คดีสะเทือนโลก "ดร.สุภาพ" อ.มหา"ลัยดังละเมิดลิขสิทธิ์ ชี้ชะตาธุรกิจหนังสือ-เพลง-ภาพยนตร์ อยู่หรือพัง?

 

คดีที่ศาลสูงสหรัฐเตรียมตัดสินชี้ชะตา "ดร.สุภาพ เกิดแสง" อาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง วัย 32 ปีที่ถูกสำนักพิมพ์ จอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซัน ของสหรัฐอเมริกาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์

ด้วยการซื้อหนังสือตำรา 8 ปกของสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์จำหน่ายในต่างประเทศ แล้วนำไปขายต่อผ่านเว็บประมูลออนไลน์อีเบย์ (e-Bay) ย้อนกลับไปขายให้กับผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกา ทำให้สำนักพิมพ์ได้รับความเสียหาย และมีการเรียกค่าเสียหายประมาณ 18 ล้านบาทในช่วงปลายสัปดาห์นี้

ถือเป็นข่าวที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการลิขสิทธิ์ธุรกิจหนังสือ ธุรกิจเพลง ธุรกิจภาพยนตร์ และธุรกิจขายของมือสองไปทั่วโลก เพราะจะถือเป็นบรรทัดฐานในการขายของที่มีลิขสิทธิ์

ไม่ว่าศาลจะตัดสินให้ฝ่ายใดชนะ ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยเฉพาะหากศาลตัดสินให้ ดร.สุภาพ ชนะ จะส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ 



ย้อนรอยของคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ครั้งที่ ดร.สุภาพ เดินทางไปเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านคณิตศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา ดร.สุภาพ ได้ซื้อหนังสือตำราที่พิมพ์โดยบริษัทลูกของสำนักพิมพ์ จอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ในราคาที่ถูกกว่าหนังสือเล่มเดียวกันที่พิมพ์ในสหรัฐอเมริกาถึง 50% แล้วนำไปขายผ่านอีเบย์ให้กับคนอเมริกัน

ดร.สุภาพ เคยให้สัมภาษณ์กับ "มติชนออนไลน์" ว่า "ซื้อหนังสือมาจากผู้จัดจำหน่ายในสิงคโปร์ ไม่ได้เอากำไรมากมาย เช่น หนังสือที่พิมพ์ใหม่ในอเมริกาขายเล่มละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หนังสืออย่างเดียวกันที่พิมพ์ในสิงคโปร์ที่นำไปขายผ่านอีเบย์ราคาประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐ"

แต่ข้อมูลจากคำให้การในศาลสหรัฐของฝ่ายโจทก์และจำเลยสะท้อนออกมาว่า หนังสือ 8 ปกที่ว่า มีการซื้อขายเป็นเงินสูงถึง 27 ล้านบาทไทย 



ดร.สุภาพ ได้พยายามสู้คดีตั้งแต่ในศาลชั้นต้น โดยใช้ข้อกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา 2 ข้อหลัก

1.เจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิ์ขาดในการจัดจำหน่ายจ่ายแจกไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม อาจจะเป็นเช่าหรือขายหรืออะไรก็ตาม นี่คือ เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ขาด หมายความว่า ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ขายของชิ้นนั้นไปแล้ว คนที่ซื้อมาจะไปขายต่ออย่างไรก็ได้ แต่ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้ใช้กฎหมายข้อนี้

2.ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ขายของชิ้นนั้นๆ ไปแล้ว คนที่ซื้อไปแล้วจะนำไปขายต่ออย่างไรก็ได้ กฎหมายตัวนี้ เรียกว่า "First sale doctrine" คือ กฎของการขายครั้งแรก ถ้ามีการขายครั้งแรกแล้ว หลักการคือ เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับเงินจากตรงนั้นแล้ว ดังนั้น จะมาเอาสิทธิ์จากการขายครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ไม่ได้ ข้อกฎหมายที่ระบุชัด ต้องรอศาลสูงว่าจะชี้ขาดอย่างไร

ดร.สุภาพ พยายามย้ำถึงการตีความของกฎหมายว่า สิ่งที่ผลิตโดยผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะผลิตที่ประ เทศไหนก็ตาม ถ้าผลิตโดยผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา สิ่งนั้นควรจะถือเป็นสิ่งที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย

และบริษัทที่พิมพ์หนังสือในสิงคโปร์เป็นบริษัทลูกของสำนักพิมพ์จอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซัน ของสหรัฐอเมริกา



นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อาจารย์พิเศษวิชากฎหมายเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ให้ความเห็นว่า ตามหลักกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ คนซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ของสหรัฐ จะนำไปใช้ส่วนตัวได้เท่านั้น แต่การนำไปขายต่อเพื่อแสวงกำไรผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ชัดเจน ไม่ได้เข้าข้อยกเว้นของกฎหมายสหรัฐตามกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยไม่มี

มีนักศึกษาเอเชียทำวิธีการลักษณะนี้กันมากนำหนังสือที่ตีพิมพ์ในเอเชียแล้วไปขายต่อที่อเมริการาคาต่างกันมาก ส่งผลให้ยอดจำหน่ายหนังสือที่พิมพ์ในอเมริกาตก เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์จะสูงกว่า

หลัก First sale doctrine สามารถขายได้ทอดหนึ่ง ไม่สนใจว่า จะซื้อจากที่ไหนมา แต่ศาลบอกไม่ใช่เพราะหนังสือซื้อมาจากสิงคโปร์แล้วนำมาขายในอเมริกา ส่วนกรณีที่สำนักพิมพ์ในสิงคโปร์ เป็นบริษัทลูกได้รับลิขสิทธิ์ให้พิมพ์จำหน่ายถูกต้อง แต่บริษัทแม่จะมีสัญญาว่า ห้ามนำกลับไปขายในอเมริกา ในแง่นี้เป็นการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ถือว่าเลี่ยงกฎหมายโดยเจตนา

หากผลการตัดสินออกมาเข้าข้าง ดร.สุภาพ ด้วยการอนุญาตให้นำสินค้าที่ผลิตขายในต่างประเทศ นำกลับไปขายในอเมริกาได้อย่างถูกกฎหมาย ผู้ผลิตหนังสือ ภาพยนตร์ เทปเพลงเจ๊ง เพราะต้นทุนการผลิตในต่างประเทศต่ำกว่าในสหรัฐมาก ธุรกิจของสหรัจะขาดทุนเป็นหลาย 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้า ดร.สุภาพ ชนะ เว็บไซต์ อีเบย์ ยิ่งโต จะมีการขายของลักษณะนี้ใน อีเบย์ มากขึ้น

หาก ดร.สุภาพ ชนะ จะกระทบวงกว้างในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะสัญญาต่างๆ ที่ทำกันไว้ เพื่อป้องกันเรื่องสิทธิอื่น เพราะถือว่าการที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไปว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศผลิตเป็นเรื่องถูกกฎหมาย สามารถขายได้ทั่วโลกโดยเจ้าของลิขสิทธิ์ยินยอม จะส่งผลให้สินค้าลิขสิทธิ์เกิดปัญหาทั่วโลก คงจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อไม่ให้รายได้จากการผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ลดลง

การส่งออกสินค้าลิขสิทธิ์จากอเมริกาคงแทบจะไม่มี หรือการตั้งตัวแทนสาขาหรือบริษัทลูก เพื่อผลิตจะน้อยลง หรือแทบจะไม่มี เพราะหากตั้งบริษัทลูกหรือสาขาให้ผลิตขึ้นอย่างถูกกฎหมาย สินค้านั้นสามารถกลับมาตีตลาดอเมริกา 



แต่หาก ดร.สุภาพ แพ้ การทำธุรกิจของ อีเบย์ จะกระทบน้อยกว่า การทำธุรกิจต้องเพิ่มมาตรการให้ระบุรายละเอียดของสินค้าที่นำมาจากต่างประเทศมากขึ้นกว่าเดิม จะต้องไปขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์สินค้าแต่ละชนิดถึงจะนำไปจำหน่ายได้อีกทอดหนึ่ง ขณะที่พวกพิพิธภัณฑ์ พวกห้องสมุดที่มีการซื้อหนังสือจากต่างประเทศมายุ่งยาก เพราะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์

โดยหลักของศาลอเมริกาเท่าที่เคยศึกษามามักจะยึดเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ถ้ากรณีไปผลิตในต่างประเทศแล้วนำกลับมาขายในอเมริกาได้ในราคาที่ต่ำกว่า ธุรกิจในอเมริกาจะถูกกระทบมากมายเสียหายกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ในปลายสัปดาห์นี้ศาลสูงสหรัฐจะเพียงนัดรับฟังข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นคำให้การโดยวาจา ของทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย แต่การนัดหมายครั้งนี้มีผลเป็นนัยสำคัญว่า หลังจากยื่นข้อโต้แย้งโดยวาจาเข้าไปแล้ว ศาลจะตอบรับหรือไม่รับ

ถ้าหากศาลไม่รับ สามารถชี้ชะตา ดร.สุภาพ ได้ว่า อาจจะแพ้คดี แต่ถ้าศาลรับพิจารณารับฟังข้อโต้แย้ง ต้องตามไปดูว่า โดยเหตุผลเพราะอะไร ถ้าศาลเห็นด้วยกับเหตุผลที่ฝ่าย ดร.สุภาพ ชี้แจงมาก็มีสิทธิ์ลุ้นคำตัดสินของศาลในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะจบเร็วสุดภายในสิ้นปีนี้ หรืออย่างช้าสุดต้นปีหน้า เนื่องจากคดีดังกล่าวยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปีแล้ว

ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลจะเป็นผลบวกหรือลบกับคดี ดร.สุภาพ น่าติดตามอย่างยิ่งว่า ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ จะเป็นอย่างไรในอนาคต


กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...