ความผันผวนของราคายางธรรมชาติที่ปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว และไม่มีเสถียรภาพ ประกอบกับมีปัญหาราคายางตกต่ำเกิดขึ้นแทบทุกปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเร่งหาทางออกเพื่อช่วยยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น ซึ่งการสร้าง “ถนนยางพารา” โดยใช้ยางมะตอยผสมกับยางพาราราดถนน เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นได้ ทั้งยังช่วยพยุงและผลักดันราคายางให้ขยับตัวสูงขึ้นด้วย ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจโดยเฉพาะช่วงราคายางตกต่ำ .....นอกจากจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแล้ว ยังได้ถนนหนทางดีๆ ใช้งานได้ยาวนานขึ้นอีกต่างหาก...
นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สถาบันวิจัยยางมีความพร้อมที่จะสนับสนุนการทำถนนยางพาราตามนโยบายรัฐบาล โดยสถาบันวิจัยยางมีเทคโนโลยีการใช้ยางธรรมชาติผสมยางมะตอยราดถนนที่ได้คิดค้นขึ้นและสามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคสนาม มี 3 เทคโนโลยีได้แก่ เทคโนโลยีการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยในงานสร้างทาง เครื่องต้นแบบผสมยางมะตอยกับยางพาราชนิดน้ำยางข้นแบบเคลื่อนที่ได้และเครื่องต้นแบบผสมยางมะตอยกับยางพาราชนิดยางแห้ง ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้เป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปประยุกต์ใช้ในการใช้ยางธรรมชาติผสมยางมะตอยราดถนนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะนี้สถาบันวิจัยยางได้ประสานความร่วมมือกับกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เร่งกำหนดมาตรฐานถนนยางพารา พร้อมออกแบบถนนยางพารา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างถนนยางมะตอยผสมยางพาราที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ถนนมีความทนทาน ใช้งานได้ยาวนานขึ้น คุ้มค่างบประมาณภาครัฐและยังช่วยประหยัดค่าซ่อมบำรุงถนนได้ค่อนข้างมาก อนาคตหากมีการนำยางพาราผสมกับยางมะตอยราดถนนแพร่หลายมากขึ้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพาราและทำให้ราคายางขยับตัวสูงขึ้นที่ผ่านมา สถาบันวิจัยยางได้ทดลองผสมน้ำยางข้นอัตรา 5 % กับยางมะตอยแบบผสมร้อน แล้วนำไปราดถนน 3 แห่งตั้งแต่ปี 2544 ได้แก่ ถนนหน้าสถาบันวิจัยยาง ถนนหน้ากรมวิชาการเกษตร และราดถนนสาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันทุกถนนยังอยู่ในสภาพดีและไม่มีการซ่อมแซม นอกจากนั้น ยังได้สาธิตการผสมยางพารากับยางมะตอยและราดผิวถนนในพื้นที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 35 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร ซึ่งใช้งานได้ดี
“จากการที่สถาบันวิจัยยางได้ศึกษาวิจัย พบว่า การราดถนนแบบผสมร้อนมาตรฐาน ความหนา 5 เซนติเมตร ถ้าใช้ยางพารา อัตรา 5 % ของยางมะตอย จะใช้ปริมาณเนื้อยางแห้ง(ยางพารา) 0.305 กิโลกรัม/ตารางเมตร หรือประมาณ 2,745 กิโลกรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ถึงแม้ต้นทุนรวมจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 10-17 % แต่ความทนทานของถนนที่มีอายุการใช้งานนานขึ้นถือว่าคุ้มค่าการลงทุน” นางณพรัตน์กล่าวหากสนใจหรือต้องการทำ “ถนนยางพาราผสมยางมะตอย” สามารถติดต่อได้ที่ ส่วนอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-5712, 0-2940-6595