นักวิจัยญี่ปุ่น ไขความลับ "นครวัด" ลำเลียง"หินทราย"ก้อนโตๆ ผ่านคลองขุด ?

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยที่เชื่อว่าเป็นการไขปริศนาลึกลับของ นครวัด โบราณสถานสำคัญของกัมพูชาที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ได้แล้วว่า ก้อนหินทรายที่ถูกตัดเป็นก้อนๆ ขนาดใหญ่น้อยจำนวนมากสำหรับนำมาใช้สร้างปราสาทนครวัดนั้น ถูกลำเลียงมาได้อย่างไร

ทีมวิจัยที่นำทีมโดย เอทซึโอะ อูชิดะ นักวิชาการด้านธรณีวิทยาแหล่งแร่ของมหาวิทยาลัยวาเซดะ ที่สนใจศึกษาด้านธรณีวิทยาและเคมีในหินเพื่อการก่อสร้างโบราณสถานที่เป็นมรดกโลกต่างๆ เพื่อวิเคราะห์การเสื่อมโทรม สามารถไขความลับที่เป็นที่กังขากันมานานว่า ผู้ก่อสร้างปราสาทหินนครวัดที่ประกอบด้วยหินทรายระหว่าง 5-10 ล้านก้อน บางก้อนมีขนาดใหญ่โตและหนักถึง 1,500 กิโลกรัมนั้น ลำเลียงหินขนาดต่างๆ จำนวนมากเหล่านั้นมาได้อย่างไร จากพื้นที่บริเวณเชิงเขาพนมกุเลนทร์ ที่มีร่องรอยการทำเหมืองหินทรายและอยู่ไม่ห่างไกลจากตัวปราสาทมากมายนัก นักโบราณคดีก่อนหน้านี้เชื่อว่าพนมกุเลนทร์นี่เองเป็นแหล่งหินทรายที่ใช้ในการก่อสร้าง 



ศาสตราจารย์อูชิดะ ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานร่วมเพื่อการเผยแพร่ดังกล่าว ระบุว่า ทีมศึกษาวิจัยค้นพบเหมืองหินทรายหลายแห่งที่นำมาใช้ในการก่อสร้างนครวัด เช่นเดียวกับเส้นทางลำเลียงหินทรายเหล่านั้น ซึ่งเป็นอีกเส้นทางที่แตกต่างไปจากที่เข้าใจกันแต่เดิม เดิมนั้นคิดกันว่า หินทรายดังกล่าวถูกลำเลียงลงเรือไปยัง โตนเลสาบ หรือทะเลสาบ ผ่านทางคลองแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นจึงลำเลียงทวนกระแสน้ำขึ้นไปยังจุดก่อสร้างปราสาทนครวัดในจังหวัดเสียมราฐ

เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยวาเซดะ สำรวจพื้นที่โดยรอบและพบร่องรอยการทำเหมืองหินทรายอยู่ประมาณ 50 เหมือง บริเวณตลิ่งริมน้ำบริเวณเชิงเขาพนมกุเลนทร์ นอกจากนั้นยังตรวจสอบภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และพบร่องรอยของโครงข่ายของลำคลองหลายร้อยสาย กับถนนอีกเป็นจำนวนมาก เชื่อมโยงระหว่างจุดที่เป็นเหมืองกับจุดที่ก่อสร้างปราสาทนครวัด ระยะห่างระหว่างจุดที่เป็นเหมืองต่างๆ ตามแนวเส้นทางที่อูชิดะค้นพบ กับจุดที่เป็นปราสาทในเวลานี้นั้นเป็นระยะทางเพียง 37 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าเส้นทางเดิมที่เชื่อกันก่อนหน้านี้ ซึ่งมีระยะห่างอย่างน้อย 90 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางทวนน้ำอีกด้วย

โครงข่ายของคลองต่างๆ ที่ค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ก่อสร้างปราสาทนครวัดในยุคโบราณใช้คลองซึ่งอาจขุดขึ้นเพื่อเป็นทางลัดในการลำเลียงวัสดุก่อสร้างขึ้นไปยังจุดก่อสร้างปราสาท ซึ่งอาจอธิบายได้ไม่เพียงแค่ว่า พวกเขาสามารถลำเลียงหินก้อนใหญ่ๆ มีน้ำหนักมากได้อย่างไร แต่ยังสามารถอธิบายได้ด้วยว่า ทำไมการก่อสร้างปราสาทหินที่ซับซ้อนและใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้ จึงสามารถสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี

ปราสาทหินนครวัด เป็นหนึ่งในมรดกโลก และเป็นโบราณสถานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของกัมพูชา ปราสาทหินนครวัดก่อสร้างขึ้นตามพระบัญชาของ พระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 2 กษัตริย์เขมร เริ่มก่อสร้างในศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานประจำอังกอร์ ที่เป็นเมืองหลวงในเวลานั้น เดิมทีเชื่อกันว่าเป็นการก่อสร้างเพื่อบูชาพระวิษณุเทพตามความเชื่อของลัทธิฮินดู แต่กษัตริย์กัมพูชาในยุคศตวรรษที่ 14 เปลี่ยนแปลงปราสาทหินนครวัดแห่งนี้ให้เป็นวัดตามพุทธศาสนาที่แพร่หลายเป็นที่เชื่อถือศรัทธากันในเวลานั้น

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...