นักท่องเที่ยวงง! ป้ายบอกทางและสถานที่ภาษาอังกฤษ
ชื่อเดียวแต่ใช้หลายแบบ
หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอสกู๊ปน่าสนใจ เกี่ยวกับปัญหาป้ายบอกทางภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯที่สร้างความสับสนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะชื่อเดียวกันแต่กลับใช้หลายแบบ
โดยรายงานถึงปัญหากรณีที่หลายป้ายที่เป็นถนนสำคัญ ใช้คำภาษาอังกฤษจนสร้างความสับสนในการสื่อสาร อาทิ ชื่อสถานที่เดียว แต่ใช้ป้ายภาษาอังกฤษหลายแบบ เช่น ถนนพระราม 9 ใช้ว่า RAMA IX Road และ PHRA RAM 9 Roadหรือการออกเสียงที่ไม่ตรงกับภาษาไทย เช่น กาญจนบุรี เขียนว่า KANCHANABURI แต่นักท่องเที่ยวบางคนอ่านออกเสียงว่า แคน-ชาน-นับ-บิว-ไร หรือ ภูเก็ต เขียนว่า PHUKET แต่กลับออกเสียง ฟัก-อิด ซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำหยาบในภาษาอังกฤษ เช่น ถนนวิทยุ ใช้ว่า Wireless Road ถนนเจริญกรุง ใช้ว่า New Road
นายเจค แมคโดนัลด์ อายุ 18 ปี ชาวออสเตรเลียที่เข้ามาทำอาชีพนายแบบ กล่าวว่า ตนเกิดปัญหาบ่อยครั้งตอนที่มาประเทศไทยใหม่ๆ เช่น คนขับแท็กซี่ฟังไม่เข้าใจว่าตนจะไปสถานที่ใด ทำให้ต้องเปลี่ยนแท็กซี่คันใหม่ไปเรื่อยๆ จึงเสียเวลาและหลงทางบ่อยครั้ง
นายคมสัน สุวรรณรัตน์ ประธานชมรมภาษาอังกฤษ สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คำภาษาอังกฤษบนป้ายบอกทางเป็นการถ่ายเสียงเป็นอักษรโรมัน ซึ่งไม่อิงกับการออกเสียงในภาษาอังกฤษ แต่ก็เป็นเกณฑ์สากลที่หลายประเทศใช้ร่วมกัน เพราะทำให้เขียนได้อย่างถูกต้องตามรากภาษา แต่มีปัญหาคือ ทำให้การอ่านออกเสียงผิดเพี้ยนไป เกิดความเข้าใจผิดในด้านการสื่อสารอยู่บ่อยครั้ง เช่น /พ-/ ในอักษรโรมันออกเสียง /พ-/ แต่ในภาษาอังกฤษออกเสียง /ฟ-/ เป็นต้น
นายคมสัน กล่าวต่อว่า กรณีถนนพระราม 9 แบบที่ถูกต้องตามหลักสากล จะเขียนว่า RAMA IX Road แต่คนไทยจะไม่รู้และเกิดความสับสน ทำให้มีการใช้แบบถ่ายเสียงเป็นภาษาอังกฤษตามมาคือ PHRA RAM 9 Road ซึ่งแนวทางแก้ไขอาจทำได้โดยเขียนวงเล็บคำอ่านที่ถูกต้องในภาษาอังกฤษลงบนป้ายบอกทาง เพื่อให้นักท่องเที่ยวออกเสียงได้ใกล้เคียงกับชื่อสถานที่ที่สุด และควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้เพื่อให้การใช้เป็นไปในทางเดียวกัน
นายบุญส่ง คุ้มสุข หัวหน้างานแผนการลงทุนองค์กร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความบกพร่องทางภาษามากกว่า ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์ มีคำสั้นคำยาว ซึ่งในภาษาอังกฤษไม่มี จึงไม่สามารถถอดคำในภาษาไทยได้ตรงตามคำอ่านในภาษาอังกฤษ เช่น คำว่า ใกล้ กับ ไกล หากเขียนคำอ่านในภาษาอังกฤษจะเขียนได้เหมือนกัน ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด
ป้ายที่อาจทำสับสน เช่น สี่-เสา-เดอะ-เวท หรือ แยก เดอะ-เวท
นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า ส่วนป้ายภาษาอังกฤษกรณีถนนวิทยุหรือถนนเจริญกรุง เป็นชื่อโบราณที่ใช้กันมานาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทางราชบัณฑิตยสถานจึงคงไว้ดังเดิม แต่ก็มีป้ายบางส่วนที่เขียนทับศัพท์เป็น Witthayu Road และ Charoen Krung Road แล้ว แต่ยังถือเป็นส่วนน้อย ส่วนที่มีการเสนอว่าให้วงเล็บคำอ่านเพิ่มเติมในป้าย ตนคิดว่าทำได้ยาก เพราะมีการกำหนดขนาดของป้ายและจำนวนตัวอักษรไว้ชัดเจน เนื่องจากมีผลต่อการมองเห็นของผู้ขับขี่ อย่างไรก็ดี ตนยังคิดว่า นักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยน่าจะศึกษาข้อมูลเบื้องต้นมากพอสมควร จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหามากมายนัก
รวมข้อสังเกตป้ายบอกทาง
กลายเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับป้ายบอกทางและสถานที่ในเมืองไทยตามถนนหนทางซึ่งเลือกใช้คำภาษาอังกฤษที่อาจสร้างความสับสนในการสื่อสารระหว่างชาวต่างชาติกับคนไทย
เมื่อลองจำแนกปัญหาพบว่าแบ่งได้เป็น4 เรื่อง ดังนี้
1.อ่านออกเสียงผิด เช่น เกาะพะงัน Pangan ชาวต่างชาติมักอ่านออกเสียงเป็น พัน-กัน หรือ จังหวัดแพร่ PHRAE มักออกเสียงเป็น ฟรี หรืออำเภอบางไทรและอำเภอบางซ้าย ในจังหวัดอยุธยาใช้ว่า Bangsai เหมือนกัน
2.ใช้ทั้งคำแปลและเขียนทับศัพท์ เช่น คำว่าคลอง ที่ถูกต้องคือ Canal แต่มีการใช้ทับศัพท์เป็น Khlong หรือยังมีคำทับศัพท์อื่น เช่น Soi (ซอย) Khet (เขต) Khao (เกาะ) Saphan (สะพาน) เป็นต้น
3.ใช้คำผิดความหมาย เช่น คำว่า Junction ที่ใช้บริเวณสี่แยก จริงๆแล้วจะใช้บริเวณแยกที่มีความวุ่นวายคดดค้ง เช่น ห้าแยกลาดพร้าว แยกสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น แต่หากเป็นสี่แยกปกติ ควรใช้คำว่า Intersection หรือ Crossroad
4.อ่านผิด เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพระราม 9 (Phra Ram 9) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ในขบวนรถไฟอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษว่า พระ-ราม-นาย ซึ่งผิดหลักการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษ เพราะในที่นี้ เลข 9 ถือเป็นลำดับ ไม่ใช่จำนวน ควรอ่านเป็น เดอะ-ไน้ท์ ไม่ใช่ นาย
นี่เป็นเพียงปัญหาบางส่วนที่สำรวจพบ และยังคงมีป้ายที่มีปัญหาแบบดังกล่าวอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข