไทยขณะนี้รู้ตัวหมดแล้วอยู่ระหว่างติดตามจับกุมมาดำเนินคดี ส่วนหัวหน้าใหญ่เป็นคนไต้หวันชื่อ อาเพ้า เจ้าหน้าที่ที่นั่นจะติดตามจับกุมต่อไป พฤติกรรมของแก๊งนี้ จะไปตั้งฐานอยู่ที่นั่นแล้วโทรศัพท์กลับเข้ามาหลอกคนไทย ซึ่งจากการตรวจสอบภายในคอนโดเจ้าหน้าที่พบว่า กลุ่มคนร้ายได้ใช้วิธีหลอกลวงเหยื่อโดยใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ VOIP โทรศัพท์เข้ามาที่เบอร์ของคนไทยที่อยู่ที่ประเทศไทยประมาณ 3,600 เลขหมาย และยังได้ส่งข้อความเสียงในลักษณะการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารต่างๆ ประมาณ 6 ล้านข้อความ มีเหยื่อที่ถูกหลอกและสูญเงินไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
โดยกลุ่มคนร้ายจะแบ่งหน้าที่กันทำงานออกเป็น 4 สาย สายแรกจะให้ น.ส.สุพัชรี ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรศัพท์ไปหลอกเหยื่อว่า มีการค้างชำระหนี้บัตรต่างๆ แล้วโอนให้สายที่สอง ที่อ้างตัวเป็นตำรวจเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ จากนั้นโอนให้สายที่สามที่จะเริ่มใช้วิธีโน้มน้าวและข่มขู่ให้เหยื่อโอนเงินให้ หากยังไม่หลงกลจะโอนให้สายสุดท้าย ซึ่งสายนี้จะเป็นขั้นตอนที่ใช้วิธีข่มขู่ที่หนักขึ้น หากมาถึงสายนี้ผู้เสียหายส่วนใหญ่มักจะหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงจนต้องออกไปโอนเงินให้ทันที โดยสายสุดท้ายนี้จะใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการพูดเป็นพิเศษหรือถูกฝึกมาเป็นอย่างดี
รอง ผบก.ปอศ. เปิดเผยต่ออีกว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบพาสปอร์ตของผู้ต้องหาทั้งหมดพบว่า มีการเดินทางเข้าออกประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมาแล้วคนละไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง และล่าสุดพบว่าทั้งหมดเดินทางเข้าไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงไม่เชื่อว่าจะเป็นการทำเป็นครั้งแรกอย่างแน่นอน ส่วนนายหน้าคนไทยที่ชักชวนให้ผู้ต้องหาไปอยู่ที่นั่นกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดตามจับกุมมาดำเนินคดี และขอฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอย่างหลงเชื่อใครง่ายๆ โดยเฉพาะหากมีการโทรศัพท์เข้ามาแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารต่างๆ ว่ามีการค้างชำระหนี้ และให้โอนเงินเข้าบัญชี พวกนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตัวจริงอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายลิขิต หนึ่งในผู้ต้องหา ให้การว่า จะทำหน้าที่เป็นสายที่4 ในการข่มขู่ให้เหยื่อโอนเงิน ได้ค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท พร้อมส่วนแบ่ง 3 เปอร์เซ็นต์จากเงินที่หลอกเหยื่อให้โอนเงินได้แต่ละราย บางวันก็หลอกไม่ได้เลย บางวันก็ได้หลายราย
น.ส.สุพัชรี ให้การว่า ไปที่นั่นเพราะรู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ แพน ไม่ทราบชื่อนามสกุลจริง อายุประมาณ 35-40 ปี รู้จักกันจากการแชททางโทรศัพท์ จากนั้น น.ส.แพน ก็พาพวกตนมาทำพาสปอร์ตและวีซ่าให้ฟรีไม่คิดเงิน แล้วพามาส่งที่สนามบิน พอไปถึงที่นั่นก็มีคนมารอรับ แล้วพาไปอยู่ที่คอนโดดังกล่าว จากนั้นก็ถูกบังคับให้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์กลับมาหลอกคนไทยให้โอนเงินไปให้หากไม่ทำจะยึดพาสปอร์ตทุกคน ซึ่งจะไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ จึงต้องยอมทำ และไม่เคยได้ออกไปไหนอยู่แต่ในห้อง
พวกตนไม่อยากจะหลอกคนไทยด้วยกันแต่ไม่ทำก็ไม่ได้ เจ็บใจมากที่โดนหลอก อยากฝากเตือนผู้ที่อยากไปทำงานที่ต่างประเทศให้ระวังจะถูกหลอกเหมือนพวกตน และหากมีใครโทรศัพท์ไปหาบอกว่า เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน สอบถามข้อมูลส่วนตัวและระบุว่ามีการค้างชำระค่าบัตรต่างๆ ให้โอนเงินไปให้ ให้คิดเลยว่าเป็นแก๊งต้มตุ๋นหลอกลวง เพราะเจ้าหน้าที่จริงจะไม่มีการโทรศัพท์ไปในลักษณะนี้อย่างแน่นอน
จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. สอบสวนขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป