Blackwater นักรบรับจ้างในอิรัค


ทหารรับจ้างแห่งสมรภูมิอิรัก

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552]

 

ตำนานของ “ทหารรับจ้าง” หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “นักรบรับจ้าง” ซึ่งตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ว่า Mercenary นั้นมีมาตั้งแต่อดีตกาล ในสงครามยุคโบราณล้วนมีการบันทึกถึงนักรบรับจ้าง ที่ยอมแลก “ชีวิต” เพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง และทรัพย์สินเงินทอง 

ตัวอย่างเช่น ฟาโรห์รามีเสสที่ 2 แห่งอียิปต์ได้ใช้ทหารรับจ้างจากลิเบีย และซีเรียจำนวนกว่า 11,000 คนมาประจำการในกองทัพของพระองค์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสตกาล เพื่อทำการรบในนามของกองทัพอียิปต์ 

นอกจากนี้จากบันทึกประวัติศาสตร์การรบในยุโรปปลายยุคกลางจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จะเห็นชื่อของหน่วย “คอนดอตติเอโร (Condottiero)” ซึ่งเป็นกองทหารรับจ้างจากประเทศอิตาลีปรากฏอยู่หลายครั้งหลายครา โดยหน่วยทหารดังกล่าวเป็นหน่วยทหารอิสระ ไม่ขึ้นการบังคับบัญชากับรัฐใด พวกเขาจะปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อถูกว่าจ้างจากนครรัฐในอิตาลีหรือจากพระสันตะปาปาเท่านั้น 

ในสงครามยุคปัจจุบัน “ทหารรับจ้าง” หรือ “นักรบรับจ้าง” ได้กลายเป็นหน่วยทหารที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ดังเช่น ทหารกรุข่าแห่งเนปาลก็ถือเป็นนักรบรับจ้างชั้นเยี่ยมของอังกฤษ หรือทหารรับจ้างจากแอฟริกาใต้ที่เข้าไปทำสงครามในประเทศคองโกในช่วงปี 1960 – 1965 

บางประเทศถึงกับมีการส่งออกทหารรับจ้างออกไปรับจ้าง “รบ” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น ทหารรับจ้างจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย โบลิเวีย ฟิลิปปินส์ และอูกานดา เป็นต้น ซึ่งหากทหารรับจ้างเหล่านี้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จ มีชีวิตรอดกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนได้ พวกเขาก็จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับตนเองและครอบครัวเลยทีเดียว

สำหรับคำว่า “ทหารรับจ้าง” นั้น ได้มีการให้คำจำกัดความไว้สองประการคือ 

ประการแรกเป็นทหารที่ถูกจ้างโดยบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารหรือ พี เอ็ม ซี (PMC – Private Military Company) และ

ประการที่สองเป็นนักรบอิสระที่ถูกว่าจ้างโดยรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกลุ่มธุรกิจใดๆ ก็ตามโดยไม่ผ่าน PMC ก็ได้ นักรบรับจ้างเหล่านี้ มักจะถูกมองว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินตรา ไร้อุดมการณ์ ดังเช่นนักรบรับจ้างที่ปฏิบัติภารกิจให้กับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่ทรงอิทธิพลในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ หรือถูกว่าจ้างโดยรัฐบาลเผด็จการที่โหดเหี้ยมในทวีปแอฟริกา 

ทำให้ “ทหารรับจ้าง” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบมากกว่า “ทหารประจำการ” ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นหน่วยทหารที่รบด้วยความเสียสละเพื่อประเทศชาติ 

อย่างไรก็ตามมีหลายครั้งหลายครา ที่ทหารรับจ้างได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติภายใต้สัญญาที่กระทำต่อบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารหรือ PMC เช่น สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่ทหารรับจ้างจำนวนมากจากบางประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการแผ่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าสู่ประเทศของตนตามแนวคิด “ทฤษฎีโดมิโน” 

ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ดำรงสถานะเป็น “นักรบรับจ้าง” ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครั้งที่ทหารรับจ้างได้ใช้ความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นการบังคับบัญชา และไม่ติดอยู่กับกฏระเบียบให้เกิดประโยชน์ ด้วยการปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามกลางเมืองในทวีปแอฟริกาได้อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในขณะที่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UNPKF – United Nations Peacekeeping Forces) ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากติดขัดกฎระเบียบเรื่อง “กฎการใช้กำลัง” ที่อนุญาตให้กองกำลังรักษาสันติภาพดังกล่าวใช้อาวุธได้เพียงเพื่อการป้องกันตัวเองเท่านั้น 

ในห้วงเวลาที่โลกถูกครอบคลุมด้วยสงครามเย็น มีบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารที่รับจัดหา “ทหารรับจ้าง” เข้าไปปฏิบัติภารกิจทั่วโลกที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักอยู่ 4 บริษัทประกอบด้วย

1. บริษัทเอคเซคคิวทิฟ เอาท์คัมส์ (Executive Outcomes) ซึ่งปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปี 1998 บริษัทนี้จัดส่งทหารรับจ้างออกไปทำการรบทั่วโลก เช่น อังโกล่า และเซียร่าลีโอน

2. บริษัทแซนด์ไลน์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Sandline International) ส่งทหารรับจ้างออกไปปฏิบัติภารกิจอยู่ในปาปัวนิวกินีและเซียร่าลีโอน บริษัทนี้ปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 2003

3. บริษัทรักษาความปลอดภัยกรูข่า (Gurkha Security Guards, Ltd.) รับจ้างทำสงครามในประเทศเซียร่าลีโอน

4. บริษัทดินคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล (Dyncorp International) รับจ้างส่งทหารเข้าไปร่วมรบในบอสเนีย โซมาเลีย อังโกล่า เฮติ โคลอมเบีย คูเวต และปัจจุบันยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ในอัฟกานิสถาน 

จนกระทั่งเมื่อโลกได้ก้าวผ่านจากยุคสงครามเย็นเข้าสู่ยุคแห่งการก่อการร้ายตั้งแต่เหตุการณ์การโจมตีอาคารเวิร์ดเทรด เซนเตอร์ในปี 2001 ส่งผลให้สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้ เปิดฉากการส่งทหารเข้าไปในประเทศอัฟกานิสถานและประเทศอิรักในปี 2002 - 2003 เป็นต้นมา 

ซึ่งการรบในสมรภูมิทั้งสองประเทศ มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการใช้เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหาร และทหารรับจ้างเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารหรือ PMC จะถูกว่าจ้างจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น การคุ้มกันเจ้าหน้าที่ทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนคุ้มกันสถานที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในอัฟกานิสถานและอิรัก เป็นต้น 

ธุรกิจ “ทหารรับจ้าง” ของสหรัฐอเมริกาเฟื่องฟูอย่างมากในปี 2004 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัทแบล็ควอเตอร์ (Blackwater) ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจด้านการทหารในอิรัก ส่งผลให้ชื่อของ “แบล็ควอเตอร์” กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2004 ที่สมาชิกสี่นายของบริษัทดังกล่าวถูกสังหารขณะปฏิบัติหน้าที่คุ้มกันขบวนลำเลียงอาหารและยุทธภัณฑ์ในพื้นที่เมืองฟัลลูจาห์ (Fallujah) โดยรถยนต์นั่งตรวจการณ์ของคนทั้งสี่แล่นออกนอกเส้นทางที่กำหนด ก่อนที่จะผ่านเข้าไปในย่านชุมชนของเมืองและถูกระดมยิงจนเกิดไฟลุกท่วมทั้งคัน สามในสี่ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถูกระบุว่า เป็นอดีตหน่วยรบพิเศษที่มีประสบการณ์ในการสู้รบมาหลายสมรภูมิก่อนที่จะลาออกจากกองทัพมารับภารกิจเป็นนักรบรับจ้างให้กับแบล็ควอเตอร์ 

ศพของทั้งสี่ถูกประชาชนลากไปตามท้องถนนแล้วแขวนประจานไว้กับโครงสะพานท่ามกลางการโห่ร้องแสดงความยินดีของชาวเมือง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ เปิดฉากการโจมตีเมืองฟัลลูจาห์เป็นครั้งแรก

นับจากนั้นมาเรื่องราวอันน่าสนใจของแบล็ควอเตอร์ก็เริ่มหลั่งไหลพรั่งพรูออกมาสู่สาธารณชน สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ แบล็ควอเตอร์นั้นเป็นบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านการทหารหรือ PMC ของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 

เริ่มต้นด้วยการเป็นสถานที่ฝึกทางยุทธวิธีให้กับอดีตกำลังพลของกองทัพหรือพลเรือนทั่วไปที่สนใจในการใช้อาวุธ หรือการปฏิบัติการรบ โดยมีที่ตั้งของสนามฝึกอยู่ในพื้นที่ป่ารกร้างอันกว้างใหญ่ถึง 5,200 เอเคอร์ของมลรัฐนอร์ท แคโรไลนา (North Carolina) 

ส่วนสำนักงานนั้นตั้งอยู่ที่เมืองแมคลีน (McLean) มลรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) ใกล้ๆ กับสำนักงานใหญ่ของหน่วยข่าวกรองกลางหรือ ซี ไอ เอ นั่นเอง จนถึงปัจจุบันมีทหารรับจ้างอยู่ในสังกัดเป็นจำนวนกว่า 20,000 นาย 

และที่น่าสนใจก็คือ แบล็ควอเตอร์มีกองกำลังทางอากาศเป็นของตนเอง ประกอบด้วยอากาศยานกว่า 20 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มีอากาศยานปีกหมุนติดอาวุธโจมตีภาคพื้นดิน หรือเฮลิคอปเตอร์กันชิพ (Gunship Helicopter) จำนวนหนึ่งด้วย

อีริค ปริ้นซ์ (Erik Prince) 



ผู้ก่อตั้งแบล็ควอเตอร์คือ อีริค ปริ้นซ์ (Erik Prince) อดีตนายทหารจากหน่วยเนวี ซีล (Navy Seal) อันเลื่องชื่อของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งมีประวัติของการเป็นพวกเคร่งศาสนาและนิยมขวาจัด จนถูกมองว่าเขาเป็นตัวแทนของสงครามครูเสดยุคใหม่ 

ปริ้นซ์มาจากครอบครัวนายธนาคารที่มั่งคั่งและเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อดีตประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช ส่งผลให้แบล็ควอเตอร์ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการรักษาความปลอดภัยต่างๆ อย่างมากมาย ดังปรากฏข้อความอยู่ในเวปไซด์ของบริษัทว่า

“ ... บริษัทของเรารับดำเนินการต่างๆ เพื่อความมั่นคงของโลกในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งแก้ปัญหาด้วยการดำเนินการทางยุทธวิธีในหลายรูปแบบ โดยมีประวัติในการรับดำเนินการให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทข้ามชาติต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ และมิตรประเทศทั่วโลก ... ”

บริษัทแบล็ควอเตอร์นับเป็นบริษัทที่อัตราการเจริญเติบโตสูงมากบริษัทหนึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 เนื่องจากมีผลกำไรจากการประกอบการจำนวนมหาศาล ทหารรับจ้างส่วนใหญ่ของแบล็ควอเตอร์มาจากอดีตกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯ โดยเฉพาะหน่วยเนวี่ ซีล และหน่วยรบพิเศษของนาวิกโยธิน รวมไปถึงหน่วยสวาท (SWAT) ของตำรวจสหรัฐฯ และทหารรับจ้างจากทั่วโลก

สำหรับผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ของบริษัทก็คือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ “เพนตากอน” นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ในปี 2002 แบล็ควอเตอร์เซ็นสัญญา 5 ปีมูลค่า 37 ล้านเหรียญกับกองทัพเรือสหรัฐฯ ในการจัดการฝึกให้กับกำลังพลของกองทัพเรือในการรักษาความปลอดภัยบนเรือ การจัดชุดระวังป้องกัน เทคนิคการค้นหาและเข้ายึดที่หมาย เป็นต้น 

นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน แบล็ควอเตอร์ยังได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลชิลีในการฝึกกำลังพลชุดคอมมานโด ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การจู่โจมและการตรวจค้นเพื่อเตรียมการเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจกับกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัก และในปี 2003 บริษัทก็เซ็นสัญญามูลค่า 21 ล้านเหรียญกับกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการรักษาความปลอดภัยให้กับนายเลวิส พอล เบรเมอร์ ผู้บริหารสูงสุดของสหรัฐฯ ในช่วงที่เข้ายึดครองอิรักโดยจัดกำลังพลทหารรับจ้างพร้อมเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำทำหน้าที่ในการคุ้มกัน

อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประวัติและชื่อเสียงของแบล็กวอเตอร์ต้องด่างพร้อยไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยิงใส่ฝูงชนชาวอิรักกลางกรุงแบกแดดเมื่อปี 2007 ทำให้หน่วยรักษาความปลอดภัยและประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวอิรักเสียชีวิตถึง 17คน โดยทางการอิรักถึงกับมีการออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการเข้ามาปฏิบัติภารกิจของนักรบรับจ้างจากบริษัทแบล็ควอเตอร์ รวมถึงจะไม่ต่ออายุสัญญาการปฏิบัติงานและวีซ่าให้กับบุคคลเหล่านี้ 

แม้แต่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เองก็มีการประกาศยกเลิกสัญญาว่าจ้างบริษัทแบล็ควอเตอร์และเหล่านักรบรับจ้างของบริษัท ในการปฏิบัติภารกิจในการรักษาความปลอดภัยและคุ้มกันบุคลากรของกระทรวงฯ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในอิรัก อีกทั้งมีการดำเนินคดีนักรบรับจ้างของแบล็กวอเตอร์ 5 นายที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอีกด้วย 

แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะคลุมเครือ ไม่ชัดเจนและเต็มไปด้วยความสับสน เพราะแม้ว่าแบล็ควอเตอร์จะหมดสัญญาจ้างไปแล้วตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีการให้เอกสิทธิ์พิเศษแก่สมาชิกของบริษัทในการเดินทางเข้าไปปฏิบัติภารกิจเฉพาะในอิรักจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้แบล็ควอเตอร์ก็ยังถือสัญญาว่าจ้างในการปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานอยู่อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งยังคงมีเครือข่ายทางด้านการจารกรรมกับบริษัทย่อยนับพันบริษัทที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกในการป้อนข้อมูลเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย หรือการปกป้องสหรัฐฯ จากการโจมตีของกลุ่มต่างๆ เพื่อส่งต่อให้หน่วยข่าวกรองบางหน่วยของรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดจนยังคงรับงานจารกรรมข้อมูลสำคัญทางด้านธุรกิจการค้าของบริษัทเอกชนต่างๆ รวมไปถึงการจัดส่งทหารรับจ้างเข้าไปในประเทศบางประเทศด้วยค่าจ้างที่สูงลิบลิ่วอีกด้วย 

รวมทั้งยังมีบริษัทลูกที่ชื่อ แม็คอาเธอร์รับจ้างคุ้มกันขบวนเรือสินค้าและกำจัดโจรสลัดในน่านน้ำสากลในบริเวณอ่าวอีเดนของประเทศโซมาเลีย โดยใช้เรือรบของบริษัทที่มีความยาว 184 ฟุตอีกจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ในการคุ้มกันอีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้ว แบล็ควอเตอร์เองก็ทราบดีถึงภาพลักษณ์ที่ถูกมองจากสังคมว่า บริษัทเป็นธุรกิจที่ผู้คนธรรมดาสามัญควรจะออกห่างให้ไกลที่สุด เพราะเหล่านักรบรับจ้างของแบล็ควอเตอร์ล้วนแต่ถูกตัดสินจากสังคมว่า โหดเหี้ยมอำมหิต ดุดัน สังหารผู้คนได้อย่างเลือดเย็น 

ตัวอย่างเช่น ในปี 2006 มีกลุ่มสมาชิกของแบล็ควอเตอร์ออกทำการลาดตระเวนในที่สาธารณะพร้อมอาวุธสงครามครบมือในมลรัฐนิว ออร์ลีนส์ของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าได้รับการว่าจ้างหน่วยงานด้านความปลอดภัยของรัฐฯ สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่มองพวกเขาในฐานะ “ฆาตกร” มากกว่าที่จะสร้างความอุ่นใจในฐานะ “ผู้พิทักษ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้สื่อข่าวเข้าไปสัมภาษณ์สมาชิกบางคนของแบล็ควอเตอร์ที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่นั้น ทำให้ทราบว่าพวกเขาเพิ่งเดินทางกลับมาจากอิรักได้เพียงสองสัปดาห์เท่านั้น 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันเองก็มองทหารรับจ้างของแบล็ควอเตอร์ไม่ต่างไปจากชาวอิรัก เป็นมุมมองที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว วิตกกังวล ซึ่งส่งผลให้รายได้จำนวนมากมายมหาศาลจากสัญญาว่าจ้างทั้งจากรัฐบาลสหรัฐฯ และหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกลดลงอย่างน่าใจหาย จึงมีความพยายามที่จะปรับภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่ 

เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “แบล็ควอเตอร์” เป็น บริษัท “ซี” (Xe – ออกเสียงว่า zee ในภาษาอังกฤษ) รวมไปถึงการประกาศลาออกจากตำแหน่งของนายอีริค ปริ้นซ์ ประธานฝ่ายบริหารของบริษัทเมื่อเดือนมีนาคม 2009 รวมถึงประกาศนโยบายของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีรูปแบบลักษณะการปฏิบัติภารกิจที่คล้ายคลึงกับแบล็ควอเตอร์ 

นอกจากนี้ศูนย์ฝึกทางยุทธวิธีของแบล็ควอเตอร์ที่เคยถูกระบุว่าเป็นสถานที่หวงห้ามและถูกมองว่าเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยทหารรับจ้างนอกกฎหมาย ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ฝึกของสหรัฐฯ” (U.S. Training Center) อีกด้วย

อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาที่ผ่านมา จากผลการปฏิบัติภารกิจของแบล็ควอเตอร์ในอิรัก หากไม่นับรวมถึงเรื่องอื้อฉาวของการยิงใส่ฝูงชนซึ่งก็ยังอยู่ในขั้นตอนของศาลยุติธรรม หรือการใช้บริการโสเภณีเด็กชาวอิรัก แบล็ควอเตอร์ก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด 

ทหารรับจ้างเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นอดีตหน่วยรบชั้นยอดของสหรัฐฯ ที่เคยสร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติให้กับตัวเองและหน่วยของตนมาแล้ว พวกเขาเคยช่วยเหลือทหารสหรัฐฯ และบุคคลสำคัญระหว่างประเทศที่อยู่ในภาวะคับขันในการต่อสู้ในอิรักมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน 

เช่น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2007 นักบินเฮลิคอปเตอร์แบบโอเอช 6 ลิตเติ้ล เบิร์ด (OH 6 Little bird – ทางพลเรือนใช้รุ่น โอเอช 6 ส่วนทางทหารใช้รุ่น เอเอช หรือ เอ็มเอช 6) ที่พ่นสีดำทั้งลำของหน่วยบินแบล็ควอเตอร์ (Blackwater Aviation)ได้เสี่ยงชีวิตนำเครื่องร่อนลงกลางถนนในกรุงแบกแดด เพื่อช่วยเหลือเอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำอิรัก ที่ถูกลอบโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง หรือ ไอ อี ดี (IED – Improvised Explosive Disposal) จำนวน 3 ลูก 

หลังจากนั้นก็ถูกกลุ่มต่อต้านหัวรุนแรงในอิรักโจมตีซ้ำจนได้รับบาดเจ็บ และสามารถนำตัวส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย ซึ่งความกล้าหาญและวีรกรรมของแบล็ควอเตอร์ในครั้งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นการกระทำเยี่ยง “วีรบุรุษ” (Heroic rescue) แต่ข่าวนี้แทบไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเลย

นอกจากนี้โจแอนน์ คิมเบอร์ลิน (Joanne Kimberlin) ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์เวอร์จิเนียน ไพลอท (Virginian-Pilot) ได้บรรยายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่านักรบรับจ้างในหน่วยบินเฮลิคอปเตอร์ลิตเติ้ล เบิร์ดของแบล็ควอเตอร์เอาไว้อย่างน่าฟังว่า 

“ ... หน่วยบินแบล็ควอเตอร์ในอิรักใช้เฮลิคอปเตอร์ลิตเติ้ล เบิร์ด หรือ โอเอช 6 ที่มีขนาดเล็ก คล่องตัว มีพลประจำเครื่อง 4 นาย นักบินและผู้ช่วยอยู่ตอนหน้า ตอนหลังจะเป็นพลประจำเครื่อง 2 นาย ที่มักจะโผล่ออกมาจากตัวเครื่องทั้งสองด้านโดยมีสายรัดตัวกับเครื่องอย่างหลวมๆ มือถือปืนกลแบบ เอ็ม 249 ที่ห้อยติดกับส่วนบนของประตู ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบที่ฐานสกี สายตาสอดส่ายหาเป้าหมายเบื้องล่างอย่างไม่หวั่นเกรงต่อการโจมตีจากกลุ่มต่อต้านที่อยู่ตามอาคารบ้านเรือน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการลาดตระเวนทางอากาศหรือคุ้มกันขบวนลำเลียงต่างๆ ทางภาคพื้นดิน ตลอดจนคุ้มกันบุคคลสำคัญที่กำลังเดินทางโดยรถยนต์เบื้องล่าง ... พวกเขาบินอย่างบ้าบิ่นและรบอย่างกล้าหาญ แต่ไม่มีใครจดจำเรื่องราวของพวกเขาเลย ... ไม่มีเลย ...”

ในเดือนมกราคม 2007 เฮลิคอปเตอร์ลิตเติ้ลเบิร์ดของแบล็ควอเตอร์ถูกยิงตกเป็นครั้งแรก ขณะปฏิบัติการบินคุ้มกันขบวนของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในอิรัก สมาชิกแบล็ควอเตอร์ทั้ง 5 นายบนเครื่องเสียชีวิต 

ความจริงจึงเปิดเผยออกมาว่า นักบินที่เสียชีวิตเคยเป็นนักบินของกองทัพสหรัฐนานเกือบ 40 ปี ก่อนที่จะออกมาเป็นนักบินรับจ้างให้แบล็ควอเตอร์ กล่าวกันว่า เขาเป็นสุดยอดนักบินในวงการเฮลิคอปเตอร์คนหนึ่งของสหรัฐฯ เลยทีเดียว พลประจำเครื่องคนหนึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะขณะกำลังยิงต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านที่อยู่เบื้องล่าง ส่วนพลประจำเครื่องที่เหลือเสียชีวิตขณะเครื่องตกกระทบลงกับพื้น หนึ่งในนั้นคือ อาร์ท ลากูนา (Art Laguna) ผู้ซึ่งได้ส่งอีเมล์กลับไปที่บ้านที่ยูท่าห์ก่อนเสียชีวิตไม่กี่วันว่า 

“ ... พวกเราทุกคนจะเป็นหน่วยที่มีความรวดเร็วในการตอบโต้ (Quick Reaction Forces) … เร็วกว่ากองทัพ ... เพราะกว่าที่กองทัพจะดำเนินการใดๆ พวกเขาต้องรอการอนุมัติตามสายงานการบังคับบัญชา แต่ในแบล็ควอเตอร์ ใครก็สามารถตัดสินใจตอบโต้ได้ด้วยตัวของเขาเอง มีครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม 2006 ขณะที่เครื่องลิตเติ้ลเบิร์ดของเรา 2 ลำบินลาดตระเวนอยู่เหนือแบกแดดอยู่นั้น ก็เห็นรถฮัมวี่ของกองทัพบกถูกโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องที่ฝังอยู่ข้างถนน พวกเราไม่เคยรอให้ใครสั่งการ หรือขออนุมัติจากใคร ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เฮลิคอปเตอร์ของเราลำหนึ่งร่อนลงสู่พื้นท

14 พ.ย. 55 เวลา 13:51 8,421 110
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...