อาเซียน+3 เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศนอกอาเซียน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสามประเทศนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในระดับโลก
วัตถุประสงค์ของกรอบความร่วมมือดังกล่าว คือ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก และด้านสังคม วัฒนธรรม
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ภายหลังจากหลายประเทศในเอเชียเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่เรียกว่า "ต้มยำกุ้งดีซิส" เวลานั้นผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาเธร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย มีความรู้สึกถึงความจำเป็นในการรวมกลุ่มประเทศกันอย่างจริงจัง
ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนจึงเข้าพบหารือกับผู้นำของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่มาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาแนวทางรับมือกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออก
อาเซียน+3 ถือเป็นองค์การแรกที่ก่อตั้งขึ้นหลังการรวมกลุ่มอาเซียน และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ภายหลังมีแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก และการจัดตั้งกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก หรือ East Asian Vision Group (EAVG) ในปี 2542 ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจากอาเซียน+3 ซึ่งจะร่วมกันระดมความคิดและแสวงหาวิธีการขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ
ต่อมา EAVG เสนอแนวความคิดในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asian community-EAC) รวมถึงการจัดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) ด้วย ซึ่งการประชุมนี้มีอีก 3 ประเทศเข้าร่วมด้วย คือ อินเดีย ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ปี 2548 มีปฏิญญากัวลาลัมเปอร์กำหนดให้การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกเป็นเป้าหมายระยะยาว และให้กรอบอาเซียน+3 เป็นกลไกหลักในการนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
อาเซียน+3 เพิ่งครบรอบ 10 ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือไปเมื่อปี 2550 ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทมากในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลก เพราะมีประชากรรวมกันกว่า 2,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมกันมีมูลค่าถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณร้อยละ 16 ของจีดีพีโลก ส่วนยอดเงินสำรองต่างประเทศรวมกันสูงถึง 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสำรองต่างประเทศของโลก
ผลประโยชน์จากกรอบความร่วมมือดังกล่าวที่อาเซียนได้รับคิดเป็นมูลค่าประมาณ 62,000 ล้านดอลลาร์ โดยไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนได้รับประโยชน์มากที่สุด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,900 ล้านดอลลาร์
ขณะที่อินโดนีเซียได้ประโยชน์ใกล้เคียงกัน ส่วนเวียดนามได้รับประโยชน์มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์