พบ 2 โบราณสถานสมัยอยุธยาถูกทิ้งร้างกลางกรุง

 

วันนี้ ( 6 พ.ย.) นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ทางกรมศิลปากร ได้ร่วมกับสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพฯ สำรวจแหล่งโบราณสถานร้างกลางเมืองที่พุพัง ได้พบว่าในเขตบางพลัดมีแหล่งโบราณสถานถูกทิ้งร้าง 1 แห่ง ได้แก่ อุโบสถเก่าที่วัดสวนสวรรค์ ใกล้สะพานพระราม 8 สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สภาพถูกปล่อยทิ้งร้าง หลังคาและเจดีย์ทรุดโทรมมากและมีชุมชนแออัดรุกเข้ามาอยู่อาศัย

"ดังนั้น ทั้ง 2 หน่วยงานจึงได้มีการหารือว่าจะต้องมีการบูรณะวัดสวนสวรรค์เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยทางสำนักงานเขตบางพลัดได้สนับสนุนงบประมาณบูรณะ 5 ล้านบาท ส่วนการออกแบบและควบคุมการบูรณะเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร เพื่อสร้างความโดดเด่นของวัด และอุโบสถกลับฟื้นคืนมามีชีวิตเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ที่มีโดดเด่นกลางเมืองหลวงอีกครั้ง" ผอ.สำนักโบราณคดี กล่าว

ผอ.สำนักโบราณคดี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ทางสำนักโบราณคดียังได้สำรวจพบโบราณสถานถูกทิ้งร้างอีกแห่งหนึ่ง คือ อุโบสถวัดภุมรินราชปักษี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลองบางกอกน้อย เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า สันนิษฐานว่าเป็นวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากส่วนกลางเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่แอ่นโค้งทรงสำเภา เป็นลักษณะวัดสมัยอยุธยา ต่อมาต้องยุบรวมกับวัดน้อยทองอยู่และวัดดุสิดาราม  ทำให้อุโบสถวัดภุมรินราชปักษีถูกทิ้งร้างมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครใช้งานมานาน บริเวณวัดกลายเป็นที่จอดรถของชุมชน

นายธราพงศ์ กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาถูกน้ำท่วมจึงมีสภาพทรุดโทรมมาก  ทางกรมศิลปากรได้ตั้งงบบูรณะโบราณสถานถูกน้ำท่วม เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน และอาจจะเป็นสถานที่ประกอบกิจของสงฆ์ในอนาคต โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดดุสิดารามเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบประมาณจากกรมศิลปากรเพื่อนำมาบูรณะวัดต่อไป

“ผมได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพอุโบสถวัดสวนสวรรค์ พบว่า สภาพทั่วไปใช้งานไม่ได้ ทั้งหลังคา ตัวอุโบสถ องค์เจดีย์  ต้องซ่อมใหม่หมดเลย การบูรณะครั้งนี้จะถือเป็นการแยกเอาชุมชนที่รุกล้ำเขตวัด ออกจากพื้นที่ด้วย จะได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ ของคนในพื้นที่นี้อีกแห่งหนึ่ง ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือร่วมใจระหว่างราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กทม. และกรมศิลปากร เชิดชูแหล่งโบราณสถานในท้องถิ่นไม่ให้ทรุดโทรม”นายธราพงศ์ กล่าว

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...