ผลตรวจคุณภาพกะปิ พบใส่สีเกินร้อยละ 50 โดยเฉพาะ"สีโรดามีน บี" ซึ่งกินเข้าไปมาก เสี่ยงจะเกิดอาการแพ้จนหน้าบวม และอ่อนแรงคล้ายอัมพาต อาจรุนแรงถึงขั้นมีผลให้ตับเสียได้อีกด้วย
มีข่าวเกี่ยวกับสุขภาพ มาเตือนคนไทยให้ระวังการซื้อกะปิ มาประกอบอาหาร เพราะจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่พบว่า ผลตรวจคุณภาพกะปิที่มาจากภาคใต้ พบใส่สีเกินร้อยละ 50 โดยเฉพาะ"สีโรดามีน บี" ซึ่งกินเข้าไปมาก เสี่ยงจะเกิดอาการแพ้จนหน้าบวม และอ่อนแรงคล้ายอัมพาต อาจรุนแรงถึงขั้นมีผลให้ตับเสียได้อีกด้วย
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากนายแพทย์ นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งระบุว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กะปิของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ในปี 2552-2554 โดยเก็บตัวอย่างกะปิจากจังหวัดกระบี่ ตรัง ระนอง รวม 88 ตัวอย่าง พบว่า มีการใช้สี 52 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 59.1 ซึ่งสีที่พบนี้เป็นสีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร 49 ตัวอย่าง ซึ่งผิดพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า กะปิเป็นอาหารที่ไม่มีการอนุญาตให้ใช้สี เนื่องจากเมื่อสีเหล่านี้สะสมอยู่ในร่างกายแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
นายแพทย์ นิพนธ์ ยังระบุด้วยว่า ในปี 2555 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน : กะปิ เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง และพัฒนาคุณภาพกะปิให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพ โดยเก็บตัวอย่างกะปิในเขตเทศบาลเมือง 6 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล จำนวน 86 ตัวอย่าง ผลการตรวจคุณภาพด้านเคมี พบว่าผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 47.7 ไม่ผ่านร้อยละ 52.3 โดยมีสาเหตุคือ พบสีโรดามีน ร้อยละ 50 , สีซันเซ็ต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ ร้อยละ 9.3 , สีเอโซรูบีน ร้อยละ 9.3 และสีปองโซ 4 อาร์ ร้อยละ 1.1 ส่วนผลการทดสอบกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง
โดยเมื่อนำข้อมูลผลการทดสอบหาปริมาณกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก สีซันเซ็ต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ สีเอโซรูบีน และสีปองโซ 4 อาร์ และการสำรวจการบริโภคอาหารประเภทแกง น้ำพริก และอาหารประเภทผัดหรือยำที่มีกะปิผสม มาประเมินความเสี่ยงของการได้รับสัมผัสที่จะเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพ ที่เรียกว่า Margin of safety หรือ MOS พบมีค่าน้อยกว่า 1 ซึ่งไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ยังพบสีโรดามีน บี ร้อยละ 50 จึงยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียหายต่อสุขภาพของผู้บริโภค
สำหรับสีโรดามีน บี อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน ท้องเดิน อาการชา เพลีย และอ่อนแรง คล้ายเป็นอัมพาต การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ไต และตับเสีย สีบางชนิดอาจทำให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากสารอื่นที่ติดมาเนื่องจากการสังเคราะห์ หรือจากกระบวนการผลิตที่แยกเอาสารเจือปนออกไม่หมด เช่น แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว สารหนู โครเมียม พลวง และเซเรเนียม ซึ่งพิษของโลหะหนักเหล่านี้อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
กะปิ นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตจากการหมักเคยหรือกุ้งกับเกลือในอัตราส่วนที่เหมาะสม ใช้เวลาหมักไม่น้อยกว่าสองเดือน โดยมักนิยมใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารหลายๆ ชนิด เช่น น้ำพริก เครื่องแกงชนิดต่างๆ เพื่อช่วยปรุงแต่งรสชาติอาหารให้กลมกล่อม
เครดิต....สปริงนิวส์