ที่มาคลิปจากสมาชิกยูทูบ : somchai hualhom
วันที่ 15 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของสถานีบลูสกาย รายงานว่า เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการรับมือมวลชนที่มาชุมนุมในนามองค์การพิทักษ์สยาม ในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน ว่า เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้กำชับเอาไว้ว่า ห้ามใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด โดยหากมีปัญหาเกิดขึ้น ให้ใช้หลักสากลในการควบคุมมวลชน ซึ่งตนได้เชิญองค์กรอิสระต่างๆ สื่อมวลชนต่างประเทศ และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการดูแลผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ระบุว่าจะมากันเป็นแสนคน เพื่อจะมาขับไล่รัฐบาล เพราะรัฐบาลถือเป็นคู่กรณีกับผู้ชุมนุม โดยจะมอบอำนาจให้ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ. ตร.เป็นผู้ดูแลสถานการณ์การชุมนุมทั้งหมด และยังยืนยันว่าไม่ได้เป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่ใช่ลอยตัวเหนือปัญหา แต่ไม่อยากเป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือด เพราะฝ่ายการเมืองจะไปรู้ดีกว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างไร
“ในตอนบ่ายนี้ จะมีการประชุมกับท่าน ผบ.ตร. ก็จะมีการปรึกษาหารือกัน และหากทางท่านมีความต้องการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็ต้องพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งผมจะนัดประชุม ครม. นัดพิเศษ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน เวลา 14.00 น. ซึ่งจะมีการพิจารณาว่า รัฐบาลคิดอย่างไร ผบ.ตร.คิดอย่างไร และคณะรัฐมนตรีคิดอย่างไร ก่อนการใช้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ” ร.ต.อ.เฉลิม ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมรัฐบาลถึงมีความกังวลกับม็อบเสธ. อ้าย ถึงขั้นจะมีการใช้กฎหมายความมั่นคง ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า ก็เพราะในการชุมนุมคราวนี้มีการรวมตัวกันข้างนอก และมีการให้สัมภาษณ์ว่ามีคนมาชุมนุมกันเยอะ โดยมีเป้าหมายว่าจะล้มรัฐบาลให้ได้ ซึ่งถ้าชุมนุมกันโดยสงบจะมีทางล้มรัฐบาลได้อย่างไร ซึ่งตนยืนยันว่า รัฐบาลนี้มีจากการเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับม็อบเสธ.อ้าย ทั้งนี้หากมีการชุมนุมที่ยืดเยื้อก็ไม่สามารถห้ามได้
ส่วนข้อครหาที่เลือกปฏิบัติต่างจากผู้ชุมนุมกลุ่มนปช. นั้น ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า ก็เป็นเพราะว่าคนเสื้อแดงไม่ได้ขับไล่รัฐบาล จึงไม่ได้เข้มงวดในการดูแล ซึ่งต่างจากกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยามที่มาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก สำหรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 5 ข้อ ที่ระบุให้รัฐบาลลาออกเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาคอรัปชั่น และเสนอให้แช่แข็งประเทศ 5 ปีนั้น รัฐบาลจะรับฟังแต่ไม่ปฏิบัติตาม เพราะจะให้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยออกจากการบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ ถ้าจะให้ตรวจสอบเรื่องคอรัปชั่นก็ให้ประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ ซึ่งตอนนี้ก็ชัดแล้วว่าพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม
ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าม็อบของเสธ.อ้ายมีการกระทำเหมือนปี 2552 – 2553 แล้ว ทางรัฐบาลมีท่าทีอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า คนเสื้อแดงมีเหตุที่มาในการชุมนุมที่แตกต่างกัน เพราะเนื่องจากว่า พรรคประชาธิปัตย์ขโมยคนของพรรคพลังประชาชนไปตั้งรัฐบาล ซึ่งคนเสื้อแดงก็ตั้งม็อบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา แต่ม็อบของเสธ.อ้ายอยู่ๆ ก็จะมาขับไล่รัฐบาล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ซึ่งตนขอยืนยันว่า ม็อบเสธ.อ้ายมาไม่มาก แต่มีบางพรรคการเมืองขนคนมาร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งให้ประชาชนตัดสินธาตุแท้ของพรรคการเมืองนี้ว่า ชอบไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าเป็นผู้ออกคำสั่งให้ตำรวจสกัดเส้นทางเข้ากรุงเทพของประชาชนในช่วงดังกล่าว และไม่ขอเปิดเผยที่อยู่ ในช่วงการชุมนุม จากที่มีกระแสข่าวว่าจะหนีไปอยู่ที่ จ.เชียงรายเพื่อหนีปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์นั้น มีการปะทะคารมกันระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิม กับ น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 โดยเฉพาะหลังจากที่ได้ถามคำถามเกี่ยวการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามว่าทำไมรัฐบาลจึงดูแลแตกต่างกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงโดย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ‘คุณสมจิตต์ฝักใฝ่พรรคประชาธิปัตย์’ ขณะที่นางสาวสมจิตต์ พูดว่า ท่านกล่าวหาแบบนี้หนูฟ้องท่านได้ ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่าให้นักข่าวสาวคนดังกล่าวไปฟ้องร้องที่ สน.ดุสิตได้ และเดินเข้าไปเซ็นต์ชื่อในอาคารรัฐสภา
หลังจากที่ ร.ต.อ.เฉลิม เซ็นต์ชื่อเสร็จ น.ส.สมจิตต์ จึงเปิดประตูและตะโกนเรียก ร.ต.อ.เฉลิม ทำให้ ร.ต.อ.หยุดเดิน ก่อนที่จะถามว่า “ถ้าการที่ท่านกล่าวหาหนูว่าฝักใฝ่ประชาธิปัตย์ ไม่ใช่การหมิ่นประมาท แล้วถ้าหนูเรียกท่านว่าขี้ข้าทักษิณ จะเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่” คำถามดังกล่าวทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ตอบกลับมาว่า “อย่างนี้หมิ่นประมาท” นางสาวสมจิตต์ จึงตอบกลับไปว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านก็สามารถใช้สิทธิแจ้งความที่ สน.ดุสิตได้เหมือนกับที่แนะนำให้หนูไปทำ”