ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ว่า ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตหมู่ 3 ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้องช่วยกันลงแรง และระดมเงินไปจ้างรถแบ๊คโฮมาตอกเสาเข็ม และปรับสภาพหน้าดินริมตลิ่ง เพื่อต้องการจะชะลอความรุนแรงของภาวะตลิ่งพัง ที่ไหลทรุดตัวลง ตามระดับน้ำเจ้าพระยา ซึ่งลดต่ำลงทุกวัน และเพื่อรักษาบ้านที่เป็นที่พักอาศัย ด้วยไม่สามารถรอเวลา หรืองบประมาณจากภาครัฐได้ ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้น แบบตามมีตามเกิด
นางสวง หาเลิศดี ถึงกับนั่งน้ำตาตก มองดูที่ดินที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้วกว่า 200 ตารางวา พร้อมกับกล่าวว่า ไม่เคยคิดว่าชีวิตในวัย 78 ปี จะกลายเป็นคนไม่มีบ้านอยู่อาศัย เพราะที่ผ่านมามีบ้านทรงไทยริมแม่น้ำ แต่พอตลิ่งพัง ต้องรื้อบ้านหนีและและไม่มีที่ดินที่ปลูกบ้านหลังใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ต้องไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ชั่วคราว และยากที่จะทำใจรับภาพชีวิตแบบไร้ที่พักของตนเองได้
นายชูเกียรติ บุญมี นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล กล่าวว่า ตำบลไทรน้อยตลิ่งพังลึกลงไป 5 เมตร ยาวเกือบ 1 กม. และพังเข้ามากว่า 10-50 เมตรตลอดแนว อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเข้ามาศึกษา กำหนดแนวแก้ไขในภาพรวม เพราะตลิ่งพังยาวตลอดแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอบางบาล เกินกำลังท้องถิ่นและจังหวัด จะจัดงบประมาณมาดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ปัญหาตลิ่งพังนั้นพบว่ามาจากหลายสาเหตุประกอบกัน ทั้งน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำขึ้นน้ำลงเร็ว การเดินเรือบรรทุกสินค้า และยังหานักวิชาการหรือนักธรณีมายืนยันหรือมาศึกษาว่าเพราะอะไรในพื้นที่อำเภอบางบาลจึงเกิดปัญหานี้ขึ้น และจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างไรจึงจะถาวร และหากต้องใช้งบประมาณมากจะทำอย่างไร รัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร เพราะหากให้ท้องถิ่นดำเนินการเองก็คงไม่ถาวร ด้วยไม่มีงบประมาณ สิ่งที่ทำได้คือช่วยชาวบ้านรื้อย้ายและช่วยหาเต็นท์ที่พักให้ ซึ่งเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า ชาวบ้านต้องการให้แก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากกว่านี้ คือทำอย่างไรให้การบริหารจัดการน้ำไม่สงผลกระทบต่อชาวบ้านและสภาพแวดล้อม การเดินเรือทำอย่างไรไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน